svasdssvasds

ขนส่งสาธารณะ กับ สังคมผู้สูงอายุ ไทยพร้อมแค่ไหน เมื่อเทียบกับต่างประเทศ

ขนส่งสาธารณะ กับ สังคมผู้สูงอายุ ไทยพร้อมแค่ไหน เมื่อเทียบกับต่างประเทศ

การเดินทางโดยเฉพาะ ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เตรียมแผนรับมือกับ สังคมผู้สูงอายุ ไว้อย่างไรกันบ้าง เมื่อเทียบกับต่างประเทศพบว่า จัดขาดการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้อำนวยความสะดวกและความปลอดภัย แก่ประชากรสูงวัยและผู้พิการ

ประเทศไทย เข้าสู่การเป็น สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คือ สังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป อย่างเต็มตัว ตั้งแต่ พ.ศ. 2564ซึ่งมี สัดส่วนของจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 20-30 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งเป็นความท้าทายที่สังคมโดยรวมต้องเผชิญร่วมกัน ทั้งในส่วนของการเตรียมพร้อมด้านนวัตกรรม เพื่อสอดรับการวิถีชีวิตที่เอื้อต่อ ผู้สูงอายุ และระบบที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของ ผู้สูงอายุ ทั้งในเรื่อง อาชีพ การเข้าถึงเทคโนโลยี ชีวิตประจำวัน ที่เกี่ยวข้องกับการกินอยู่-การเดินทาง ซึ่งมีหลายคนที่ต้องพึ่งพาระบบขนส่งมวลชน ในการเดินทางเพื่อการทำงานหรือกิจธุระส่วนตัว หันมามองรถเมล์ไทยที่เพิ่งเริ่มต้นเปลี่ยนมือจากการดูแลของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ มาอยู่ภายใต้การจัดการของกระทรวงการคมนาคม

จากบทความเรื่อง รูปแบบการเดินทางและขนส่งสาธารณะกับสังคมผู้สูงอายุ ของวิทยากรชำนาญพิเศษ อาริยา สุขโต ได้เปรียบเทียบข้อมูลรูปแบบ การขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะรถเมล์ ซึ่งถือเป็นขนส่งสาธารณะหลักของกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศถึง 5,527,994 คน (ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 19 ม.ค. 65) ซึ่งเป็นประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี รวมแล้ว 1,175,552 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ผู้สูงอายุในวัยดังกล่าว ส่วนใหญ่เกษียณจากงานประจำ ทำให้เป็นวัยที่มีเวลา การดูแลสุขภาพของแต่ละคนที่แตกต่างกัน อาจทำให้เป็นอุปสรรคในใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการเดินทาง บางคนมีรถยนต์ส่วนตัวแต่ก็มีผู้สูงอายุหลายคนที่ต้องพึ่งพาขนส่งสาธารณะ เนื่องด้วยลักษณะครอบครัวเดี่ยวในยุคปัจจุบันทำให้ไม่มีลูกหลานดูแลใกล้ชิด แต่การที่สามารถดูแลการเดินทางจัดการด้วยตัวเอง นอกจากความสะดวกยังสร้างคุณค่าที่ดีทางใจ ไม่รู้สึกเป็นภาระให้ลูกหลาน อยากไปเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูง หรือ ไปโรงพยาบาลตามหมอนัด ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยควรเตรียมความพร้อมสำหรับประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะในเมืองหลวง ถึงแม้จะมีตัวเลือกมากที่สุดในประเทศแต่ก็ยังมีข้อจำกัดและข้อควรระวังสำหรับผู้สูงอายุในการใช้งาน  

ข้อควรระวังแต่ละรูปแบบการเดินทางของผู้สูงอายุ 

  • การเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง

หลีกเลี่ยงการนั่งหลับบนรถประจำทาง เพราะเมื่อรถหยุดหรือลดความเร็วอย่างรวดเร็วหรือหักเลี้ยวกะทันหัน อาจก่อให้เกิดอันตรายขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นถ้ากังวลเรื่องการทรงตัวในการก้าวขึ้น-ลงรถโดยสาร

