svasdssvasds

ชาวกาฬสินธุ์ร้องตรวจสอบฝายสร้างไม่ถึงปีพังหลายแห่ง งบสูงเฉียดร้อยล้าน

ชาวบ้านตำบลเหล่าใหญ่ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ สุดงง ฝายที่อ้างสร้างช่วยป้องกันน้ำท่วม และแก้ปัญหาภัยแล้งของชลประทานที่ 6 เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จไม่ถึงปีหลายแห่ง งบประมาณเฉียดร้อยล้านบาท พังเสียหายยับ คอสะพานแตกร้าว ทรุดตัว ชาวบ้านเรียกร้องหน่วยงานปปช.ปปท.และสตง. เข้าทำการตรวจสอบด่วน หวั่นมีการแสวงหาผลประโยชน์จากเงินงบประมาณค่าก่อสร้าง จนคุณภาพงานไม่ได้มาตรฐาน และชาวบ้านไม่ได้รับประโยชน์ในการช่วยภัยน้ำท่วมและภัยแล้งในอนาคต

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามผลกระทบหลังพายุโพดุลและคาจิกิ ที่ผ่านพ้นไป ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบให้พื้นที่การเกษตร การประมง และที่พักอาศัย จะได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้างแล้ว ยังพบว่าระบบสาธารณูปโภค เส้นทางจราจร ยังได้รับความเสียหายหนักหลายเส้นทางเช่นกัน โดยเฉพาะฝายที่หน่วยงานต่างๆสร้างขึ้น เพื่อช่วยชะลอน้ำป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้งได้รับความเสียหลายแห่ง ทำให้ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่าโครงสร้างของฝายนั้นมีการก่อสร้างเป็นไปตามแบบหรือมีมาตรฐานหรือไม่ เนื่องจากหลายแห่งเพิ่งมีการก่อสร้างเสร็จไม่ถึงปีและใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปหลายสิบล้านบาทแต่กลับยังไม่ได้ใช้ประโยชน์และพังเสียหายง่ายดายขนาดนี้ จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ปปช.ปปท.และสตง.ลงพื้นที่ตรวจสอบ

ชาวกาฬสินธุ์ร้องตรวจสอบฝายสร้างไม่ถึงปีพังหลายแห่ง งบสูงเฉียดร้อยล้าน

โดยในส่วนความเสียหายของฝายนั้น ได้รับแจ้งจากชาวบ้านใน ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ว่า พนังกั้นและตัวฝายลำพะยัง ที่บริเวณบ้านจอมทอง หมู่ 5 ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์พังทลายเกือบขาด ขณะที่บริเวณคอสะพานปูนเกิดแตกร้าวและทรุดตัว ชาวบ้านหวั่นว่าจะเกิดการฝายแตกหากมีน้ำเติมเข้ามาในพื้นที่กักเก็บน้ำของฝายอีก จึงได้เข้าตรวจสอบ

ชาวกาฬสินธุ์ร้องตรวจสอบฝายสร้างไม่ถึงปีพังหลายแห่ง งบสูงเฉียดร้อยล้าน

นายอัมพร พิลาวรรณ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านจอมทอง หมู่ 5 ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ฝายเก็บน้ำลำพะยัง รับน้ำที่ไหลมาจากลำน้ำพะยังในพื้นที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เดิมตัวฝายและสะพานข้าม มีความกว้าง 60 เมตร ในช่วงหน้าแล้งน้ำขาดแคลน สัตว์เลี้ยง ชาวบ้าน ได้รับความเดือดร้อน ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน จึงได้ร้องขอความช่วยเหลือจากส่วนราชการ เพื่อขุดลอกและขยายตัวฝายให้กักเก็บน้ำได้ปริมาณมากขึ้น ก่อนที่ทางสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเข้ามาดำเนินการสร้างฝายให้ใหม่ ตัวฝายมีความกว้าง 120 เมตร ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2561 และเสร็จสิ้นประมาณเดือนพฤษภาคม 2562 ด้วยงบหลายสิบล้านบาท และส่งมอบให้กับเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ดูแล

