svasdssvasds

How To ลดความ วิตกกังวล (Anxiety) ด้วยวิธีธรรมชาติ

How To ลดความ วิตกกังวล (Anxiety) ด้วยวิธีธรรมชาติ

วิตกกังวล เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา โดยเฉพาะเวลาที่สถานการณ์ไม่ปกติ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำเบื้องต้น สามารถคลายความกังวลได้ด้วยวิธีธรรมชาติ

วิตกกังวล

แน่นอนว่าความ วิตกกังวล เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เกิดขึ้นบ้างเป็นบางครั้ง และเมื่อเกิดขึ้น ก็มีวิธีที่ช่วยผ่อนความวิตกกังวล ได้บ้างเหมือนกัน โดยวิธีธรรมชาติ แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าเริ่มบ่อยเกินไป มากเกินไป ใช้วิธีธรรมชาติแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยจัดการกับความวิตก

ออกกำลังกาย

ไม่ต้องถึงขนาดฝึกฝนเหมือนเพื่อแข่งโอลิมปิกหรือวิ่งมาราธอน แค่เดินสัก 10 นาที หรือออกกำลังกายสัก 45 นาที ก็จะทำให้รู้สึกดีขึ้นไปได้สองสามชั่วโมงเลยทีเดียว และถ้าออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสามครั้งต่อสัปดาห์ ก็จะทำให้เกิดความวิตกกังวลน้อยลงด้วย

กลางแจ้ง

แค่ต้นไม้หรือภาพถ่ายธรรมชาติในห้อง ก็ทำให้คลายความวิตกกังวล ความโกรธ และความเครียดได้แล้ว แต่ถ้าได้ออกไปสัมผัสอากาศกลางแจ้งก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ จะทำให้อารมณ์ดีขึ้น ลดความดันโลกหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ความตึงของกล้ามเนื้อ และฮอร์โมนความเครียด ซึ่งทั้งหมดนี้เพิ่มสูงขึ้นเมื่อ วิตกกังวล

ทำสวน

ออกไปให้มือเลอะดินบ้าง การทำสวนทำให้สมองปล่อยสารเคมีที่ทำให้อารมณ์ดีขึ้น และนั่นช่วยคลายความวิตกได้ นอกจากนี้ การทำสวนยังเป็นการใช้เวลากลางแจ้ง ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยที่ดีต่อสุขภาพ ถ้าคุณไม่มีพื้นที่จะทำสวน สวนครัวเล็กๆ ริมระเบียงก็ยังดี

เพศสัมพันธ์

เพศสัมพันธ์มักไม่อยู่ในความคิดเมื่อกำลังมีความวิตก แต่เชื่อหรือไม่ว่ากิจกรรมบนเตียงสามารถลดปฏิกิริยาที่ร่างกายมีต่อความเครียดได้ เพศสัมพันธ์ที่ดี จะทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น และแน่นอน ทำให้ห่างไกลความวิตกกังวล

ทำสมาธิ

การทำสมาธิเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยลดความกังวลลงมาอยู่ในระดับที่จัดการได้ สมาธิทำให้คุณสามารถให้ความสนใจไปที่การหายใจ และทำให้สมองว่างจากความคิด เมื่อความกังวลแอบเข้ามาในใจ สมาธิจะทำให้เราพยายามละทิ้งมันอย่างเร็วที่สุด และเคลียร์สมองได้

โยคะ

โยคะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการทำสมาธิ โยคะทำให้เราจัดร่างกายตามท่า และพยายามหายใจตามจังหวะอย่างสงบ ในขณะเดียวกันก็ยืดกล้ามเนื้อไปด้วย ทุกอย่างนี้ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจได้ ลดความดันโลหิต และทำให้ระดับความวิตกลดลง แต่ถ้ามีโรคประจำตัวอย่างอื่น อาจมีบางท่าที่ต้องงดทำ ปรึกษาแพทย์หรือครูสอนโยคะ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ฝังเข็ม

