จากข่าวที่หมอหนุ่มพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทั้งๆ ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย จึงมีคำถามมากมายที่หลายคนสงสัยว่าเพราะเหตุใดผู้ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นอย่างดีจะเป็นโรคนี้ได้ และยังมีอีกหลายๆ เคสของผู้ป่วยมะเร็งปอด ที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่
ล่าสุดมีงานวิจัยที่น่าสนใจถึงสาเหตุของมะเร็งปอดในมนุษย์พบว่า ก๊าซเรดอน มลภาวะทางอากาศภายในอาคารที่สามารถก่อมะเร็งปอดได้
คำถามจึงตามมามากมาย อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้คนที่ดูแลสุขภาพดีคนหนึ่ง อายุยังน้อย กลับต้องเผชิญปัญหาโรคมะเร็งปอดได้และกับอีกหลายๆ เคส ที่ไม่ปรากฎเป็นข่าวก็ยังพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งปอด ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้เป็นคนสูบบุหรี่เช่นกัน
การเกิดโรคมะเร็ง เหตุปัจจัยหนึ่งอาจมาจากพันธุกรรม เรื่องนั้นเราคงไม่ยกมาเล่าถึงเพราะเป็นเรื่องทางเคมีของร่างกาย ที่ตกทอดสืบเนื่องกันตามสายเลือด ถ้าตัดเรื่องพันธุกรรมออกไปแล้ว เหลืออะไรที่เข้าข่ายต้องสงสัยได้อีก สปริงนิวส์ พบว่า มีเอกสารงานวิจัยหลายชิ้นที่เอ่ยถึงสาเหตุของการป่วยมะเร็งปอด ไว้อย่างอย่าตกใจ เพราะต้นเหตุที่ว่านั้น เกิดขึ้นในอาคารที่เราต้องใช้ชีวิตส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่ในรอบวันเพื่อการทำงาน และเหตุแห่งการเกิดมะเร็งปอดที่ว่านั้น มาจาก "ก๊าซเรดอน"
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
ถอดรหัส มะเร็ง กับการใช้ชีวิตตั้งรับมหาภัยร้าย ที่เหนือการควบคุม
อาการเตือน มะเร็งปอด หลังหมอหนุ่ม เพจ สู้ดิวะ แชร์ประสบการณ์
หมอมนูญ เผยเคสหายป่วยมะเร็ง แต่ติดโควิดไม่หายขาด ปอดอักเสบ 4 ครั้งใน 4 เดือน
จากเอกสารสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นิยาม ก๊าซเรดอน ไว้ว่า ก๊าซเรดอน เป็นก๊าซกัมมันตรังสีซึ่งไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสใดๆ ของมนุษย์ และจัดเป็นมลภาวะทางอากาศที่สำคัญที่สุดประเภทหนึ่ง ที่นานาชาติให้ความสนใจ
เหตุที่หลายต่อหลายชาติ ต่างสนใจในเรื่องของก๊าซเรดอนนี้ เพราะว่า ก๊าซเรดอน สามารถก่อมะเร็งปอดในมนุษย์ได้ และจัดเป็นเหตุการเกิดมะเร็งปอดอันดับ 2 รองจากบุหรี่
องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง (International Agency of Research on Cancer: IARC) แห่งองค์การอนามัยโลก ได้ข้อสรุปเป็นเอกฉันท์ว่า เรดอนเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์และสัตว์ เช่นเดียวกับการประชุมนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั่วโลก ซึ่งจัดโดย National Academic of Sciences, International Commission on Radiological Protection (ICRP) และ National Council on RadiationProtection and Measurement (NCRP) ได้สรุปว่า เรดอน เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดในมนุษย์เนื่องจากก๊าซเรดอนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการสลายตัวของแร่เรเดียมซึ่งมีปะปนอยู่ทั่วไปในดินและหินบนโลก ดังนั้นในบรรยากาศทั่วไปจึงมีก๊าซเรดอนปะปนอยู่ ส่วนจะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณเรเดียมและยูเรเนียมในบริเวณนั้น
เมื่อมนุษย์ นำดินและหิน หรือทรายที่มีแร่เรเดียมเจือปนอยู่มาใช้ในการก่อสร้างวัสดุเหล่านั้นก็จะปล่อยก๊าซเรดอนออกมาตามปริมาณเรเดียมที่ปะปนอยู่ ข้อสำคัญคือ หากอาคารเหล่านั้นมีระบบจัดการอากาศที่ดี อากาศไหลเวียนดี อันตรายก็ไม่เกิด
ในทางกลับกันหากว่าอาคารเหล่านั้นไม่สามารถจัดการอากาศในตึกให้มีการไหลเวียนที่ดี การสะสมของก๊าซเรดอนก็จะมีปริมาณสูง และอาจส่งผลต่อผู้อยู่อาศัยได้ในอนาคต
