svasdssvasds

ตอบทุกคำถาม Community Isolation (CI) คืออะไร ช่วยเหลือใคร ตั้งอยู่ที่ไหน

ตอบทุกคำถาม Community Isolation (CI)  คืออะไร ช่วยเหลือใคร ตั้งอยู่ที่ไหน

ถ้ายังไม่รู้ว่า Community Isolation (CI) คืออะไร ต่างจาก Home Isolation (HI) ตรงไหน ไขข้อข้องใจได้ในบทความนี้ พร้อมชี้เป้าให้ด้วยว่า ใครขอรับบริการได้ และ Community Isolation ตั้งอยู่ที่ไหนใน กทม.และปริมณฑล

ได้ยินคำว่า Home Isolation (HI) กันมาเยอะ แต่ใช่ว่าทุกบ้านจะทำได้ บทความนี้จะพาไปทำความรู้จัก Community Isolation (CI) อีกแนวทางของการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องผนึกกำลังกันหลายฝ่าย

Community Isolation คืออะไร ช่วยเหลือใคร

Community Isolation หรือ CI คือ การกักตัวในชุมชน ตามมาตรการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน ซึ่งใช้ในพื้นที่ที่เตียงเต็ม โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล โดยมีการออกแบบภายใต้แนวคิด "เปลี่ยนชุมชนเป็นโรงพยาบาล" หมายความว่า ผู้ป่วยซึ่งอยู่ในชุมชนจะได้รับการดูแลเสมือนอยู่โรงพยาบาล เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่ และมีแพทย์ดูแล มีอุปกรณ์ ยา อาหารต่างๆ ให้ครบ อย่างไรก็ตาม จะต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากหรือจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวเท่านั้น

community isolation เมืองมีน ภาพขณะ สปสช.และ สสส.ร่วมสำรวจชุมชนต้นแบบ 'นิมิตรใหม่เมืองมีน'

สำรวจต้นแบบ Home/Community Isolation ที่ชุมชนนิมิตรใหม่เมืองมีน

ชุมชนนิมิตรใหม่เมืองมีน ตั้งอยู่ในเขตคลองสามวา กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบ 23 แห่งที่ รพ.ปิยะเวทให้การดูแลและมอนิเตอร์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 โดยมีทั้ง Home/Community Isolation มี สสส. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมสนับสนุนในด้านต่างๆ 

ข้อดีของการผนึกกำลังกับโรงพยาบาลอย่างเป็นกิจจะลักษณะคือ ผู้ติดเชื้อได้รับการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยในของ รพ.ปิยะเวท จะได้ทำนัดวันเอกซเรย์ปอด โดยทางโรงพยาบาลจะจัดรถเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ไปตรวจผู้ป่วยในชุมชนเพื่อวินิจฉัยภาวะปอดอักเสบให้เร็วที่สุด และจะตรวจซ้ำทุกๆ 3 วัน

ในด้านค่าใช้จ่าย สปสช.สนับสนุนตามรายการ ดังนี้

  • ค่าอาหารไม่เกินวันละ 1,000 บาท
  • ค่าอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนตามจริงไม่เกิน 1,100 บาทต่อราย
  • ค่าบริหารจัดการอื่นๆ
  • ค่ารถ ค่าเอ็กซเรย์
  • ค่า SWOP ค่าตรวจ RT-PCR ตามหลักเกณฑ์ 

หากดูภาพรวม สปสช.ร่วมมือกับโรงพยาบาลปิยะเวท และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน จัดตั้ง Community Isolation หรือการดูแลตนเองในระบบชุมชนแก่ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอาการไม่รุนแรงไปแล้วกว่า 1,200 คน ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการรอเตียง และกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ในชุมชน 23 แห่ง

ทางฝั่ง สสส.เข้ามาสนับสนุนการสร้างระบบ Community Isolation ร่วมกับ สปสช. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และภาคีเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด 19 ทั้งหมด 30 ชุมชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยตั้งแต่เริ่มโครงการมีผู้ป่วยได้รับการดูแลประมาณ 180 คน ทั้งผู้ป่วยในและนอกชุมชน

ชุมชนช่วยลดวิกฤตเตียงไม่พอและแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้ยังไง

1. พัฒนาระบบจัดการของชุมชน โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้ดูแลผู้ป่วย เครื่องอุปโภคบริโภค และการวางระบบดูแลผู้ป่วยที่ต้องแยกกักตัวในบ้าน รวมถึงจัดทำศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วยที่แยกกักตัวในชุมชน

2. พัฒนาศักยภาพแกนนำด้านสุขภาวะในชุมชน โดยการจัดอบรมการดูแลผู้ป่วยในศูนย์พักคอยเบื้องต้น เพื่อให้มีความรู้ด้านการบริบาลผู้ป่วย และเชื่อมต่อการทำงานร่วมกับระบบคลินิกอบอุ่นของมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ที่มีอาสาสมัครแพทย์พยาบาลทำร่วมกับ 30 ชุมชน และมีแกนนำทั้งหมด 80 คน

