svasdssvasds

เสียงของคนรุ่นใหม่ที่อยากเปลี่ยนโลกสิ่งแวดล้อม

เสียงของคนรุ่นใหม่ที่อยากเปลี่ยนโลกสิ่งแวดล้อม

บทสนทนาเรื่องสิ่งแวดล้อมของคนต่างวัยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ในภาคปฏิบัตินั้นแทบจะไม่เกิดขึ้น Springnews ชวนสำรวจความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมของคนแต่ละ Gen กันว่าเป็นอย่างไรบ้าง

“ประตูแห่งโอกาสกำลังจะปิดลง อนาคตอันสดใสกำลังจะเลือนหายไปในอนาคตจากความเห็นแก่ได้ของเหล่าผู้นำและผู้ใหญ่หลายคนที่ไม่ยอมสนใจโลกใบนี้ว่าอันตรายกำลังมาถึงบ้านของพวกเขาแล้ว”

ความคิดเห็นผ่านบทความของ UN (2019)

ในยุคที่ข่าวคราวเรื่องสิ่งแวดล้อมเริ่มมีทิศทางร้ายแรงขึ้นและการลุกฮือของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกหรือภาวะโลกรวน เราจะเห็นตัวอย่างมากมายจากทั่วทุกมุมโลกโดยเฉพาะในช่วงของการประชุม COP26 ที่เด็กรุ่นใหม่เริ่มออกมาเดินประท้วงกันในหลายพื้นที่ทั่วโลกเพื่อทวงถามและกระตุ้นให้ผู้นำโลกผลักดันนโยบายต่างๆให้เป็นจริงสักที อย่ามัวแต่พูดและคิดถึงแต่เม็ดเงินและความเสียหายทางเศรษฐกิจ

เอาจริงๆเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะ เพราะผู้ที่รับกรรมจากผลพวงของภาวะโลกร้อนเต็มๆคือคนรุ่นต่อไปที่ใช้ชีวิตต่อจากนี้ หากวิกฤตการณ์ต่างๆที่เป็นผลพวงของกิจกรรมมนุษย์ไม่ถูกแก้ไขในเร็วๆนี้ แล้วคนรุ่นใหม่จะใช้ชีวิตต่ออย่างไรให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เยาวชนโดยเฉพาะช่วงอายุ 12-18 ออกมารณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น cr.www.oneyoungworld.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เผื่อว่าจะนึกภาพไม่ออก เรามาลองดูผลสำรวจกันว่าคนวัยไหนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน จากการกระจายแบบสอบถามของเว็บไซต์ NewScientist ได้ผลสำรวจของความสนใจของคนแต่ละวัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน พบว่า

กลุ่มผู้ที่เห็นด้วยว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่สำคัญพอที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ เทียบระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา พบว่า กว่า 74% คือคนรุ่น Baby Boomer (ช่วงวัย 56-76) จากสหราชอาณาจักร เป็นอันดับสูงสุด รองลงมาคือคน Gen Z (ช่วงวัย 18-25) จากสหราชอาณาจักรและอันดับ 3 คือ รุ่น Millennials (ช่วงวัย 26-41) จากสหราชอาณาจักรเช่นกัน

ในสหราชอาณาจักร กลุ่ม Baby Bloomers ประมาณ 3 ใน 4 เห็นด้วยในเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง และประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่พวกเขาคิดว่าเป็นปัญหาที่จะเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของผู้คน และ 7 ใน 10 ของคนกลุ่มนี้กล่าวว่าพวกเขาจะเดินตามคนรุ่นใหม่ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พูดง่ายๆว่าพวกเขารับรู้นะว่าเกิดอะไรขึ้น แต่พวกเขาไม่รู้จะทำอย่างไรและคล้อยตามเสียงของสังคมที่กระหน่ำลงมาในช่วงที่มันควรได้รับการเปลี่ยนแปลง

กลุ่มเยาวชนมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า วิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาหลักที่ต้องเร่งจัดการมากกว่าสิ่งอื่นใด จากการให้สัมภาษณ์ของกลุ่มเยาวชนส่วนหนึ่งกับ Amnesty International ได้ผลสำรวจอนาคตของมนุษยชาติ Future of Humanity ในเยาวชนอายุ 18-25ปีกว่า 10,000 คน ใน 22 ประเทศ ข้อมูลเผยว่า 41% ของผู้ตอบแบบสอบถามอ้างว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่โลกกำลังเผชิญ

cr.www.forbes.com

Amnesty International ได้ทำแบบสอบถามเยาวชน Gen Z ว่าพวกเขาสนใจประเด็นอะไรมากที่สุดเทียบกับประเทศของตนเองและทั่วโลก ผลสำรวจพบว่า 41% พวกเขาเลือก Climate Change ตามมาด้วย Pollution 36% และการก่อการร้าย 31% ส่วน Global warming ยังอยู่ในอันดับสูงสุดที่สุดถึง 57%

