svasdssvasds

สรุปให้ ปมไทยจัดซื้อ Antigen Test Kit 8.5 ล้านชุด ที่สหรัฐฯ ระงับการใช้

สรุปให้ ปมไทยจัดซื้อ Antigen Test Kit 8.5 ล้านชุด ที่สหรัฐฯ ระงับการใช้

SpringNews สรุปดราม่าปมจัดซื้อ Antigen Test Kit 8.5 ล้านชุด หลังจากชมรมแพทย์ชนบทออกมาเปิดโปงว่า ยี่ห้อที่ชนะการประมูลในไทย เป็นยี่ห้อที่ถูกสหรัฐฯ ระงับการใช้

ยังคงเป็นที่จับตา กรณีการจัดซื้อชุดตรวจชุดโควิด Antigen Test Kit จำนวน 8.5 ล้านชุด ซึ่งต่อมาได้มีการทักท้วงจากชมรมแพทย์ชนบทว่า เป็นชุดตรวจยี่ห้อเดียวกับที่องค์การอาหารและยาสหรัฐ (United States Food and Drug Administration) หรือ FDA สั่งระงับการใช้

โดย SpringNews ขอสรุปดราม่าปมไทยจัดซื้อ Antigen Test Kit 8.5 ล้านชุด โดยเนื้อหาหลักนำมาจากรายการเจาะลึกทั่วไทย inside Thailand เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ดังต่อไปนี้

1. มติ สปสช.ให้จัดซื้อ Antigen Test Kit 8.5 ล้านชุด

เมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคม ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเพิ่มชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit ในวงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท เพื่อจัดหาชุดตรวจให้หน่วยบริการนำไปแจกจ่ายกับประชาชนทุกคนทุกสิทธิต่อไป

ตรวจโควิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2. สปสช. ทำหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อเองไม่ได้

แต่ตามข้อกำหนดว่าด้วยระเบียบราชการต่างๆ ของภาครัฐ สปสช. ไม่สามารถจจัดซื้อเองได้ องค์การเภสัชกรรมจึงเข้ามาดำเนินการในเรื่องการจัดซื้อให้ โดย สปสช. ได้ระบุสเปกที่ต้องการ ดังนี้

2.1 ต้องเป็นยี่ห้อที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรอง

2.2 มีการใช้งานจริงในหลายประเทศ

2.3 สามารถส่งมอบได้ภายในเวลาที่กำหนด

2.4 ราคาอยูในระดับที่รับได้

ซึ่งคำว่า “ราคาที่รับได้” ในที่นี้ของ สปสช. ไม่ได้หมายถึงราคาที่ต่ำสุด เพราะถ้าวัดที่ราคาต่ำสุดแล้ว ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า อาจจะได้ของราคาถูก แต่ไม่มีคุณภาพ

ตรวจโควิด

3. องค์การเภสัชกรรม เปิดให้มีการประมูลแบบทั่วไป โดยยึดราคาต่ำสุด

จากสเปกที่ สปสช.ให้ไว้ บวกกับเป็นการจัดซื้ออย่างเร่งด่วน ซึ่งในกรณีนี้องค์การเภสัชกรรมสามารถใช้เกณฑ์แบบเฉพาะเจาะจงได้ นั่นก็คือ ไม่จำเป็นต้องยึดราคาต่ำสุด

แต่แล้วองค์การเภสัชกรรม ก็ยังคงใช้เกณฑ์การประมูลแบบทั่วไป ทำให้ ชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit ยี่ห้อ Lepo ที่นำเข้าโดยบริษัทออสท์แลนด์ แคปปิตอล ที่เสนอราคา 65 บาท เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพื่มแล้วเท่ากับ 70 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุด ชนะการประมูลไป

ในการประมูลดังกล่าว มีบริษัทที่ผ่านเกณฑ์เข้าร่วม 16 บริษัท โดยมีบริษัทหนึ่งที่เป็นตัวแทนนำเข้า Antigen Test Kit ยี่ห้อที่ได้รับการรับรององค์การอนามัยโลกแล้ว เสนอราคาที่ 93.46 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่ก็ต้องพ่ายไป ด้วยเกณฑ์การประมูลแบบทั่วไปขององค์การเภสัชกรรม

