รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ตั้งเป้าอีก 3 ปีข้างหน้า เลิกใช้พลาสติกหูหิ้วและกล่องโฟม โชว์นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจไทยด้วย "ขยะ"
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษาได้กำหนดกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศด้วย Road Map การจัดการขยะพลาสติก ปี พ.ศ 2561 - 2573 ซึ่งมีขยะพลาสติก 4 ประเภท ที่ประเทศไทยต้องเลิกใช้ ภายในปี 2565 คือ พลาสติกหูหิ้วและกล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดพลาสติกและแก้วพลาสติก
สำหรับปี 2570 มีเป้าหมายนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติก กลับเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ BCG model ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามีการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ และปลดปล่อยของเสียสู่สภาวะแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยการบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจในสามมิติไปพร้อมกัน ได้แก่ B Bio economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ s-Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G Green economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งเน้นส่งเสริมให้เปลี่ยนของเหลือทิ้งให้กลายเป็นแหล่งรายได้แห่งอนาคตเช่นการเปลี่ยนสินค้าเกษตรและวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการเกษตรให้เป็นสารมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานและวัสดุชีวภาพหรือการเปลี่ยนแปลงขยะมูลฝอยให้เป็นพลังงานที่ยั่งยืนในชุมชน เป็นต้น โดยได้รับงบประมาณ เข้ามาเพื่อดำเนินโครงการทุกโครงการรวมทั้งสิ้น 8,384 ล้านบาท
ในส่วนของ Zero Waste ที่เป็นนโยบายหลัก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจะเปิดโอกาสให้หน่วยงานสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งบุคคล นิสิตนักศึกษาสามารถส่งข้อเสนอโครงการเข้ามาเพื่อขอรับทุนในการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยจะไม่มุ่งเน้นไปที่เชิงวิชาการอย่างที่ผ่านมา แต่จะมุ่งเน้นการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจสร้างความตระหนักให้แก่บุคลากรสถาบันการศึกษาเอกชนและประชาชนดังนั้นเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงมีการประกาศนโยบายสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักการ BCG ด้วยการงดการใช้พลาสติก และส่งเสริมการวิจัยเพื่อนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์100 เปอร์เซ็นต์