ชาวกาฬสินธุ์ร้องตรวจสอบฝายสร้างไม่ถึงปีพังหลายแห่ง งบสูงเฉียดร้อยล้าน

นายอัมพร กล่าวอีกว่า แต่พอถึงฤดูฝนปีนี้ ที่ระดับน้ำในลำพะยังมากขึ้น และไหลหลากเข้ามาบริเวณพื้นที่กักเก็บน้ำของฝายละยังที่สร้างเสร็จใหม่ กลับเกิดการทรุดพัง โดยเฉพาะพนังเหนือตัวฝาย ที่เกิดการพังทลายเกือบขาดเป็นทางยาวกว่า 100 เมตร ประตูปิดเปิดน้ำเสียหาย รถใหญ่ไม่สามารถข้ามผ่านได้ ขณะที่บริเวณคอสะพานก็แตกร้าวและทรุดตัว นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบถึงระบบชลประทาน การวางท่ออีกหลายจุดที่เกิดการทุดพังเสียหาย ชี้ให้เห็นถึงมาตรฐานการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีระบบป้องกันการพังทลายของพนังแต่อย่างใด ทั้งนี้ ขณะทำการก่อสร้างตนและคณะกรรมการหมู่บ้านก็เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งเป็นเพียงการนำดินมาเสริมพนังเท่านั้น ไม่มีการบดอัดหรือมิกซ์อิฐ ตรงบริเวณที่รับแรงอัดของกระแสน้ำแต่อย่างใด พอน้ำไหลเข้ามาจึงกัดเซาะและพังทลายอย่างง่ายดาย

ชาวกาฬสินธุ์ร้องตรวจสอบฝายสร้างไม่ถึงปีพังหลายแห่ง งบสูงเฉียดร้อยล้าน

ทั้งนี้ จากการเข้าทำการตรวจสอบที่บริเวณโครงการฝายกั้นลำน้ำลำพะยัง บ.จอมทอง ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งป้ายโครงการได้มีการระบุตัวหนังสือการใช้งบประมาณปี พ.ศ.2561 (เพิ่มเติม) โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนั้น ดินที่บริเวณอาคารของฝายมีลักษณะเหมือนยุบตัว ก้อนหินขนาดใหญ่ที่นำมาเรียงบริเวณด้านข้างได้ยุบลง มีร่องรอยของการกัดเซาะของน้ำลึกเข้าไปจนถึงหลักปูนบอกแนวถนน จนชาวบ้านไม่กล้าที่จะใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลังพนังดินเนื่องจากเกรงกลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากดินพนังทรุดตัว

ชาวกาฬสินธุ์ร้องตรวจสอบฝายสร้างไม่ถึงปีพังหลายแห่ง งบสูงเฉียดร้อยล้าน

อย่างไรก็ตามจากการสอบถามชาวบ้านจอมทอง ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ชาวบ้านจอมทองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ปลูกข้าวและพืชไร่ประเภท อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านจะใช้น้ำในลำพะยัง สำหรับเพาะปลูกพืชเกษตรซึ่งในช่วงหน้าแล้งน้ำในลำพะยังก็จะเหลือน้อยทำให้บางจุดเกิดการแห้งขอด โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา น้ำในลำพะยังแทบจะไม่มีเหลือสำหรับใช้ทำการเกษตร แต่ชาวบ้านก็ยังพอมีความหวังที่จะได้ใช้น้ำเมื่อได้มีการจัดสร้างฝายกั้นลำพะยังขึ้น แต่พอเมื่อน้ำหลากผ่านกลับพบว่าฝายกั้นลำพะยังที่พึ่งจะสร้างแล้วเสร็จใหม่ๆ เกิดการชำรุดขึ้นเสียแล้ว ซึ่งยังไม่ได้ใช้ประโยชน์

ชาวกาฬสินธุ์ร้องตรวจสอบฝายสร้างไม่ถึงปีพังหลายแห่ง งบสูงเฉียดร้อยล้าน

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลากที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับฝายกั้นน้ำลำพะยังแล้ว ยังมีฝายบ้านมะนาว ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ และฝายลำพะยัง บ้านพรหมสว่าง ต.ภูแล่นช้าง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งป้ายโครงการได้ระบุตัวหนังสือการใช้งบประมาณก่อสร้างเพิ่มเติมปีพ.ศ.2559 ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ เช่นกันนั้น มีสภาพได้รับความเสียหายอย่างหนัก พนังดินที่จัดสร้างขึ้นถูกน้ำกัดเซาะจนขาดไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ รวมถึงถูกน้ำกัดเซาะเป็นระยะทางยาว ชาวบ้านไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ส่วนท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ได้ถูกน้ำพัดพาหลุดไปกับสายน้ำ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้อาจทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์จากน้ำเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูแล้งที่จะมาถึง ทำให้ชาวบ้านเกิดความสงสัยเป็นอย่างมาก เพราะเบื้องต้นฝ่ายทั้ง 3 แห่งนี้ใช้งบประมาณมากคาดว่าเกือบ 100 ล้านบาท จึงอยากให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. และ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และปปท.เข้าทำการตรวจสอบมาตรฐานของโครงการก่อสร้างฝายลำพะยังแห่งนี้ว่าได้มาตรฐานจริงหรือไม่เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต

ชาวกาฬสินธุ์ร้องตรวจสอบฝายสร้างไม่ถึงปีพังหลายแห่ง งบสูงเฉียดร้อยล้าน

related