svasdssvasds

เด็กถูกทำร้าย จากครอบครัว กับการเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคตที่ดี

เด็กถูกทำร้าย จากครอบครัว กับการเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคตที่ดี

ผู้เชี่ยวชาญแนะแนวทางการดูแล เด็กถูกทำร้าย เพื่อสามารถให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตแข็งแรง และเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคตที่ดี

รศ. พญ. วนิดา เปาอินทร์ หัวหน้าดูแลเด็กถูกทำร้าย ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรคระบบทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณี เด็กถูกทำร้าย กรณีที่แม่แท้ๆ วางยาลูกของตนเอง ว่าตอนนี้เด็กอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้ว ถ้าถามถึงกระบวนการทำงาน จะเรียกกระบวนการทำงานนี้ว่า สหวิชาชีพ ในที่นี้หมายถึงว่าจะมีคนทำงานในโรงพยาบาล นอกโรงพยาบาลร่วมมือกัน ในโรงพยาบาลก็จะมีคนมาช่วยเยอะมาก ตั้งแต่ หมอ พยาบาล นักสังคม นักกฎหมาย นิติเวช ด้านจิตวิทยา จิตแพทย์ หมอศัลยกรรม หมอเอ็กซเรย์ที่ฉีดสี น้องค่อนข้างอาการหนักจึงต้องใช้หลายส่วน หลายภาควิชามาก เด็กจะอยู่ในส่วนกุมารเวชศาสตร์เป็นหลัก สำหรับหมอกุมารเวชศาสตร์ก็จะมีหลายคนที่ช่วยกันดู เมื่อเราแจ้งไปที่เจ้าหน้าที่พนักงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ตอนนี้เด็กจะได้รับการดูแลจากองค์กรภายนอก ทั้งของรัฐ เอกชน ในการทำงานเราต้องทำงานหลายภาคส่วน เพราะฉะนั้นก็จะมีการประชุมทั้ง พนักงานเจ้าหน้าที่อัยการ ตำรวจ พนักงานสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เดือนที่ผ่านมา มีการจับกุมแม่ที่ทำร้ายลูก ซึ่งเกิดจากการประชุมร่วมกัน โดยตำรวจไปดำเนินเรื่องกับศาลออกหมายจับ อีกส่วนก็คือ ทางอัยการ พนักงานคุ้มครองเด็กไปดำเนินการเรื่องขออำนาจฝ่ายปกครองเพื่อคุ้มครองเด็ก และอีกส่วนคือ การติดต่อประสานงานการรับเด็กเข้าไปสู่ครอบครัวอุปถัมป์ ทั้ง 3 ฝ่ายประสานงานกัน เชื่อมโยงกัน นัดแนะกัน ทำให้เกิดขึ้นได้ในวันเดียวกัน

"แพทย์ได้มีการทดสอบด้านจิตวิทยาของแม่เด็กไปแล้ว ยืนยันมาว่า ไม่ได้ป่วย เขาสามารถคิด วางแผน รู้ตัวขณะกระทำ ถ้าเราพูดถึงการป่วย คนๆ นั้นไม่สามารถที่จะรับรู้เรื่องราวได้ปกติ อย่างนั้นจึงเรียกว่าป่วย กรณีนี้ คุณแม่ไม่ได้ป่วย ส่วนอาการของเด็กตอนนี้กำลังอยู่ในระยะฟื้นฟู และในท้ายที่สุดมีความเป็นไปได้ที่จะกลับมาสมบูรณ์"

การวางแผนด้านการรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับตัวของเด็กเองในอนาคต

หมอต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เรากังวล และเตรียมความพร้อมไว้ ซึ่งหมอเองก็ไม่แน่ใจว่าเราควรจะบอกอะไรมากไปกว่านี้หรือเปล่า แต่ตอนนี้ยังคงเกี่ยวข้องกับอำนาจปกครองอยู่ ขออนุญาตไม่ให้รายละเอียดว่าเรากำลังทำงานอะไรอยู่ อยากให้รู้เพียงแต่ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องดำเนินการต่อจนกระทั่งเด็กสามารถเติบโตได้โดยที่ไม่ได้มีอดีตไปตามรบกวนการเติบโตต่อไปของเด็ก

มุมมองการเผยแพร่ชื่อเด็กในโลกโซเชียล

ในทางหลักการ จริงๆ แล้วไม่ควรมีชื่อเด็กตั้งแต่แรก หมอคิดว่าเรายังพยายามไม่พอ ในการปิดบังชื่อ จริงๆ หมอคิดว่าหมอก็ไม่ควรออกข่าวด้วยซ้ำ แต่เนื่องด้วยมีการนำเสนอข่าว เด็กถูกทำร้าย ออกไปเยอะ บางข่าวก็ค่อนข้างไม่ตรงนัก ในเมื่อเราหยุดข่าวไม่ได้ สู้เราออกมาเพื่อให้ข่าวเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเองจะดีกว่า เพราะว่าเราเป็นเจ้าของข่าวนั้น เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ในเมื่อมันหยุดไม่ได้ การรับข่าวที่ถูกต้องที่สุด ก็จะดีกว่าสำหรับสังคม และดีต่อสำหรับรูปคดีด้วย