ตรวจโควิด

4. ชมรมแพทย์ชนบท ทักท้วง พร้อมแฉ Antigen Test Kit ที่ชนะการประมูล ถูกระงับการใช้ในสหรัฐฯ

ต่อมาชมรมแพทย์ชนบท ก็ได้ออกมาทักท้วงว่า ชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit ยี่ห้อ Lepo เป็นชุดตรวจยี่ห้อเดียวกับที่องค์การอาหารและยาสหรัฐ (United States Food and Drug Administration) หรือ FDA สั่งระงับการใช้ เพราะมีปัญหาด้านคุณภาพ และถูกเรียกคืนจากตลาด ซึ่งเป็นการเรียกคืนประเภทที่ 1 ที่เป็นประเภทการเรียกคืนที่ร้ายแรงที่สุด อีกทั้งยังไม่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

ตรวจโควิด

5. องค์การเภสัชกรรม แจง เคยถาม สปปช. จะให้ใช้เกณฑ์ประมูลแบบใด แต่มีท่าทีไม่ชัดเจน

ในประเด็นการประมูล ศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รอง ผอ.องค์การเภสัชกรรม ได้เคยให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย inside Thailand เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ว่า มียี่ห้อเดียวที่ WHO รับรอง และขึ้นทะเบียนกับ อย.ไทย

อีกทั้งยังถาม สปสช. ว่า ยืนยันหรือไม่ว่า จะให้ใช้วิธีการจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง แต่ สปสช.มีท่าทีที่ไม่ชัดเจน ทำให้องค์การเภสัชกรรมต้องกลับไปใช้วิธีการประมูลแบบปกติทั่วไป (ผู้เสนอราคาต่ำสุด ชนะการประมูล)

ส่วนประเด็นที่ FDA สั่งระงับการใช้ Lepo รอง ผอ.องค์การเภสัชกรรม ได้กล่าวในทำนองที่ว่า อย.ไทย รับรอง อย.สหรัฐจะเรียกคืน ไม่เกี่ยวกัน เมื่อ อย.ไทย รับรอง ก็ต้องยึดตามนั้น

โดยให้ข้อมูลว่า อย. ไทยไม่ไช่ตรวจสอบเฉพาะเอกสารเท่านั้น แต่ยังมีการทดลอง แล้วชุดตรวจโควิดดังกล่าวก็ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

ตรวจโควิด

6. สปสช. ซัดกลับองค์กรเภสัชกรรม โกหกออกอากาศ  

ซึ่งในประเด็นที่ รอง ผอ.องค์การเภสัชกรรมอ้างว่า ได้สอบถาม สปสช.แล้ว จะให้ใช้การประมูลแบบเฉพาะเจาะจงหรือไม่ แต่ทาง สปสช. ไม่ยืนยัน ทางองค์การเภสัชกรรม จึงใช้การประมูลแบบทั่วไปนั้น

ต่อมา นายเเพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารสุข สปสช. ได้ซัดกลับผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ว่า

“โกหกครับ โกหกครับ เพราะผมอยู่ในคณะทำงาน รู้ระเบียบที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วว่า กรมบัญชีกลาง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และกฤษฎีกา เห็นชอบและรับรู้ในระเบียบข้อ 115 คือสามารถใช้วิธีพิเศษในสถานการณ์เร่งด่วน หรือการเลือกเฉพาะจงเจาะในการจัดซื้อได้ เพราะออกโดยกรมบัญชีกลางอยู่แล้ว

“จริงๆ มีลับลมคมใน เพราะในมติวันที่ 15 ก.ค. บอกว่าให้ประสานกับคณะกรรมการต่อรองราคา เเต่ไม่มีการประสานกลับมา ไปดำเนินการก่อนเลย บอกว่าจะเเบ่งซื้อก่อน 1 ล้านชุดช่วงเเรก เเละจะซื้ออีกบริษัทหนึ่งในราคาที่เเพงกว่าที่เราเสนอไป เพราะผ่านมติบอร์ดว่าต้องในราคา 120 บาท รวมค่าขนส่ง สถานที่เเละไม่มีค่าเเอดมินใดๆ

