svasdssvasds

วิเคราะห์ การปิดตัว LINE IDOL ประโยชน์หรือโทษสำหรับผู้บริโภคสื่อ

วิเคราะห์ การปิดตัว LINE IDOL ประโยชน์หรือโทษสำหรับผู้บริโภคสื่อ

กรณีสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ อัด LINE ปิดระบบ LINE IDOL ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงสื่อได้อย่างอิสระ นอกจากการรับข่าวสารผ่าน LINE TODAY ฟีเจอร์ฟรีที่มีการคัดเลือกข่าวแบบใช้คนคัดกรอง

นี่อาจสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคในการเข้าถึงสื่อสารมวลชน แต่เลือกที่จะมองเป็น "ธุรกิจไม่สร้างรายได้" และตัดสินใจปิดฟีเจอร์นี้ก็เป็นได้

หลังจากที่ LINE ประเทศไทย ออกมาประกาศว่า จะยุติหน่วยธุรกิจ LINE IDOL ในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารของสถานีโทรทัศน์ สำนักข่าว สำนักพิมพ์ และสื่อสารมวลชนต่างๆ ที่ให้บริการมานานถึง 3 ปี 

ส่งผลให้ประชาชนอาจไม่สะดวกในการรับข่าวสารจากสื่อหลักต่าง ๆ ที่เคยกดติดตามหรือเข้าเป็นสมาชิก โดยจะปิดฟีเจอร์นี้อย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ และให้ผู้บริโภคไปรับชมข่าวสารจากเว็บไซต์และแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ แทน หรือรับชมจาก LINE TODAY ซึ่งเป็นระบบคัดกรองผ่านแพลตฟอร์มของ LINE แทนนั้น

อาจสะท้อนให้เห็นว่า LINE ยังยึดหลักของการสร้างรายได้เป็นหลัก เมื่อเห็นว่าการให้บริการของ LINE IDOL แก่ผู้ใช้งานทั่วไป ไม่ได้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เหมือนธุรกิจอื่น ๆ จึงเลือกที่จะปิดให้บริการและยุบฟีเจอร์ LINE IDOL ที่อยู่ภายใต้ LINE OA เพื่อมองหาโอกาสหาธุรกิจใหม่ๆ แทน

อย่างไรก็ตาม LINE IDOL นั้น แม้จะว่าสร้างขึ้นมาภายใต้ร่มของ LINE OA อยู่แล้ว และมีข้อตกลงว่าสื่อบางรายที่ยังคงเลือกใช้บริการนี้ ในการส่งมอบข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชน แม้จะต้องเป็นผู้แบกรับต้นทุนในการ Broadcast ข่าวสารให้แก่ประชาชนแทน LINE ก็ตาม 

แม้ทาง LINE จะแจ้งกับทาง กรุงเทพธุรกิจ ว่า เป็นนโยบายโกลบอลของบริษัทไลน์ คอร์ปอเรชั่น ด้วยเหตุผลของสภาพเศรษฐกิจ

อ่านข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สะท้อนให้เห็นชัดขึ้นว่า LINE คาดหวังรายได้จากอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนอย่างกลุ่มสื่อหลักและอินฟลูเอนเซอร์ นั่นคือ LINE ไม่เข้าใจเรื่องของวัฒนธรรมการบริโภคสื่อของคนไทย

ทางด้านของค่าบริการรายเดือน LINE OA ในการส่งข้อความหรือคลิกไปยังเว็บไซต์เพื่อสั่งซื้อสินค้านั้น

ราคาจะแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

  • Free ส่งข้อความบรอดแคสต์ได้ 1,000 ข้อความ (ไม่คิดค่าบริการในการส่ง)
  • Basic ราคา 1,200 บาท ส่งข้อความบรอดแคสต์ได้ 15,000 ข้อความ (ราคาต่อข้อความที่เกินจากแพ็กเกจ 0.08 บาท/ข้อความ)
  • PRO ราคา 1,500 บาท ส่งข้อความบรอดแคสต์ได้ 35,000 ข้อความ (ราคาต่อข้อความที่เกินจากแพ็กเกจ 0.04 บาท/ข้อความ)

ยกตัวอย่าง หากสำนักข่าว A เลือกใช้บริการแพ็กเกจ PRO เพื่อส่งข้อความหาผู้ติดตาม 100,000 คน โดยมีการนำเสนอข่าวสารแบบบรอดแคสต์ วันละ 5 ข้อความ/วัน เท่ากับต้องส่งข้อความบรอดแคสต์ 150 ข้อความ/เดือน (100,000 x 150 = 15,000,000 ข้อความต่อเดือน) (Reach x ข้อความ)