ฝังเข็มช่วยให้ผ่อนคลาย ตราบใดที่คุณไม่ใช่คนกลัวเข็ม หรือมัวแต่นึกถึงเข็มเสียจนเกิดความกังวลเข้าไปอีก เข็มจะถูกฝังไปที่จุดเฉพาะของร่างกาย และบางครั้งมีการใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นการคลายความเครียดกล้ามเนื้อและประสาทด้วย

สุคนธบำบัด

สุคนธบำบัด หรือการบำบัดด้วยกลิ่นหอม อย่าง ลาเวนเดอร์ คาโมไมล์ สามารถช่วยให้คุณสงบลง กลิ่นหอมที่ใช้ มาจากน้ำมันเข้มข้นที่สามารถสูดเข้าไปหรือเอามานวดบนผิวหนังได้ นักวิทาศาสตร์คาดว่า น้ำมันหอมระเหยเหล่านี้ สื่อสารไปยังส่วนหนึ่งของสมองที่มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึก

นวด

การบีบนวดกล้ามเนื้อโดยใช้ มือ นิ้ว หน้าแขน ข้อศอก หรือแม้แต่เท้า ด้วยนักบำบัดมืออาชีพ  สามารถช่วยลดความความเจ็บปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออื่นๆ ได้ และก็จะช่วยลดความตึงเครียดและความวิตกกังวลด้วย

นอนหลับพักผ่อน

การนอนหลับให้เพียงพอ เป็นการเติมพลังงานให้สมองและเสริมสร้างอารมณ์และทำให้โฟกัสได้ดีขึ้น และจะทำให้เกิดความวิตกกังวลน้อยลงด้วย ร่างกายจะได้รับการพักผ่อนที่ดีเมื่อพยายามเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน พยายามให้อุณหภูมิในห้องนอนเย็นกว่าปกติ มืด และเงียบ และหลีกเลี่ยงการดูโทรทัศน์หรือใช้คอมพิวเตอร์ก่อนนอน นอกจากนี้ การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยให้หลับสบายขึ้นด้วย พยายามออกกำลังกายช่วงเช้าหรือช่วงบ่ายจะดีกับการหลับมากกว่ากลางคืน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เคล็ดลับนอนหลับให้เต็มอิ่ม

ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณพอเหมาะ

ดื่มแอลกอฮอล์ 1-2 แก้ว มักทำให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ถ้าดื่มมากเกินไป จะมีผลต่อสมองและทำให้เกิดความวิตกได้ การดื่มหนักๆ ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัว เพราะจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา แล้วก็ยิ่งเพิ่มความเครียดเข้าไปอีก

จัดลำดับความสำคัญ

จัดลำดับความสำคัญสิ่งที่ต้องทำทันทีและดูว่าอะไรที่ยังรอได้ การจดรายการสิ่งที่ต้องทำสามารถช่วยให้เห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ และทำให้สามารถโฟกัสว่าจะทำอะไรก่อนหลังได้ ถามหาความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา และพยายามละทิ้งสิ่งที่ไม่สำคัญ

ลองเขียนบันทึกประจำวัน

การเขียนบันทึกประจำวันจะสามารถทำให้คุณมองเห็นแบบแผนของชีวิต และช่วยให้มองเห็นว่าอะไรทำให้เกิดความวิตกกังวล อย่าง กิจกรรมครอบครัว งาน โรงเรียน หรือแม้แต่การดื่มกาแฟมากเกินไป หรือบางคนเกิดความรู้สึกนี้เมื่อรู้สึกหิวเท่านั้น เมื่อพบว่ากำลังเกิดความรู้สึกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ลองจดว่าคุณกำลังทำอะไรและคิดอะไรอยู่ เมื่อหาสาเหตุของความวิตกกังวลเจอ ก็จะทำให้จัดการได้ง่ายขึ้น

เรียบเรียงจาก WebMD