“เเต่ อภ.ก็ไปดำเนินการจัดซื้อจัดหา โดยเลขา สปสช. ประสานกับผมว่า ผู้ประสานงานเเจ้งรายงานว่าจะเริ่มมีการจัดซื้อเเล้ว เบื้องต้นจะเเยกซื้อไปก่อน 1 ล้านเทส โดนอ้างว่าต้องการเร่งด่วน เเละอีก 7.5 ล้านชุดจะไปใช้วิธีการประมูล

“เราบอกไปว่า ไม่เห็นด้วย จะเเบ่งทำไม เเละเราสืบวงในมาได้ว่า จะจัดซื้อก่อนในราคา 200 บาท (รวมค่าชนส่ง) ซึ่งจากที่เราต่อรองเบื้องต้นเเล้ว 120 บาท (รวมค่าขนส่งแล้ว) จึงเกิดการประมูล 8.5 ล้านชุดขึ้น และให้ผมมาเป็นผู้สังเกตการณ์ ที่ไม่ได้ทราบกระบวนการใดๆ มาก่อนเลย”

ตรวจโควิด

7. ผลประกอบการของบริษัทออสท์แลนด์ แคปปิตอล ตัวแทนนำเข้า Lepo

และจากดราม่าดังกล่าว ทำให้สังคมเกิดความสนใจเกี่ยวกับ บริษัทออสท์แลนด์ แคปปิตอล ตัวแทนนำเข้า Lepo ที่ชนะการประมูล โดยรายการ เจาะลึกทั่วไทย inside Thailand ได้นำเสนอผลประกอบการของบริษัทออสท์แลนด์ ย้อนหลัง 3 ปี ดังต่อไปนี้

ปี 2561 : สินทรัพย์ 7,333,778 บาท / หนี้สิน 12,029,756 บาท / รายได้ 4,501 บาท / ค่าใช้จ่าย 347,305 บาท / ขาดทุน 342,803 บาท

ปี 2562 : สินทรัพย์ 191,475 บาท / หนี้สิน 4,290,106 บาท / รายได้ 2,218 บาท / ค่าใช้จ่าย 43,871 บาท / ขาดทุน 41,652 บาท

ปี 2563 : สินทรัพย์ 173,974 บาท / หนี้สิน 4,938,106 บาท / รายได้ ไม่ระบุ / ค่าใช้จ่าย 26,500 บาท / ขาดทุน 26,500 บาท

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่า บริษัทออสท์แลนด์ ขาดทุนต่อเนื่องมาอย่างน้อย 3 ปี มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์เป็นจำนวนมาก

และเสมือนกับว่า ไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้ว แม้จะมีการยื่นภาษี แต่ก็เป็นการยื่นที่เสมือนไม่มีการดำเนินธุรกิจ แต่กลับมีศักยภาพสามารถชนะประมูล Antigen Test Kit มูลค่ารวม 595 ล้านบาทได้  

โดยบริษัทนี้ ก่อตั้งเมื่อปี 2557 ให้บริการเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านพาณิชยกรรม การค้าระหว่างประเทศ มีผู้ถือหุ้น 3 คน เป็นคนไทย 1 ราย (ผู้ถือหุ้นใหญ่) และมีบริษัทต่างประเทศ 2 บริษัท ร่วมถือหุ้นด้วย มีกรรมการ 3 ราย เป็นคนไทย 1 และชาวต่างชาติ 2 ราย

ตรวจโควิด

8. ออสท์แลนด์ แคปปิตอล แถลง แจงปม Antigen Test Kit 8.5 ล้านชุด  

เมื่อวานนี้ (13 ส.ค.) รังสินี หวังมั่น product specialist บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด และ ศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) และกรรมการบริหารบริษัท World Medical Alliance (Thailand) จำกัด ก็ได้ออกมาชี้แจงกับผู้สื่อข่าวในประเด็นที่สังคมค้างคาใจ ผ่าน Zoom ดังนี้

ในประเด็นที่ FDA สหรัฐฯ เรียกเก็บสินค้าคืน (ระงับการใช้) เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว บริษัทได้มีการชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นเพราะปัญหาด้านคุณภาพขอผลิตภัณฑ์ แต่พบว่ามีผู้ลักลอบนำเข้าไปจำหน่าย โดยยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.ของสหรัฐฯ ซึ่งทางบริษัทผลิตไม่รู้เรื่อง แต่หลังจากนั้น FDA ของสหรัฐฯ ก็ได้ส่งหนังสือเชิญ Lepo ให้ไปขึ้นทะเบียน

