svasdssvasds

7 เลเวลที่ต้องรู้ ปูทางสู่ห่วงโซ่มูลค่าใน Metaverse

7 เลเวลที่ต้องรู้ ปูทางสู่ห่วงโซ่มูลค่าใน Metaverse

Metaverse จะสร้างอาชีพและมูลค่ามหาศาลในอนาคตให้แก่ผู้ประกอบการ ครีเอเตอร์ ฟรีแลนซ์ แต่ปัจจุบันยังมีคนอีกมากไม่รู้ว่า ห่วงโซ่คุณค่าที่จะเกิดขึ้นจาก Metaverse มีอะไรบ้าง SPRiNG จะพาไปดู

ถ้านึกถึงโลกเสมือนใน Metaverse ไม่ออก ให้นึกภาพคนสวม VR Headset กำลังเล่นเกม Beat Saber หรือเกม Roblox ที่เล่นผ่านสมาร์ทโฟนหรือเรียนรู้จากเกมผ่านคอมพิวเตอร์

Source : Unsplash

ลองคิดต่อว่า มีเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์อะไรบ้างที่ต้องผนวกหรือใช้ประกอบกันจนเป็นเกมนั้นๆ แล้วเกมนั้นสร้างมูลค่าอย่างไร เรายอมจ่ายอะไรเพิ่มบ้างเพื่อที่จะได้สนุกกับเกมหรือสังคมในนั้นมากขึ้น? 

คลิปด้านบนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ ห่วงโซมูลค่า (Value Chain) ที่เกิดขึ้นและ SPRiNG หยิบมาเขียนถึง เพราะอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse สามารถร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปถึงหลักล้านล้านดอลลาร์ได้!

ปูพื้นก่อนว่า ห่วงโซ่คุณค่า จาก Metaverse มาจากบทความ The Seven Layers of the Metaverse ในบล็อกของ Jon Radoff นักออกแบบเกมและซีอีโอ Beamable แพลตฟอร์มที่ให้ครีเอเตอร์เป็นศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาเกม โดยอธิบายตั้งต้นจากประสบการณ์ที่ผู้คนมองหา ไปจนถึงเทคโนโลยีที่เอื้อให้เกิด Metaverse ได้จริง มีทั้งหมด 7 เลเวล (หรือเลเยอร์) ดังนี้

The Seven Layers of the Metaverse

1
EXPERIENCE

อย่างแรกคือ ประสบการณ์ที่ได้รับในโลกเสมือน เช่น การเล่นเกม การแข่งอีสปอร์ต การใช้โซเชียล การดูหนัง การช็อปปิง การร่วมงานอีเวนต์ ที่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่และเสมือนจริง

2
DISCOVERY

สิ่งที่ช่วยให้ผู้คนได้ประสบการณ์ใหม่ๆ แบบเรียลไทม์ เช่น โฆษณา โซเชียล คะแนนความนิยม แพลตฟอร์มร้านค้าต่างๆ ซึ่งสามารถเป็น สินทรัพย์ทางการตลาด (Marketing Asset) ได้ 

3
CREATOR ECONOMY

องค์ประกอบหรือปัจจัยที่ทำให้เกิด เศรษฐกิจนักสร้างสรรค์ (Creator Economy) เช่น เครื่องมือที่ใช้ออกแบบ ตลาดสินทรัพย์ต่างๆ ตัวช่วยในการจัดระบบงาน โดยพัฒนาจาก Pioneer Era ยุคแรกซึ่งเป็นยุคบุกเบิก เช่น การสร้างเว็บไซต์ด้วยโค้ด HTML

ตามมาด้วย Engineering Era เมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้น หลายๆ อย่างมีความซับซ้อนเพิ่ม มีแอปให้ใช้งานเพิ่ม เครื่องมือทั้งหลายทำงานช้าและหน่วงลง (Overloaded) จึงต้องพัฒนาในด้านวิศวกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถหรือศักยภาพอื่นๆ เข้ามา เช่น เว็บไซต์ที่ขับเคลื่อนด้วย Data, เกมที่ประมวลผล 3D กราฟิก ได้โดยที่โปรแกรมเมอร์ยังไม่มีความรู้ด้านการเขียนโค้ดขั้นสูง

