svasdssvasds

ยุคแพลตฟอร์มเฟื่องฟูเม็ดเงินสื่อดิจิทัลโตกระฉูด กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์

หลายธุรกิจถูกดิสรัปชัน ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เมื่อพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ดูหนังฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง หรือโรงภาพยนตร์จะหายไป

Platform มาจากภาษาอังกฤษที่แปลตรงตัวว่าชานชาลา , สถานี   แพลตฟอร์มก็เปรียบเหมือนชานชาลาสถานีในโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ลองนึกถึงที่สถานีรถไฟฟ้ามีผู้คนมารวมกันอยู่มากมาย เท่ากับว่ามีโอกาสที่พ่อค้าแม่ค้า จะเสนอขาย เกิดการค้าขาย หรือช่องทางกระจายเนื้อหาข้อมูลได้มากขึ้น และด้วยการเข้าถึงโลกออนไลน์ของคนไทยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นที่มาของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในประเทศไทย 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นแพลตฟอร์มหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย , การค้าขายออนไลน์ หรือ E-Commerce , บริการรถรับส่ง , บริการส่งของ , การทำงาน-เรียนออนไลน์ รวมไปถึงสื่อบันเทิงต่างๆ ที่มียอดผู้ใช้บริการสูงขึ้น บวกกับสถานการณ์ โควิด-19 ยิ่งเป็นแรงผลักและตัวเร่งของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

 

แพลตฟอร์มวีดีโอสตรีมมิ่ง

ในส่วนของสื่อ และความบันเทิงต่างๆ แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์หรือสตรีมมิ่งถือเป็นโอกาสที่จะสามารถเติบโตอีกมหาศาลได้เช่นกัน เพราะมีจุดเด่นคือ ทุกคนสามารถดูภาพยนตร์ ซีรีส์ คอนเทนต์ในเวลาที่ต้องการจะรับชมได้ ดูได้ผ่านทุกอุปกรณ์ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์หรือสตรีมมิงมีโอกาสเติบโตอีกมากจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงมาบริโภคสื่อในลักษณะออนไลน์ ปี 2563 พบว่ากิจกรรมที่คนไทยทำบนโลกออนไลน์ เช่น การดูโทรทัศน์ , ดูหนัง , ฟังเพลง สูงขึ้นกว่าปีก่อน ๆ และยังเป็นกิจกรรมยอดฮิตอันดับที่ 2 ที่คนไทยทำบนโลกออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ถ้าเทียบในภูมิภาค ไทยเป็นประเทศมีคอนเทนต์ที่แข็งแกร่ง มีภาพยนตร์ดีๆ สามารถเป็นฮับผลิตคอนเทนต์ได้เลยทีเดียว และจะดีแค่ไหนนะ ถ้าไทยเรามีแพลตฟอร์มวีดีโอสตรีมมิ่ง ระดับประเทศเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสื่อ และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเราเอง 

เหตุผลที่ควรสนใจในแพลตฟอร์มวีดีโอสตรีมมิ่ง

สื่อ คอนเทนต์ ภาพยนต์ นอกจากจะสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้ ยังเป็นหนึ่งใน Soft Power ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ คือสามารถเข้าไปมีส่วนในความคิด ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม หรือแม้แต่เกิดการปรับพฤติกรรมของผู้อื่น โดยไม่ได้ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ ตัวอย่าง Soft Power ของประเทศเกาหลีใต้ ที่เราเห็นและสัมผัสได้เลยคือ วัฒนธรรมและความเป็นเกาหลีเข้ามามีบทบาทในบ้านเรามาก ทั้งเรื่องอาหาร มาตรฐานความงาม และยิ่งกระแส LALISA  เห็นความเป็น Soft Power อย่างชัดเจน ระยะสั้นคือช่วยกระตุ้นยอดขายกำลังซื้อ เสื้อผ้า ชฎา งานศิลปะ สินค้าวัฒนธรรมไทย ยิ่งผ่าน E-Commerce และถ้าเป็นระยะยาวแน่นอนว่านานาประเทศต้องสนใจในความเป็นไทย อาจทำให้เกิดการท่องเที่ยว อยากเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยมากขึ้น เกาหลีใต้มีนโยบายระดับประเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรม มีการจัดสรรงบประมาณพัฒนาบุคลากรในวงการภาพยนตร์ ดนตรี การแสดงต่างๆ ผ่านการร่วมมือจากหลายองค์กรเพื่อวางแผนบริหารจัดการ รวมทั้งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเกาหลีก็มีนโยบายระดับประเทศ ว่ากันว่า ถ้าเค้าอยากเห็นบุคลากรในประเทศเป็นอย่างไร มีแนวคิดแบบทัศนคติไหน เค้าก็จะถ่ายทอดสอดแทรกแนวคิดออกมากับภาพยนตร์เพื่อสื่อสาร