  • การขับรถยนต์ส่วนตัว

เป็นความอิสระและแสดงถึงการพึ่งพาตัวเองได้ แต่ผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมสภาพของร่างกาย ความว่องไวในการตอบสนองต่อเหตุการณ์คับขันที่ช้าลง โดยในไทยยังไม่มีการกำหนดอายุของผู้ขับขี่ แต่ในต่างประเทศมีการกำหนดให้ผู้ที่มีอายุ70 ปีขึ้นไปจะต้องมาทดสอบร่างกายเพิ่มเติมทุก ๆ 3 ปี

โรคที่ส่งผลกระทบต่อการขับรถยนต์มีอะไรบ้าง

โรคที่ส่งผลกระทบต่อการขับรถยนต์ เช่น 

  • โรคเกี่ยวกับกับดวงตา ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม
  • โรคสมองเสื่อม ทำให้เกิดอาการหลงลืม หลงทาง และการตัดสินใจ
  • โรคอัมพฤกษ์จากโรคหลอดเลือดสมอง ท าให้เกิดภาวะแขนขาอ่อนแรง จนไม่มีแรงพอจะเหยียบคันเร่งเบรกหรือการเปลี่ยนเกียร์
  • โรคพาร์กินสัน มีอาการแข็งเกร็ง มือสั่น เท้าสั่น
  • โรคลมชัก เป็นโรคที่อาจพบในผู้สูงอายุ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะชัก เกร็ง กระตุก ไม่รู้สึกตัว

นโยบายที่เอื้อต่อการเดินทางด้วย ขนส่งสาธารณะ ของไทย สำหรับผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง 

สิทธิการลดหย่อนที่เอื้อต่อการเดินทางของผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 โดยผู้สูงอายุต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนกับเจ้าหน้าที่ก่อนใช้บริการ มีดังนี้ 

  • รถโดยสารประจำทาง ขสมก. ส่วนลดร้อยละ 50 (รถปรับอากาศไม่รวมค่าธรรมเนียม)
  • รถทัวร์ (บขส.) จะได้รับส่วนลดร้อยละ 50 ของราคาค่าโดยสารที่ใช้บริการไม่รวมค่าธรรมเนียมเฉพาะรถโดยสารของ บขส. เท่านั้น
  • รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ได้รับส่วนลดร้อยละ 50 ของค่าโดยสารปกติในทุกเส้นทาง
  • รถไฟฟ้า BTS บัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอาย ส่วนลดค่าโดยสารร้อยละ 50
  • รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ บัตร Senior Citizen Smart Pass จะได้รับส่วนลดค่าโดยสารร้อยละ 50
  • รถไฟ สิทธิโดยสารครึ่งราคา ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน–30 กันยายน ของทุกปี
  • เรือ มีส่วนลดค่าโดยสารร้อยละ 50 สำหรับเรือประจำทางในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งเรือด่วนเจ้าพระยาเรือในคลองแสนแสบ และเรือข้ามฟาก 

โครงการนำร่องในการบริการขนส่งสาธารณะสำหรับผู้สูงอายุของประเทศไทย 

  • โครงการทดลองเดินรถสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดสำหรับผู้พิการ และผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ มีรถให้บริการผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น จำนวน 30 คัน
  • บริการรับส่งเพื่อการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ โครงการรถเมล์สายสุขภาพ โรงพยาบาลขุนหาญ เพื่อนำคนไข้ไม่ฉุกเฉินกลุ่มส่งต่อโรงพยาบาลศรีสะเกษแก้ปัญหา คนไข้สูงอายุที่ไม่เดินทางไปรักษา ไม่พบแพทย์ตามนัด ทำให้การรักษาไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความยากลำบากในการเดินทาง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่ลูกหลานในครอบครัวไม่สะดวกหรืออยู่ห่างไกล ไม่สามารถพาไปโรงพยาบาลได้ โครงการนี้สามารถแก้ปัญหาาคนไข้ไม่ไปตามนัดของแพทย์ได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพียงรอบละ 50 บาท

