svasdssvasds

Future of Work อนาคตของการทำงานที่จะเต็มไปด้วยการขอ "ลาออก"

Future of Work อนาคตของการทำงานที่จะเต็มไปด้วยการขอ "ลาออก"

การลาออกครั้งใหญ่ไม่ใช่แค่เทรนด์! ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales Lab by MQDC วิเคราะห์และคาดการณ์เกี่ยวกับ Future of Work หรือ อนาคตของการทำงาน เอาไว้ 3 มิติ ที่ส่งผลต่อสไตล์การทำงาน รวมถึงการยื่นใบลาออกของคนทำงานรุ่นใหม่ที่เราอาจได้เห็นเกลื่อนเมือง!

อันที่จริง คำว่า The Great Resignation การลาออกครั้งมโหฬารของคนทำงานทั่วโลก เกิดขึ้นแล้วหลายประเทศในช่วงที่โควิดระบาด เช่น แรงงานที่ได้ทำงานจากระยะไกล (Remote Work) ในสหรัฐอเมริกา มีมุมมองต่อการทำงานและการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป เดือนกรกฎาคม 2564 เพียงเดือนเดียวมีชาวอเมริกันลาออกจากงานมากกว่า 4 ล้านคน คำถามที่ตามมาก็คือ ยุคหลังโควิด Future of Work หรือ อนาคตของการทำงาน ที่ใช่สำหรับแรงงาน กับทิศทางที่องค์กรควรมูฟต่อคือทางไหน?

วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ออกมาเปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) วิเคราะห์และคาดการณ์เกี่ยวกับ อนาคตของการทำงาน (Future of Work) ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อวิถีการทำงานของคนรุ่นใหม่ โดยจัดเวิร์กช็อปเพื่อเข้าใจข้อมูลเชิงลึก ร่วมกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า แรงงาน (Workforce) พื้นที่ทำงาน (Workspace) และ องค์กร (Organization) เป็น 3 มิติสำคัญที่จะทำให้การทำงานในอนาคตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

Source : FutureTales Lab by MQDC

มิติด้าน แรงงาน (Workforce) ที่จะเปลี่ยนไป

วิพัตราให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันเราอยู่ระหว่าง Workforce 3.0 แรงงานมีความต้องการเป็นเจ้าของกิจการ และ Workforce 4.0 แรงงานที่เลือกทำงานหลากหลายและทำงานได้จากทุกที่ แต่ในอนาคต การพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ จะส่งผลให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น

หลังจากนี้ แรงงาน วัยทำงานจะเข้าสู่ Workforce 5.0 จากการที่ยืดอายุเกษียณออกไปตามความสามารถ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ความยืดหยุ่น และความคิดแบบเติบโต (Resilience & Growth mindset) โดยสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้คนทำงานปรับตัวได้ทัน ป้องกันการอยู่ในสถานะที่องค์กรไม่สามารถจ้างงานได้ (Unemployable) ซึ่งน่ากลัวยิ่งกว่าการตกงาน (Unemployed) เสียอีก

.................................................

คอนเทนต์ที่เกี่ยวข้อง

.................................................

มิติด้าน พื้นที่ทำงาน (Workspace) ที่จะเปลี่ยนไป

พื้นที่ทำงานในปัจจุบันมีความคาบเกี่ยวกันระหว่าง ยุคการทำงานที่เป็นห้องสี่เหลี่ยม (Cubicle Nation) มีการแบ่งสัดส่วนชัดเจน กับ ยุคพื้นที่ทำงานเปิดโล่ง (Co-Working Space) มีอิสระในการใช้พื้นที่ทำงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดไอเดียใหม่ๆ จากการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างพนักงาน

กอปรกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีใน โลกเสมือน (Metaverse) จะส่งผลให้สถานที่ทำงานเข้าสู่ ยุคพื้นที่ทำงานที่เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อระหว่างพื้นที่ทำงานจริงและพื้นที่ในโลกเสมือน (Virtual Workspace) ซึ่งจะทำให้อุปสรรคด้านพื้นที่ทำงานหมดไป เกิดเป็นพื้นที่ทำงานรูปแบบใหม่ที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์งาน การสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และองค์กรส่วนใหญ่ก็จะปรับโลกการทำงานและการบริหารงานไปอยู่ใน Metaverse มากขึ้น