เมื่อคุณหักค่าแพ็กเกจ PRO ที่ส่งข้อความได้ 35,000 ข้อความต่อเดือนแล้ว (15,000,000 - 35,000 = 14,965,000) สื่อจะต้องเสียค่าบริการเพิ่ม 0.04 บาท ให้แก่ 14,965,000 ข้อความที่เหลือนี้ ทำให้สื่อต้องเสียค่าบริการเพิ่ม นอกจากค่าแพ็กเกจ อีก 14,965,000 x 0.04 = 598,600 บาท/เดือน 

จากนั้นรวมค่าบริการทั้งสองด้าน คือ ค่าแพคเกจ 1,500 + 598,600 = 600,100 บาท ต่อเดือน

วิเคราะห์ การปิดตัว LINE IDOL ประโยชน์หรือโทษสำหรับผู้บริโภคสื่อ

ทำให้เห็นว่า ธุรกิจสื่อเจอผลกระทบเต็ม ๆ จากการปิดบริการนี้ ที่นอกจากต้นทุนในการนำเสนอข่าวในช่องทางอื่นๆ แล้ว ยังต้องเสียค่าบริการในการใช้แพลตฟอร์มของ LINE อีก

ประกอบกับพฤติกรรมการรับสื่อของคนไทยนั้น ไม่นิยมที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแบบยอมจ่าย Subscription แต่เลือกที่จะเสพสื่อฟรี 

อย่างไรก็ตาม ทาง LINE เอง ก็มี LINE TODAY ในการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข่าวสารฟรีอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าข่าวที่นำเสนอผ่าน LINE TODAY จะมาจากการคัดเลือกของคนทำงานหลังบ้าน ที่เลือกแต่ข่าวดราม่าที่มียอดเอนเกจดีๆ มากกว่าข่าวที่เป็นประโยชน์หรือสาระสำคัญ แต่กลับเปิดบริการ LINE IDOL ขึ้นมาเสริมเพื่อหวังรายได้จากอุตสาหกรรมสื่อและอินฟลูเอนเซอร์

รวมทั้งการปิดฟีเจอร์นี้ไป ก็ไม่ได้มีทางเลือกให้สื่อและอินฟลูเอนเซอร์ได้วางแผนปรับตัว แม้จะกล่าวอ้างว่าบอกล่วงหน้า 4 เดือน แต่ไม่ได้มีรายละเอียดชัดเจนว่ามีแผนสำรองอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ LINE IDOL อยู่ภายใต้ธุรกิจ LINE OA การจะย้ายข้อมูลจากฝั่ง LINE IDOL ไปควบรวมกับฝั่งคอนเทนต์อย่าง LINE TODAY ก็ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นการทำธุรกิจคนละ Business Unit กัน

ผลกระทบจึงตกมาที่ฝั่งผู้บริโภคที่เสียช่องทางการเข้าถึงข่าวสารไปหนึ่งช่องทาง ในมุมของสื่อสารมวลชนก็เสียฐานผู้ติดตามหลักไป ทั้งที่สื่อและอินฟลูเอนเซอร์ก็ถือว่าเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ส่วนหนึ่ง ที่ช่วยดึงผู้บริโภคให้เข้ามาใช้งานเพิ่ม เพราะเป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ จนทำให้ LINE กลายเป็นแพลตฟอร์มข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม LINE OA ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มใช้สำหรับหาเงินของ LINE อยู่แล้ว ดูได้จากรูปแบบการให้บริการอย่างที่ให้เชื่อมโยงการทำงานของ LINE OA กับอีคอมเมิร์ซ (Shop, Payment, Delivery) รวมทั้งการทำงานกับนักการตลาดและแบรนด์ในการลงโฆษณาโปรโมทสินค้า

ซึ่งการที่ดึงสื่อสารมวลชนเข้ามาไว้ใต้ร่ม LINE OA แต่แรก อาจกล่าวได้ว่า "เดินผิดทาง" หรือ อาจจะไม่เข้าใจในอุตสาหกรรมสื่อที่ดีพอ จนลุกลามกลายเป็นปัญหาแบบในตอนนี้

 

ที่มา : LINEContent Shifu, กรุงเทพธุรกิจ

 

related