อีกทั้งยืนยันว่า ชุดตรวจ Lupo มีการส่งออกจำหน่ายใน 24 ประเทศทั่วโลก อาทิ อาเจนตินา เยอรมนี สวีเดน อิตาลี ญี่ปุ่น เป็นต้น

ส่วนการยื่นประมูลกับไทยในครั้งนี้ เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท World Medical Alliance (Thailand) จำกัด ในเครือบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด

ตรวจโควิด

9. องค์การเภสัชกรรม กับ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยัน Lupo มีคุณภาพ

และเมื่อวานนี้เช่นกัน  นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา , นพ.วิฑูรย์  ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ได้ร่วมกันชี้แจงปมร้อน Antigen Test Kit สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ในประเด็นที่ Lepo ถูกระงับการใช้ในสหรัฐฯ นั้น ได้ชี้แจงว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องคุณภาพ แต่สืบเนื่องมาจากพบผู้นำชุดตรวจของบริษัทดังกล่าว มาวางจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงจำเป็นต้องมีการเรียกคืนสินค้า

พร้อมยืนยันว่า Lepo ได้ผ่านการทดลองจาก อย.และผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี จึงอยู่ในกรอบมาตรฐานการตรวจสอบทั้งหมด เป็นไปตามเกณฑ์ทุกประการ

แต่เมื่อสังคมทักท้วง องค์การเภสัชกรรม จึงได้ชะลอการสั่งซื้อและขอตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่า ได้ดำเนินการประมูลด้วยความโปร่งใส ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ที่กฎหมายกำหนด

10. สรุปแล้ว Lepo ถูกระงับการใช้ในสหรัฐฯ เพราะสาเหตุใด ?

จากการแถลงทั้งบริษัทที่นำเข้า ร่วมถึงองค์การเภสัชกรรม กับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต่างระบุตรงกันว่า สาเหตุที่ Lepo ถูกระงับการใช้ในสหรัฐ ไม่ใช่เพราะปัญหาด้านคุณภาพ แต่สืบเนื่องมาจากมีผู้ลักลอบนำเข้าไปจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.สหรัฐฯ นั้น

แตกต่างจากข้อมูลของชมรมแพทย์ชนบท ที่ออกมาเปิดโปงก่อนหน้านี้ว่า สาเหตุที่ถูกสหรัฐระงับการใช้ ก็เพราะมีปัญหาด้านคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ให้ผลตรวจไม่แม่นยำ

และแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ของชมรมแพทย์ชนบทในวันนี้ ก็ได้มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “แม้ว่า Lepo จะผ่านเกณฑ์ อย.รวมทั้งผ่านการประเมินเทคโนโลยีจากรามาธิบดี (ด้วยจำนวนทดสอบ 150 ตัวอย่าง)

“แต่งานวิจัยในวารสารระดับโลกหลายชิ้น มีข้อสรุปถึงความไม่มีประสิทธิภาพของ Lepo อาทิ งานวิจัยในวารสาร Virology Journal ที่ศึกษาในปากีสถาน ในผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ Lepo 33,000 คน พบว่า Lepo มีความไวน้อยมาก พบผลลบเทียมสูงถึง 48% (มีเชื้อเป็นบวก แต่ผลการตรวจเป็นลบไม่มีเชื้อ) ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลที่ Lepo นำมาเสนอต่อ อย.ไทย ที่มีความไวถึง 90%”

และทั้งหมดนี้ก็คือปมการจัดซื้อ Antigen Test Kit 8.5 ล้านชุด ของไทย ที่ถูกสหรัฐฯ ระงับการใช้ โดยสิ่งค้างคาใจนั่นก็คือ คุณภาพของ Lepo ที่ทั้งสองฝ่ายยังให้ข้อมูลขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า บทสรุปของเรื่องนี้จะลงเอยเช่นใด

ที่มา 

LIVE เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand 13 ส.ค. 64

แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท

แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท ฉบับที่ 2

กรุงเทพธุรกิจ : 'ออสท์แลนด์' แจงชุดตรวจ ATK 'Lepu' ผ่านมาตรฐานยุโรป

related