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย จะไปถึงจุดนั้นได้ไหม หากต้องเริ่มแล้วควรเริ่มอย่างไร เพื่อไปให้ถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ Thai Soft Power เป็น Creative Economy ได้อย่างเต็มรูปแบบผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งที่เป็นอีกช่องทางในยุคดิจิทัล และด้วยอุตสาหกรรมภาพยนตร์ถูก Disrupt คนเข้าโรงภาพยนตร์น้อยลงด้วยตัวเร่งทั้งโควิด และการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ บริการวิดีโอสตรีมมิ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เราควรมีแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งสัญชาติไทยหรือยัง

ยุคแพลตฟอร์มเฟื่องฟูเม็ดเงินสื่อดิจิทัลโตกระฉูด กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กอล์ฟ ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้กำกับภาพยนตร์ที่สร้างชื่อมาแล้วหลายเรื่อง อย่างบอดี้..ศพ19 , 4 แพร่ง , 5 แพร่ง และผลงานล่าสุดกับ GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี' ภาพยนตร์ที่เป็นการร่วมงานครั้งสำคัญระหว่าง Netflix และ GDH กล่าวว่า " อุตสาหกรรมภาพยนตร์เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อวิกฤตโควิด-19 ได้เข้ามาดิสรัป แต่จะบอกว่าโควิดเป็นสาเหตุโดยตรงก็อาจจะไม่ถูกทั้งหมด เพราะจริงๆ แล้ววิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มาก่อนหน้านี้สักพักแล้ว โควิด-19 จึงเป็นแค่ตัวเร่ง "

แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจะมาแทนที่โรงหนัง ?

มั่นใจว่าโรงหนังไม่มีทางหายไป เพราะผู้ที่ชื่นชอบการดูหนังในโรงภาพยนตร์ยังคงมี เพราะได้ประสบการณ์เต็มอิ่มทั้งระบบภาพ ระบบเสียง ถือเป็นจุดแข็งของโรงภาพยนตร์ ส่วนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มผู้ชม ส่งเสริมให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ ผู้ผลิตรายการ ผู้ผลิตภาพยนตร์แข็งแกร่งขึ้น เพราะเป็นอีกช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนดู ขณะที่คอนเทนต์ออนไลน์ก็ขึ้นไปอยู่บนทีวีได้ เข้าไปอยู่ในโรงภาพยนตร์ได้เช่นกัน คนจะเลือกดูแพลตฟอร์มไหนก็ขึ้นอยู่กับความสะดวก ตอบโจทย์ผู้บริโภคไปอีกทาง แต่ก็ต้องยอมรับว่าโควิดเป็นตัวเร่งให้สตรีมมิ่งมาแรง ขณะเดียวกันก็เป็นยาแรงสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ชนิดที่ว่า เครือข่ายโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็แทบจะไม่รอด ในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์ แพลตฟอร์มวีดีโอสตรีมมิ่งสร้างปรากฏการณ์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ฐานะช่องทางการกระจายภาพยนตร์ที่เพิ่มขึ้น และส่งตรงถึงผู้ชมเพียงไม่กี่คลิก ถึงแม้สตรีมมิ่งจะกลายเป็นผู้เล่นหลักในวงการภาพยนตร์มากขึ้น แต่โรงภาพยนตร์ก็ยังมีจุดแข็งที่สตรีมมิ่งสู้ไม่ได้อยู่

แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเองก็มีหลายค่ายจากหลายประเทศที่ลงแข่งขันกันพัฒนาเพื่อดึงดูดลูกค้า เพราะสร้างเม็ดเงินได้มหาศาล ที่สำคัญสามารถเก็บข้อมูลที่เรียกว่า Big data พฤติกรรมการรับชมที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน เวลา อุปกรณ์ที่ใช้งาน เพื่อนำไปพัฒนาต่อ ผู้ผลิตเองก็จะรู้ทิศทางของผู้ชมที่ชัดเจน แบบผลิตไปมีคนดูแน่นอน และการตั้งเป้าหมายและผลต่างๆ ก็จะตามมา

แต่ คุณกอล์ฟ ปวีณ ภูริจิตปัญญา มองว่า ไทยยังไม่พร้อมที่จะมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเอง แต่เรามีจุดขายคือ “คอนเทนต์” ที่แข็งแรง คอนเทนต์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เมื่อถึงเวลาจะไปต่อได้ไม่ยาก  ฟัง ประสบการณ์การร่วมงานครั้งสำคัญระหว่าง gdh และ Netflix มีอะไรที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยต้องเรียนรู้เพื่อต่อยอด

ดูคลิปเต็มที่ลิงค์ด้านล่าง และสามารถติดตามรายการอยากเห็นเมืองไทยดีกว่านี้ ทุกวันอาทิตย์ เวลา 09.30 - 10.00 น. ทางเนชั่นทีวีช่อง 22 และสปริงออนไลน์