svasdssvasds

เมื่อ AI ถูกนำมาใช้กับการเมือง ผู้คนต่างจับตามอง ใช้ “ช่วย” หรือใช้ “โกง

เมื่อ AI ถูกนำมาใช้กับการเมือง ผู้คนต่างจับตามอง ใช้ “ช่วย” หรือใช้ “โกง

ปีนี้โลกของเรากำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในกว่า 60 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย อินเดีย เป็นต้น ดังนั้นหากจะเรียกว่า ปี 2024 เป็นปีแห่งการเลือกตั้ง ก็คงจะไม่ผิดนัก และสิ่งที่น่าสนใจในเวลานี้ก็คงหนีไม่พ้นการหาเสียงเลือกตั้ง

ซึ่งผู้ท้าชิงต่างทุ่มแรงกายแรงใจอย่างเต็มร้อย เพื่อจะกวาดเอาเสียงสนับสนุน แต่ปีนี้สิ่งที่ต่างออกไปสำหรับการหาเสียงเลือกตั้ง คือการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เข้ามาช่วย และนั่นสร้างการถกเถียงในสังคมว่า เอไอสามารถทำให้เกิดการโกงการเลือกตั้งได้หรือไม่

สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯกำลังจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปี 2024 และในช่วงเวลานี้ เป็นเวลาที่ทั้งพรรคแดโมแครตและรีพับลิกันกำลังหาตัวแทนพรรคไปชิงตำแหน่ง โดยยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากแดโมแครต จะได้กลับมาเจอกับผู้ท้าชิงเก่าอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีหรือไม่

ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ เราเห็นเอไอเข้ามาบทบาท เช่น ดีน ฟิลิป ผู้ท้าชิงขอเป็นตัวแทนพรรคแดโมแครต ซึ่งต้องมาแข่งกับประธานาธิบดีไบเดน ได้ใช้ “แชทจีพีที” ซึ่งเป็นแชทบอทเอไอในการพูดคุยตอบโต้กับผู้สนับสนุน ในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งของเขา

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา บริษัท OpenAI ผู้สร้างแชทจีพีที ก็ออกมาแบนบัญชีที่ใช้ในการหาเสียงดังกล่าว เพราะมันผิดกฎที่ทางบริษัทห้ามไม่ให้นำแชทบอทดังกล่าวไปใช้ในทางการเมือง และปลอมหรือเลียนแบบเป็นบุคคลอื่นโดยที่คนนั้นมิได้ยินยอม

แม้จะถูกใช้ในเชิงสร้างสรรค์ แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต ในทางกลับกัน เอไอกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างข่าวปลอม อย่างกรณีก่อนหน้านี้ มีการปล่อยเสียงพูดคุยโทรศัพท์ปลอมของประธานาธิบดีไบเดน กำลังบอกเหล่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในรัฐนิวแฮมเชียร์ว่าไม่ต้องออกมาใช้สิทธิ์ไพรมมารี่โหวต หรือการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหยั่งเสียงหาตัวแทนของพรรคไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

อัยการกำลังสอบสวนเรื่องเสียงปลอมดังกล่าว ซึ่งทำมาจากเอไอ และทางคณะกรรมาการสื่อสารแห่งรัฐ หรือ FCC ก็ได้ประกาศสั่งแบนการใช้เอไอผลิตเสียงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าไปอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีภาพปลอมขณะทรัมป์ถูกจับ และภาพปลอมของไบเดนขณะสวมเครื่องแบบทหารด้วย ซึ่งทั้งหมดสร้างขึ้นมาจากเครื่องมือเอไอ

ล่าสุด บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างน้อย 6 แห่งกำลังวางแผนที่จะลงนามในข้อตกลงภายในสัปดาห์นี้ เพื่อหาแนวทางยับยั้งไม่ให้มีการใช้เอไอไปแทรกแซงการเลือกตั้งอันเป็นประชาธิปไตย

อินเดีย กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และก็เริ่มพบเห็นการนำเอเอมาใช้ประโยชน์ในทางการเมืองกันแล้ว โดยเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา นายเอ็ม กรุณานิธิ นักการเมืองชื่อดังของอินเดียที่ล่วงลับไปแล้ว ปรากฏตัวบนหน้าจอ แสดงความยินดีกับเพื่อนรักคนหนึ่ง นายทีอาร์ บาลู เนื่องในวันเปิดตัวหนังสืออัตชีวประวัติของนายบาลูเอง แต่ในระหว่างนั้น นายเอ็มก็ได้พูดยกย่องไปถึงลูกชายของเขานายเอ็มเค สตาลิน ประธานพรรค DMK และมุขมนตรีแห่งรัฐทมิฬนาฑู ถึงความสามารถในการปกครองรัฐด้วย

นายเอ็ม กรุณานิธิ เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2018 แต่นี่เป็นครั้งที่สามแล้วในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ที่พรรค DMK ใช้เอไอชุบชีวิตของผู้นำคนดังกลับขึ้นมาเพื่อออกงาน โดยครั้งแรกคืองานท้องถิ่นเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

ทั้งนี้ การเลือกตั้งของอินเดียยังไม่ได้กำหนดวันอย่างเป็นทางการ แต่ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องจัดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งคาดว่า การเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม แต่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่น่าจับตามอง เพราะนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันยังคงได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน โดยหลายโพลก็ชี้ว่า ประชาชนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ยังคงเห็นชอบให้เขานั่งเก้าอี้ตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไป

วิดีโอนายพลซูฮาร์โต ประธานาธิบดีคนที่สองแห่งอินโดนีเซีย ซึ่งปกครองประเทศมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนบนโลกออนไลน์ ทั้งเอ็กซ์ ติ๊กต่อก เฟซบุ๊ก และยูทูป โดยวิดีโอความยาวสามนาทีมีผู้รับชมรวมกันมากกว่า 4.7 ล้านครั้ง แม้จะเหมือนมาก แต่นี่ไม่ใช่ตัวจริงแน่ๆ เพราะมีการใช้เทคโนโลยี deepfake ของเอไอทำเลียนแบบขึ้นมา เนื่องจากซูฮาร์โตเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2008 ขณะมีอายุได้ 86 ปี

เออร์วิน อัคซา ผู้ช่วยประธานกลุ่มกลการ์ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลร่วมที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดอีกพรรคหนึ่งของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า วิดีโอถูกทำขึ้นมาเพื่อเตือนพวกเราว่า เสียงของทุกคนมีความสำคัญมากแค่ไหนในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ทั้งนี้ กลการ์ไม่ได้ส่งผู้ท้าชิงประธานาธิบดี แต่ทุ่มการสนับสนุนทั้งหมดไปที่นายปราโบโว ซูเบียนโต อดีตนายพลที่เคยอยู่ภายใต้กองทัพนายพลซูฮาร์โต และยังเป็นอดีตลูกเขยของนายพลซูฮาร์โตด้วย

อัคซาบอกว่า ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่มกลการ์ เขาภูมิใจในนายพลซูฮาร์โตมาก เพราะซูฮาร์โตพัฒนาอินโดนีเซียอย่างประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม บนโลกออนไลน์มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่แตกต่างกันออกไป กับการใช้ภาพและเสียงของซูฮาร์โตเพื่อหาเสียง โดยหลายคนมองว่า การนำเผด็จการที่เสียชีวิตไปแล้วมาปรากฏตัว มันเหมือนมาหลอกและมาทำให้คนหวาดกลัวการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ การเลือกตั้งของอินโดนีเซียมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และพบว่า นายซูเบียนโตน่าจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งไปครอง

ที่มา : The GuardianAP News , ABC NewsAljazeeraCNN

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

related