svasdssvasds

No Digital, No Green สีเขียวเกี่ยวอะไรกับดิจิทัล? โดย อาเบล เติ้ง CEO หัวเว่ย

No Digital, No Green สีเขียวเกี่ยวอะไรกับดิจิทัล? โดย อาเบล เติ้ง CEO หัวเว่ย

ประเด็นคัดสรรจากงาน Thailand Digital Fast Forward อัพสปีดเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วง Special Talk : Digital Global Trend โดย อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บจ.หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย)

อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บจ.หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กล่าวถึง 5 เทรนด์โลก และความจำเป็นของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลฟื้นฟูธุรกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ตลอดจนขับเคลื่อน เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และยังต้องก้าวข้ามความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากภูมิรัฐศาสตร์โลก

อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บจ.หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย)

สรรสาระจากคำกล่าวของ อาเบล เติ้ง

  • ไม่ใช่แค่ เศรษฐกิจดิจิทัล ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ยังรวมถึง สังคมดิจิทัล
  • ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ Digital First Economy โดยในรายงานของหัวเว่ยระบุว่า โอเปอเรเตอร์ในไทยติดสปีดในด้านการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตประเภท Home Broadband สูงสุดในอาเซียน ด้วยอัตราการเติบโตถึง 58.96%

Digital Global Trend 5 ข้อที่พลเมืองดิจิทัลต้องรู้

เทรนด์ที่ 1 เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ระบาด และจะนำไปสู่การจ้างงานราว 60-65 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2025 โดยมีกลุ่มประเทศชั้นนำด้านดิจิทัล Digital First Economy (DFE) เข้ามาเพิ่ม GDP โลกให้สูงขึ้น ได้แก่ เกาหลี, อเมริกา, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, ฝรั่งเศส, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจีน

เทรนด์ที่ 2 การเชื่อมต่อ (5G/FSG/IoT/IPV6) และประมวลผล (AI/MEC/Cloud) นำไปสู่การวางรากฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัลให้แข็งแกร่ง

เทรนด์ที่ 3 การปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยโฟกัสที่การใช้ 5G กับ 5G + F5G + Cloud + AI Full-stack 

อาเบลกล่าวถึงข้อมูลด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ของประเทศไทยว่า เร็วที่สุดในอาเซียน ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้าน 5G ในเวทีโลก ยิ่งไปกว่านั้น โอเปอเรเตอร์ในไทยยังพัฒนา Fixed Broadband สำหรับการใช้งานในที่พักอาศัย (Home Broadband) ได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ 

.............................................................................

อ่านคอนเทนต์จากงานสัมมนาเดียวกันนี้

.............................................................................

เทรนด์ที่ 4 ทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดในโลกไม่ใช่ "น้ำมัน" อีกต่อไป แต่เป็น "ข้อมูล (Data)" และเศรษฐกิจดิจิทัลจะทำให้เกิด Massive Data นำไปสู่การใช้ประโยชน์ Big Data ต่อไป

ประเด็นสำคัญต่อจากการมี Big Data คือ ผู้ประกอบธุรกิจต้องทำและต้องเข้าใจ การใช้ประโยชน์จากข้อมูล และออกแบบ how to หารายได้จากข้อมูลเหล่านั้น เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้

อย่างไรก็ตาม การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต้องทำอย่างถูกต้องและผ่าน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่รัฐบาลจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายนนี้

อาเบลยังย้ำเพิ่มว่า Big Data เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เมื่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงพร้อมใช้งาน การใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence, Virtual Reality, Augmented Reality ฯลฯ จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประมวลผลข้อมูลมหาศาล (Massive data) โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle) เพราะต้องอาศัยการประมวลผลข้อมูลที่รวดเร็วและเรียลไทม์เพื่อความปลอดภัยสูงสุด

Special Talk : Digital Global Trend by Abel Teng, CEO Huawei

เทรนด์ที่ 5 ไม่มีดิจิทัล ไม่มีโลกสีเขียว (No Digital, No Green) เป็นประเด็นที่ต้องการความร่วมมือระดับโลกจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนคนทั่วไป เพราะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถลดขั้นตอน กิจกรรม หรือกิจการใดๆ ที่ก่อให้เกิดคาร์บอนได้ ทั้งยังช่วยดูดเก็บคาร์บอนได้อีกด้วย (เช่น การเลิกใช้รถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งควบคุมการทำงานด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล)

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม/อุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมกันนี้ยังใช้รักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมร่วมด้วย (เช่น การใช้แพลตฟอร์มตรวจจับคลื่นความร้อน - บ่งชี้ - แจ้งเตือนว่า พื้นที่ใดมีแนวโน้มที่จะเกิดไฟป่า) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2050 สอดรับกับการที่นานาชาติมุ่งสู่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs : Sustainable Development Goals) 

ท้ายที่สุด อาเบลกล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล กับ การลดการปล่อยคาร์บอนว่า ดิจิทัลจะนำพาทุกคน ทุกองค์กร และประเทศไปสู่ "โลกที่มีความอัจฉริยะยิ่งขึ้น"

related