svasdssvasds

สหรัฐฯ จีน รัสเซีย l สามก๊กในยุคสงครามเย็น รอบใหม่

สหรัฐฯ จีน รัสเซีย l สามก๊กในยุคสงครามเย็น รอบใหม่

ยุคสงครามเย็น ครั้งที่ 1 ระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียต ทำให้โลกตกอยู่ในความอึมครึม ตึงเครียด รวม 45 ปี ส่วนสงครามเย็น รอบใหม่ คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตรัสเซีย - ยูเครน

จากวิกฤตสงครามรัสเซีย - ยูเครน ที่กำลังระอุอยู่ในเวลานี้ ทำให้เกิดการคาดการณ์กันว่า โลกกำลังเข้าสู่ ยุคสงครามเย็น ครั้งที่ 2 หรือสงครามเย็น รอบใหม่ ส่วนจะมีรูปแบบใกล้เคียง หรือแตกต่างกันอย่างไรนั้น SpringNews ขอรวบรวมข้อมูลมานำเสนอ และวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของรูปแบบสงครามเย็น รอบใหม่ ดังต่อไปนี้

1. ยุคสงครามเย็น

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพชัดๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จึงขอย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปี 2488 (ค.ศ.1945) หรือเมื่อประมาณ 77 ปีที่แล้ว โดยสหรัฐอเมริกา กับโซเวียต ได้ก้าวขึ้นมาเป็น 2 มหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก

ทั้งสองประเทศขยายอิทธิพลผ่านระบอบการเมือง โดยสหรัฐฯ เป็นบิ๊กบราเธอร์ ในฟากฝั่งประเทศประชาธิปไตย ส่วนโซเวียต เป็นบิ๊กบราเธอร์ในฟากฝั่งประเทศคอมมิวนิวต์

ซึ่งด้วยศักยภาพการรบ อาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะจำนวนของนิวเคลียร์ที่สูสีกัน ทั้งสองประเทศจึงหลีกเลี่ยงทำสงครามซึ่งซึ่งหน้า แต่เลือกใช้การทำสงครามตัวแทนผ่านประเทศต่างๆ

โดยในปี 2492 (ค.ศ. 1949) ได้มีการก่อตั้งองค์การนาโต้ (NATO) หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ เน้นให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกด้านการทหาร ส่วนโซเวียตก็ก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw) เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ  

บรรยากาศของโลกในยุคสงครามเย็น จึงเต็มไปด้วยความอึมครึม ความตึงเครียด ที่สร้างความหวาดหวั่นให้กับชาวโลกว่า จะเกิดสงครามนิวเคลียร์เข้าสักวัน ซึ่งโลกตกอยู่ในสภาพอึดอัดอย่างนี้เป็นเวลารวม 45 ปี

องค์การนาโต้ (NATO) หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ

2. ยุคหลังสงครามเย็น

ยุคสงครามเย็น สิ้นสุดลงหลังการล่มสลายของโซเวียต เมื่อปี 2534 (ค.ศ.1991) และได้มีการแตกออกเป็นประเทศต่างๆ 15 ประเทศ แล้วรัสเซีย หรือโซเวียต ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย โดยมีข้อตกลงก่อนหน้านั้นว่า นาโต้จะไม่รับประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตเข้าเป็นสมาชิก

ในช่วงแรกๆ นอกจากรัสเซียสูญสิ้นอิทธิพลบนเวทีโลกแล้ว เศรษฐกิจก็ยังตกต่ำอย่างหนัก อันเนื่องมาจากความอ่อนแอของ บอริส เยลต์ซิน ผู้นำรัสเซียในเวลานั้น ทำให้หลายๆ ประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต เข้าไปอยู่ใต้ร่มเงาของสหรัฐฯ ผ่านการแสดงเจตจำนงเป็นสมาชิกนาโต้ ทำให้รัสเซียตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบด้านยุทธภูมิศาสตร์กับสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก นับจากนั้นมา

ในช่วงเวลาที่รัสเซียหมดอำนาจ สูญเสียตำแหน่ง 1 ใน 2 บิ๊กบราเธอร์โลก จีนก็ได้มีการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจขนานใหญ่ ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีทันสมัย ทำให้จีนผงาดโดดเด่นบนเวทีโลกขึ้นเรื่อยๆ แต่โดยรวมๆ แล้ว ในยุคหลังสงครามเย็น ก็ต้องถือว่า สหรัฐฯ เป็นบิ๊กบราเธอร์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

3. ยุคสงครามเย็น รอบใหม่

รัสเซียต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปี จึงสามารถตั้งหลักกลับมาผงาดได้อีก เมื่อวลาดิเมียร์ ปูติน ขึ้นมาเป็นผู้นำตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ฟื้นฟูประเทศทั้งด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ จากหมีป่วยก็กลับมาเป็นหมีขาวที่น่าเกรงขามได้ในที่สุด

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา วลาดิเมียร์ ปูติน คือผู้ทรงอิทธพลตัวจริงในรัสเซีย แม้ต้องว่างเว้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีในบางช่วง แต่เขาก็ยังคงมีอำนาจสูงสุด โดยได้แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะทำให้รัสเซียกลับมายิ่งใหญ่ให้ได้อีก

และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ก็จำเป็นที่ต้องแสดงแสนยานุภาพทางการทหารให้ปรากฏในสงครามต่างๆ ล่าสุดก็คือกรณีของยูเครน ที่มีความพยายามเข้าเป็นสมาชิกนาโต้อย่างไม่ลดละ รัสเซียจึงตัดสินใจเปิดศึกถล่ม ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า จะลงเอยอย่างไร

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

4. ยุคสงครามเย็น รอบใหม่ กับการชิงอำนาจแบบสามก๊ก

สงครามรัสเซีย - ยูเครน หากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร ไม่สามารถกดดันรัสเซียให้ถอยทัพ ส่งผลให้ยูเครนต้องยอมล้มเลิกความพยายามเป็นสมาชิกนาโต้ และยอมประกาศตัวเป็นประเทศที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ตามที่รัสเซียกำหนด ก็จะทำให้สถานภาพบิ๊กบราเธอร์โลกของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบอย่างเต็มๆ เปิดทางสู่ยุคสงครามเย็น รอบใหม่ ในที่สุด

ส่วนความแตกต่างระหว่างยุคสงครามเย็น รอบแรก กับยุคสงครามเย็น รอบใหม่ ที่มี สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน เป็น 3 บิ๊กบราเธอร์ จะไม่ใช่การใช้สงครามตัวแทนผ่านการเลือกข้างในระบอบการปกครอง แต่จะเป็นการชิงอำนาจในรูปแบบสามก๊ก

และเพื่อให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนถึงการต่อสู้ชิงอำนาจในลักษณะดังกล่าว SpringNews จึงขอนำเรื่องราวในพงศาวดารและวรรณกรรมสามก๊ก มานำเสนอดังต่อไปนี้

“ในช่วงกลียุค แผ่นดินจีนได้แบ่งออกเป็นหลายก๊ก มีการทำศึกสงครามห่ำหั่นกันอย่างหนักหน่วงจนเหลือเพียงสามก๊ก คือ ก๊กของเล่าปี่ (จ๊กก๊ก) ก๊กของโจโฉ (วุยก๊ก) และก๊กของซุนกวน (ง่อก๊ก) โดย ขงเบ้ง ซึ่งเป็นกุนซือของเล่าปี่ (จ๊กก๊ก) ได้วางยุทธศาสตร์ไว้ว่า...

“จ๊กก๊กของเล่าปี่ ต้องวางตัวเป็นศัตรูกับวุยก๊ก ของโจโฉ และต้องวางตัวเป็นมิตรกับง่อก๊ก ของซุนกวน เพื่อร่วมมือกันต่อสู้โจโฉ

“หากดำเนินการได้ตามนี้ ถ้าทัพของโจโฉบุกก๊กของเล่าปี่ ทางฝ่ายซุนกวนก็จะไม่ร่วมรุมยำ รวมถึงถ้าก๊กเล่าปี่บุกไปตีก๊กของโจโฉ ก็ไม่ต้องระแวงว่าจะถูกก๊กซุนกวนลอบเข้ามาตีเมือง

“และสมมติว่า ต่อไปสามารถเผด็จศึกก๊กของโจโฉได้แล้ว แผ่นดินจีนก็จะเหลือสองก๊ก แล้ววันนั้น เล่าปี่ค่อยเปิดศึกขั้นแตกหัก บดขยี้ก๊กของซุนกวน เพื่อครอบครองแผ่นดินจีนทั้งหมด

“ซึ่งเล่าปี่ก็พยายามดำเนินหมากทางการเมืองและทางการทหารในรูปแบบที่ขงเบ้งวางแผนไว้ให้อย่างเคร่งครัด กระทั่งเกิดเหตุกวนอู น้องร่วมสาบานของเล่าปี่ ถูกคนของซุนกวนฆ่าตาย ทำให้เล่าปี่โกรธแค้น ล้มเลิกยุทธศาสตร์ของขงเบ้ง แล้วระดมทัพใหญ่บุกง่อก๊กของซุนกวน  

“ผลที่ออกมาก็คือ ทัพของเล่าปี่พ่ายแพ้ยับเยิน เล่าปี่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต หลังจากนั้นขงเบ้งก็ทำหน้าที่เป็นกุนซือของอาเต๋า บุตรของเล่าปี่ โดยได้ดำเนินนโยบายตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ก่อนหน้านี้ต่อไป เป็นศัตรูกับวุยก๊ก เป็นมิตรกับง่อก๊ก จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตขงเบ้ง”

ดังนั้นในยุคสงครามเย็น รอบใหม่ เราอาจจะได้เห็น รัสเซียกับจีน จับมือเป็นพันธมิตรกัน รุมกินโต๊ะสหรัฐฯ หรือในบางสถานการณ์ อาจมีการสลับผลัดเปลี่ยนพันธมิตรและศัตรูกัน ส่วนอุณหภูมิแห่งความเหน็บหนาวจะยิ่งกว่าสงครามเย็นยุคก่อนหรือไม่นั้น ก็ต้องติดตามกันต่อไป...

อ้างอิง

สงครามเย็น

สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)

related