Source : blog.roblox.com

และปัจจุบัน เราอยู่ในยุค Creator Era หรือยุคของนักสร้างสรรค์ มีนักสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ จึงเกิดการพัฒนาเครื่องมือ มีเทมเพลต มีตลาดกลางที่ขายคอนเทนต์ต่างๆ ได้ กราฟิก 3D ก็ได้รับการพัฒนามากขึ้น รวมถึงการสร้างเว็บไซต์ก็ทำได้โดยไม่ต้องเขียนโค้ด

พัฒนาการด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ประสบการณ์ใน Metaverse มีความสดใหม่ ทันสมัย และอยู่ร่วมกันเป็นสังคมมากขึ้น เช่นสังคมในเกม Roblox 

4
SPATIAL COMPUTING

การประมวลผลเชิงพื้นที่เพื่อผสานโลกจริงกับโลกเสมือน เช่น การใช้เครื่องประมวลผลสามมิติเพื่อแสดงลักษณะทางกายภาพร่วมกับแอนิเมชัน เทคโนโลยี VR/AR/XR การจดจำเสียงและลักษณะท่าทาง การอินทิเกรตข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT และลักษณะทางชีวภาพจากตัวบุคคล 

5
DECENTRALIZATION

การกระจายอำนาจหรือข้อมูลแบบไร้ตัวกลาง เช่น การใช้เทคโนโลยี Edge Computing, Microservices ระบบที่แยกย่อยหรือขยายตัวจากแอปขนาดใหญ่ได้ เทคโนโลยี Blockchain ที่ทำให้เงินดิจิทัลทำงานแบบกระจายอำนาจ ไม่มีตัวกลางคอยควบคุม เช่น การซื้อขายผลงานดิจิทัล NFTs ซึ่งนำไปต่อยอดในเกม อีสปอร์ต ไลฟ์สตรีมต่อได้ การใช้ DeFi (Decentralized Finance)  รวมถึงการใช้แอปเพื่อเพิ่มสินทรัพย์ในเกมโดยเลเวลที่ 5 นี้ก็คือ พื้นที่นวัตกรรม Web 3.0 นั่นเอง

Source : Unsplash

6
HUMAN INTERFACE

อุปกรณ์เชื่อมสัมผัสของมนุษย์จะฉลาดขึ้น ใกล้ตัวเรายิ่งขึ้น เช่น มือถือจะไม่ได้เป็นแค่มือถือ แว่นตาอัจฉริยะอาจทำงานได้อย่างสมาร์ทโฟน ควบคู่ไปกับการพัฒนา AR, VR ถุงมืออัจฉริยะ อุปกรณ์สวมใส่หรือเสื้อผ้าที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3D ไบโอเซ็นเซอร์จิ๋วๆ ที่อาจพิมพ์บนผิวหนัง ตลอดจนตัวรับสัมผัสหรือสื่อสารกับระบบประสาทของเรา

7
INFRASTRUCTURE

โครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้อุปกรณ์หรือฮาร์ดแวร์ต่างๆ เชื่อมต่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้วทำให้การนำเสนอคอนเทนต์ใน Metaverse รวดเร็ว ไหลลื่น เช่น เทคโนโลยี 5G/6G/Wi-Fi 8 คลาวด์ที่ประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว ชิปประมวลผลกราฟิกประสิทธิภาพสูง (GPUs) ฯลฯ พัฒนาเป็นโลกอินเทอร์เน็ต 3.0 ที่ก้าวล้ำจนเรียกได้ว่าเป็น Multiverse 

ที่มา : The Seven Layers of the Metaverse, Jon Radoff

related