กรณีศึกษาจากต่างประเทศที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดขึ้นใน สังคมผู้สูงอายุ ของประเทศไทย ตัวอย่างเช่น 

ประเทศญี่ปุ่น 

ผู้สูงอายุจำนวนมากเดินทางตามลำพัง โดยไม่มีลูกหลานดูแล และใช้บริการรถบัสประจำทางตามปกติ เนื่องจากเหตุผลและปัจจัย ดังนี้ 

  • มีความปลอดภัยสูง เพราะรถที่ให้บริการในโตเกียวส่วนใหญ่เป็นแบบ Non-step bus หรือบัสที่ไม่มีขั้นบันได ช่วยลดปัญหาการก้าวพลาดตกขั้นบันได และยังปรับระดับได้ เอื้อต่อการใช้งานของผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ 
  • จำนวนที่นั่งและขนาดที่กว้างสำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุใช้งาน 
  • ความตรงเวลา ทำให้คาดเดาการเดินทางให้ตรงเวลาการนัดหมายได้ 
  • เส้นทางเดินรถ ผ่านโรงพยาบาลและสถานที่ติดต่อราชการสำคัญรวมถึงธนาคารมักจัดให้อยู่ใกล้กับถนนเส้นหลัก ทำให้ผู้สูงอายุสามารถเดินทางด้วยตัวเองเพื่อทำธุระส่วนตัวโดยลำพัง
  • ค่าโดยสาร ส่วนลดสำหรับ  ส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปจะได้รับสิทธิในการซื้อบัตรโดยสารประจำปีที่ถูกกว่าคนวัยทำงาน โดยจะคำนวณจากฐานรายได้ ประจำปีของแต่ละบุคคล โดยไม่จำกัดเที่ยวรถบัสและสามารถใช้เดินทางโดยรถบัสโดยสารประจำทางทุกสายในโตเกียว

ประเทศบราซิล

  • ระบบขนส่งมวลชน BRT (Bus Rapid Transit) หรือ ป้ายรอรถประจำทางที่ได้ทำการออกแบบเป็นรูปทรงกระบอก เอื้อสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุใช้งานรถเมล์ได้ด้วยด้วยเอง มีบันไดหัว-ท้ายของป้ายและเพิ่มระบบไฮโดรลิก สำหรับยกรถเข็นของผู้พิการ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ รถเข็นเด็ก หรือผู้ที่ไม่สามารถขึ้น-ลงบันไดได้อย่างสะดวก

ทั้งนี้เพื่อความเสมอภาคกันทางสังคม ทางบทความได้ยกข้อเสนอแนะสำหรับนำไปพัฒนา ขนส่งสาธารณะในประเทศไทย
โดยควรยึดหลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) ดังนี้

  1. การจัดสภาพแวดล้อม สำรวจและปรับปรุง  ป้ายรถโดยสารประจำทางหรือจุดรับส่ง ให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยเดียวกันเพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงทางเท้าที่รองรับการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ 
  2. เงินสนับสนุนและส่วนลดหย่อนค่าโดยสาร 
  3. สวัสดิการรถรับ-ส่งของโรงพยาบาล สำหรับผู้สูงอายุในการพบแพทย์ตามนัดหมาย
  4. นำเทคโนโลยีมาใช้ ด้วยการส่งเสริม สนับสนุน นวัตกรรมด้านการขนส่งให้พัฒนาเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง

ที่มา

บทความรูปแบบการเดินทางและขนส่งสาธารณะกับสังคมผู้สูงอายุ
 

related