มิติด้าน องค์กร (Organization) ที่จะเปลี่ยนไป

ปัจจุบัน เราอยู่ในยุค Organization 3.0 (ยุค Machine) ที่องค์กรมุ่งเน้นความสำเร็จ ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม และยุค Organization 4.0 (ยุค Family) ที่ไม่เน้นโครงสร้างองค์กรอย่างชัดเจน แต่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กร และการเพิ่มอำนาจให้แก่พนักงาน

เมื่อเข้าสู่ในยุค Organization 5.0 (ยุค Living System) องค์กรขนาดใหญ่จะถูกลดขนาดลง เพื่อให้เกิดความคล่องตัว เน้นการกระจายอำนาจ มีความยืดหยุ่น และเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถบริการจัดการงานได้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกัน องค์กรจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความหลากหลาย (Diversity) และสร้างการมีส่วนร่วม (Inclusion) เพื่อให้องค์กรเดินหน้าต่อได้อย่างราบรื่น

Future of Work อนาคตของการทำงานที่จะเต็มไปด้วยการขอ "ลาออก"

ความเท่าเทียม ความหลากหลาย มีผลต่อการทำงาน

จากการเวิร์กช็อปที่ FutureTales Lab by MQDC ทำร่วมกับนักศึกษา ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันว่า สนใจประเด็นทางสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างของรายได้ที่มีแนวโน้มกว้างขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในมิติของรูปแบบและพื้นที่ทำงาน

ดร.เจนนิเฟอร์ยังบอกด้วยว่า ความเท่าเทียม เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อการรับรู้ถึงความยุติธรรมในที่ทำงาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะของพนักงานในอนาคต

ดังนั้น องค์กรจึงต้อง คำนึงถึงการบริหารนโยบาย Diversity & Inclusion (D&I) ที่ไม่ครอบคลุมเพียงแค่ความแตกต่างในเรื่องเพศหรืออายุเท่านั้น แต่ต้องมองไปถึงความหลากหลายทั้งในด้านความสามารถ วิธีคิด ค่านิยม และความเชื่อ ร่วมด้วย และองค์กรต้อง คำนึงถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง (Authentic Self) และสนับสนุนบุคลากรทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม โดยข้อนี้จะช่วยให้พนักงานรุ่นใหม่รับรู้ถึงพลังอำนาจ และต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของการทำงานในองค์กรได้อย่างเต็มที่

ข้อมูลในด้านสถิติและสรุปปิดท้าย

  • กว่า 77% ของแรงงานมีประสบการณ์หมดไฟ
  • 91% ของแรงงานกล่าวว่า ความเครียดที่ไม่สามารถจัดการได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพงาน
  • 83% ของแรงงานบอกว่า ความเหนื่อยหน่ายอาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ส่วนตัว
  • 41% ของพนักงานทั่วโลกพิจารณาที่จะลาออก

Co-working Space | Source : Unsplash

"ในช่วงที่เกิด ภาวะการลาออกระลอกใหญ่ของมนุษย์เงินเดือนทั่วโลก (The Great Resignation) กว่า 11.5 ล้านคนลาออกจากงานในปีที่ผ่านมา และอีก 48% ของพนักงานมีแนวโน้มจะลาออก จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และการประชุมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ มากขึ้นถึง 200% ส่งผลให้พนักงานเกิดภาวะหมดไฟ"

วิพัตราบอกอีกว่า 60% ขององค์กรทั่วโลกมีโครงการริเริ่มด้านสุขภาพภายในองค์กร และ 78% ของนายจ้างมองว่า ความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเป็นส่วนสำคัญของแผนธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

"สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่ท้าทายมากในการดึงศักยภาพพนักงานและพยายามเก็บรักษากำลังสำคัญเอาไว้ ภายใต้การคำนึงถึงสุขภาวะที่ดีของแรงงาน (Employee well-being)" 

..............................................................................................................

อ้างอิง 
1. https://hbr.org/2021/10/with-so-many-people-quitting-dont-overlook-those-who-stay
2. https://hbr.org/2020/10/the-post-pandemic-rules-of-talent-management 
3. https://www.microsoft.com/en-us/microsoft-365/blog/2020/04/09/remote-work-trend-report-meetings
4. https://www.weforum.org/agenda/2021/06/remote-workers-burnout-covid-microsoft-survey
5. https://www.forecast.app/blog/how-to-prevent-employee-burnout 
6. https://www.myshortlister.com/insights/employee-wellness-statistics 
7. https://www2.deloitte.com/us/en/pages/about-deloitte/articles/burnout-survey.html 
8. https://www.apollotechnical.com/remote-work-burnout-statistics
9. https://www.apollotechnical.com/remote-work-burnout-statistics

..............................................................................................................

related