นอกจากนี้ผลสำรวจยังเผยอีกว่า ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนั้นก็สำคัญ ถึง 73% แม้จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ 60% ก็ตาม ในความเป็นจริงเยาวชนกว่า 63% คิดว่ารัฐบาลของพวกเขาควรทำให้คุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศให้ดีซะก่อน ก่อนจะไปนึกถึงเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

สุดท้าย 73% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า รัฐบาลควรมีความรับผิดชอบในการรับประกันสิทธิมนุษยชนมากที่สุด แทนที่จะเป็นเรื่องของส่วนบุคคล (15%) ธุรกิจ (6%) และองค์กรการกุศล (4%)

ถ้าเหล่าผู้นำหันมาฟังเราสักนิด เขาก็จะรับรู้ได้ว่าคนรุ่น Gen Z ว่าเราไม่ได้ต้องการเอาใจใส่มากขนาดนั้น แต่เรากำลังมองหาฐานที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น

Sprinnews เก็บตกสัมมนา Exponential Path to Net Zero : Bangchak 100x100 รวบรวมความคิดเห็นบางช่วงบางตอนของการสัมมนา เพื่อส่งต่อโลกที่ดีกว่าสู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องเริ่ม System change และ Action ได้แล้ว

“ถ้าหากว่าเราอยู่บนโลกนี้ แล้วเราทำลายโลกทุกวันแล้วล่ะก็ มันเป็นสิ่งที่ไม่เวิร์ก เพราะว่าคนรุ่นหลังนั้นเขากำลังรอโลกใบนี้อยู่ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันมาดูแลโลกใบนี้อย่างยั่งยืน”

(น้องอยู่นี่) ด.ญ.พีรดา หิรัญพฤกษ์

ผู้มีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม

“คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเวลาโลกเกิดปัญหาคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมักจะเดือนร้อนกว่าใคร แต่ไม่จริง คนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมนั้นสบายดี ได้งานได้เงิน คนที่ต้องทุกข์ร้อนคือนักลงทุนผู้บริหารต่างหากที่ต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงธุรกิจของตนเอง  ไม่ใชนักสิ่งแวดล้อม แต่อีกด้านเราก็เป็นห่วงลูกหลานที่เขาอยู่ต่อจากเราว่าเขาจะต้องเจอกับอะไร หากโลกมันรวน”

อ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม

“ผมไม่ได้อยากให้คนมองว่าคนที่พยายามรักษ์โลกเป็นคนดี แต่อยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องปกติที่ใครๆก็ทำ เหมือนเป็น norm ที่หลายๆประเทศเขาทำกันเป็นเรื่องปกติ อย่างเรื่องการแยกขยะ แต่ที่เราเป็นอินฟลูเอนเซอร์แล้วมีคนชื่อชม มันเป็นเพราะว่าสังคมเราไม่ได้สอนให้มันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งผมเชื่อว่ามันสามารถสอนให้เด็กๆรู้ได้ตั้งแต่เล็กๆว่าขยะแบบนี้ทิ้งที่ไหน แยกให้เป็น แค่นั้น”

ก้อง ชณัฐ วุฒิวิกัยการ (@KongGreenGreen)

ผู้ผลิตคอนเทนต์รักษ์โลกยอดนิยมบนสื่อโซเชียลมีเดีย

“เป้าหมาย carbon neutral หรือ Zero emission อีก 29 ข้างหน้าให้คนวัย 60 กว่ามาพูดมันก็ง่ายสิ เพราะไม่ต้องรับผิดชอบอะไร กว่าจะถึงตอนนั้นเขาก็ตายแล้ว”

อ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม

กิจกรรมสัมมนา Exponential Path to Net Zero : Bangchak 100x100

เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะในยุคที่หันไปทางไหนก็พบเจอแต่ปัญหาทางสังคมมากมายจนอยากจะเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า แต่แม้ว่าเราจะพยายามเฉยเมยต่อสิ่งเหล่านั้นมากเท่าไหร่ มันยิ่งคลอบคลุมและวนเวียนอยู่ในชีวิตเรามากขึ้น โดยที่เราเองก็รู้ตัวว่ามันเป็นปัญหา ฉะนั้นเปลี่ยนจากการรับรู้แต่เพิกเฉยมาเป็นรับรู้และลงมือทำกันดีกว่า เพราะตัวผู้เขียนเองก็ถือว่าเป็นเด็กรุ่นหลังที่จะต้องอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปอีกสักพักใหญ่ ย่อมมีความต้องการที่จะให้โลกที่อยู่อาศัยน่าอยู่มากขึ้น เราไม่อยากอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาและภาระทางสังคมที่ผู้ใหญ่มอบให้ไว้

ที่มาข้อมูล 

https://www.newscientist.com/article/2290232-younger-generations-are-the-most-fatalistic-about-climate-change/

https://www.forbes.com/sites/emanuelabarbiroglio/2019/12/09/generation-z-fears-climate-change-more-than-anything-else/?sh=6812f13a501b

https://www.un.org/sg/en/content/sg/articles/2019-03-15/the-climate-emergency-and-the-next-generation

related