3. สนับสนุนการทำต้นแบบชุมชน ทั้งระบบภายในสำหรับดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวในชุมชน และระบบภายนอกที่เชื่อมต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยกับหน่วยงานต่างๆ

อ่านเพิ่มเกี่ยวกับการกักตัวสำหรับผู้ป่วยสีเขียว เพื่อช่วยกันลดภาระบุคลากรทางการแพทย์และวิกฤตเตียงล้น

ผู้ป่วยสีเขียว สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการ Community Isolation (CI) 

  • ญาติ/ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ประสานกับแกนนำชุมชน/อสส./หน่วย 50(5) (กรณีชุมชนไม่มีการตั้ง CI ให้ประสาน 1330)
  • จากนั้นแจ้งข้อมูลผู้ติดเชื้อไปยังทีมคอมโควิด IHRI ลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยในของ รพ.ปิยะเวท ทำนัดวันเอ็กซเรย์ปอด และการตรวจซ้ำทุก 3 วัน
  • ส่งผู้ติดเชื้อเข้าสู่ Community Isolation โดยแกนนำชุมชน/ทีมคอมโควิด IHRI จะติดตามอาการทุกวัน ดูแลเบื้องตัน/จัดหายา (ลดไข้, ฟ้าทะลายโจร) อาหาร และแนะนำการปฏิบัติตัวใน CI
  • รพ.ปิยะเวทจะประเมินอาการผู้ติดเชื้อรายวัน และจะทำ Telehealth ทุกๆ 3 วัน

ที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (12 ก.ค.​ 64)

Community Isolation (CI) เทียบกับ HI Home Isolation & Community Isolation ไม่เหมือนกันตรงไหน

กรณี Home Isolation

1. อยู่ระหว่างรอ Admit ที่โรงพยาบาล

2. แพทย์พิจารณาว่าสามารถรักษาที่บ้านได้

3. รักษาที่โรงพยาบาล/สถานที่ที่รัฐจัดหาให้ไม่น้อยกว่า 10 วัน และกลับบ้านเพื่อรักษาต่อเนื่องที่บ้านโดยวิธี Home Isolation

กรณี Community Isolation

1. ผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 อยู่ในชุมชน

2. ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ที่ไม่มีอาการ/มีอาการเล็กน้อย

3. ไม่ต้องการออกซิเจนในการรักษา

4. ทุกกลุ่มวัย

สำหรับผู้ติดเชื้อที่ต้องการเข้ารับบริการ ติดต่อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1330

 

Community Isolation Community Isolation ตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง

SPRiNG รวมลิสต์ออกมาให้ ดังนี้

- ชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีน (ชุมชนต้นแบบ)

- ชุมชนใหม่ไทรทอง 

- ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่

- ชุมชนเพชรคลองจั่น 

- ชุมชนทองกิตติ 

- ชุมชนหลวงวิจิตร 

- ชุมชนโรงหวาย 

- ชุมชนภูมิใจ

- ชุมชนกระทุ่มเดี่ยว

- ชุมชนริมทางด่วนบางนา

- ชุมชนมีสุข

- ชุมชนทับแก้ว

- ชุมชนเพชรพระราม

- ชุมชนทองสุข

- ชุมชนเมืองใหม่มาลัยทอง

- ชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ

- ชุมชนพุทธมณฑลสาย 2 

- ชุมชนฟ้าใหม่ร่วมใจพัฒนา 

- ชุมชนช่องลม

- ชุมชนพูนทรัพย์ 

- ชุมชนโรงเคลือบ

- หลักหก 

- บ้านพูนสุข ปทุมธานี 

- บ้านเตื่อมฝัน เชียงใหม่

- เครือข่ายศูนย์รวมพัฒนาชุมชน

- เครือข่ายชุมชนก้าวหน้า

- เครือข่ายคนไร้บ้าน 

- เครือข่ายรถไฟสายใต้ตะวันตก 

- เครือข่ายชุมชนพระราม 3

- เครือข่ายชุมชนใต้สะพาน 

- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางพูน 

- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 10 

- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแพรกษา

- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหลักหก 1

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 57 บุญเรือง ล้ำเลิศ

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 61 สังวาล ทัสนารมย์

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 37 ประสงค์ สุดสาคร 

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 50 บึงทุ่ม

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 64 คลองสามวา

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ 

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 22 วัดปากบ่อ 

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 สะพานสูง

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 32 มาริษ ตินตมุสิก

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 25 ห้วยขวาง

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา 

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 วัดเจ้าอาม 

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 55 เตชะสัมพันธ์

- ศูนย์บริการสาธารณสุข 33 วัดหงส์รัตนาราม

ที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (16 ก.ค. 64)

related