รศ. พญ. วนิดา เปาอินทร์

รศ. พญ. วนิดา กล่าวเพิ่มเติมถึงเด็กที่โดนกระทำรุนแรงในปัจจุบันว่า ทำงานด้านนี้มา 10 กว่าปีแล้ว มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แม่หรือครอบครัวที่ทำร้ายเด็ก เขารักเด็ก หมายถึงรักจริงๆ มันมีปัจจัยเสี่ยงเยอะมาก มีเรื่องราวต่างๆ เข้ามาในครอบครัว และเมื่อเราทำงาน เราจะให้โอกาสครอบครัว เราจะดูว่าจะลดปัจจัยเสี่ยงได้อย่างไร เราจะสามารถปรับคนที่ทำร้ายเด็ก ควบคุมไม่ให้เขาทำร้ายเด็กได้หรือไม่ โดยควบคุมมาจากภายในของเขา หรือควบคุมจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัวเขา หรือว่าลดปัญหารวมถึงความเสี่ยงรอบๆ ได้อย่างไร เพราะว่าถ้าความเสี่ยงลดลง ความเสี่ยงในการทำร้ายเด็กก็จะลดลงไปด้วย เพราะฉะนั้น กรณีนี้จะเป็นกรณีที่พิเศษจริงๆ ไม่อยากให้สังคมรู้สึกว่า พ่อแม่ที่ทำร้ายเด็กคือคนเลวร้าย เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว เขาเป็นแค่คนที่ประสบปัญหาอย่างรุนแรง แล้วหลุดออกมาจากปัญหาไม่ได้ เมื่อเราทำให้ปัญหาเขาลดลง เขาก็จะหยุดทำร้ายเด็กได้

"จากการทำงานด้านเด็กที่ผ่านมากว่า 10 ปี หมอยังไม่พบเลยว่า ถ้าเด็กถูกทำร้าย คนในครอบครัวจะไม่ยอมออกมาปกป้องเด็ก หรือจะปกป้องแต่ผู้กระทำ ที่ผ่านมาคนอื่นๆ ในครอบครัวจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำนั้น หากมีแรงเขาก็จะยื่นมือมาช่วย ไม่มีแรงก็แค่ไม่เห็นด้วย ไม่เคยจะออกมาปกป้องผู้กระทำ เพราะฉะนั้นกรณีแบบนี้จึงไม่ใช่กรณีปกติ จึงอยากให้สังคมหายใจเข้าลึกๆ แล้วให้เชื่อประสบการณ์หมอ พ่อแม่ส่วนใหญ่คือคนดีค่ะ เขาต้องการความช่วยเหลือ ถ้าความช่วยเหลือของเราทำแล้วมันไม่ได้ ในที่นี้หมายถึงแก้ปัญหาเขาไม่ได้ ความจำเป็นในการแยกเด็กออกจากครอบครัวเหล่านี้ก็มีเช่นกัน ไม่ใช่ไม่มี เพราะว่าคนไม่สามารถปรับได้เร็ว สิ่งที่รุมล้อมเขาอยู่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ได้ในทันที จึงมีเด็กหลายคนที่จำเป็นต้องรับออกจากครอบครัวอยู่ดี"

รศ. พญ. วนิดา กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่เราเสพสื่อซ้ำ เรื่องราวเดียวกัน เราอาจไปดูเป็นร้อยครั้ง มันก็จะกลายเป็นร้อยเรื่องหรือเปล่า สมองจะถูกหลอก อยากให้อย่าพึ่งสิ้นศรัทธากับความดี คนดี หมอสังเกตว่าคนส่วนใหญ่จะรู้สึกโกรธแค้น เพราะเขาไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับเด็ก สังคมก็เป็นแนวทางเดียวกันว่า ไม่ยอมรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ซึ่งนี่ก็เป็นความดีอย่างหนึ่ง อยากให้เราตระหนักว่า มีส่วนร่วมในการปกป้องเด็กได้ หากพบเหตุช่วยแจ้ง หากแจ้งครั้งแรกไม่ได้ผลก็แจ้งต่อ เราอาจจะไปเจอคนที่สามารถที่จะช่วยเด็กได้จริงก็ได้ อย่าปล่อยผ่านไปแล้วเก็บไปนั่งคิดรู้สึกเสียใจในภายหลัง เด็กเขาไม่สามารถดูแลตัวเองได้อยู่แล้ว เขาต้องถูกดูแลโดยคนที่รักเขา ถ้าไม่แน่ใจในการแจ้งที่ไหน นึกไม่ออก หรือไม่รู้อะไร ก็ให้กดแจ้งไปที่สายด่วน 1300 ก็ได้

 

 

 

related