หลังมีการให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่อง ก๊าซเรดอน มากขึ้น ก็มีการพยายามหามาตรฐาน และความเป็นไปได้ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยในอาคารต่างๆว่าปริมาณก๊าซเรดอน ควรเป็นเท่าไหร่จึงจะถือว่าปลอดภัย แต่เมื่อจะหาตัวเลขที่เหมาะสมก็พบว่าด้วยคุณสมบัติของก๊าซเรดอนเองนั้น ซึ่งไม่ปรากฎสี ไม่มีกลิ่น ประสาทสัมผัสของมนุษย์ ใช้ชี้วัดอะไรไม่ได้การกำหนด "ระดับปฏิบัติ" (Action level)
ซึ่งคณะกรรมาธิการนานาชาติว่าด้วยการป้องกันอันตรายจากรังสี (International Commission on Radiological Protection: ICRP) ได้แนะนำว่า แต่ละประเทศอาจมีข้อกำหนดตัวเลขนี้แตกต่างกัน ซึ่งบางประเทศก็กำหนดระดับอ้างอิง (Reference level) ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเกณฑ์เฉลี่ย เช่น สหรัฐอเมริกากำหนดค่าเรดอนในอาคารโดยเฉลี่ยไว้ที่ 148Bq/m3 อาคารใดมีค่า ก๊าซเรดอน เกินกว่านี้ต้องรีบแก้ไข และหาทางลดปริมาณก๊าซเรดอนให้ได้โดยเร็ว แต่ค่าดังกล่าวก็เป็นเพียงค่าเฉลี่ยเพื่อการแนะนำ แต่ไม่ได้เป็นกฏหมายที่บังคับใช้เป็นเรื่องเป็นราว
ส่วนสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา หรือ US EPA แนะนำว่าภายในอาคารควรมีความเข้มข้นของก๊าซเรดอนต่ำกว่า 4pCiต่ออากาศ 1ลิตร และแถมท้ายด้วยการบอกว่า ตามความเห็นของ US EPA เชื่อว่าเรื่องของก๊าซเรดอนนั้น ไม่มีระดับที่ปลอดภัย จะเข้ม หรือจะจางแค่ไหน ก็ล้วนมีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยในระดับหนึ่งเสมอ
นั่นเป็นเรื่องในต่างประเทศ หันมามองประเทศไทยบ้านเรากันบ้าง ประเทศไทยก็มีงานวิจัยที่ศึกษาการประเมินความเสี่ยงต่อก๊าซเรดอนภายในและนอกอาคารในพื้นที่ชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พบว่า ก๊าซเรดอน ในพื้นที่ตัวอย่างจาก 2,161 หลังคาเรือน ตรวจวัดได้ 9-1307 Bq/m3 ส่วนก๊าซเรดอนเฉลี่ยของจังหวัดอยู่ที่ 225 Bq/m3 ซึ่งตัวเลขนี้ สูงกว่าตัวเลขของ US EPA ที่กำหนดไว้ที่ 148 Bq/m3 แต่กลับต่ำกว่ามาตรฐานของ US NCRP ที่กำหนดไว้ที่ 296 Bq/m3
ส่วนทางภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำปาง มีตัวเลขที่น่าสนใจอยู่ว่า 2 จังหวัดนี้เป็นจังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยมะเร็งปอดสูงสุดในประเทศ ปรากฎการณ์ทางตัวเลขดังกล่าว ทำให้นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ หันมาให้ความสนใจในเรื่อง ก๊าซเรดอน ซึ่งจากข้อมูลสำนักพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพพบว่า ก๊าซเรดอน ในอาคารที่ตรวจพบมีความสัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรคมะเร็งปอดในพื้นที่
สองตัวอย่างที่ว่ามานั้น ต่างเกิดขึ้นในอาคาร บ้านเรือน ที่พักอาศัย ที่ทำงาน บางคนใช้ชีวิตอยู่สองที่ คือ ที่ทำงาน ที่บ้าน ไม่เคยสูบบุหรี่ เหล้าไม่ดื่ม แต่ดันกลับโชคร้ายตรวจพบมะเร็งปอด นี่อาจคือต้นเหตุแห่งหายนะที่เดินทางมาอย่างเงียบๆ กัดกินชีวิตเราไปโดยไม่รู้ตัว
ทางแก้ที่ดีที่สุดคือ ระบบการจัดการอากาศภายในอาคารต้องดี การซ่อมบำรุงวัสดุ อุปกรณ์ในอาคารต้องดำเนินการ ไม่ปล่อยทิ้งไว้นานเกินควร แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็เดินออกมารับอากาศภายนอกบ้าง ถือเป็นการเปลี่ยนอิริยาบท ลดความเสี่ยงเรื่องโรคกระดูกไปในตัว
เบสิกที่สุดของชีวิตมนุษย์เงินเดือน คือทำงาน 9 ชั่วโมงต่อวัน หนึ่งชั่วโมงเป็นการพักทานข้าว เหลือ 8 ชั่วโมงที่ต้องเข้าไปนั่งในอาคารรวมกัน ซึ่งเรื่องของอาคารอาจเป็นปัจจัยที่เหนือการควบคุม ดังนั้นทางที่ดีเพื่อลดความเสี่ยงของมนุษย์เงินเดือนที่ต้องเข้าประจำการภายในตึกหรืออาคารเป็นประจำ ก็คงหนีไม่พ้นการลุกเดิน ขยับร่างกาย ออกมารับอากาศภายนอกตึกเป็นระยะ ก็น่าจะพอลดความเสี่ยงลงได้บ้าง
แต่อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของก๊าซเรดอนที่ว่ามานั้น มิได้มีเจตนาให้เกิดการวิตกกังวลในการใช้ชีวิตแต่อย่างใด เป็นเพียงแต่ข้อมูลความรู้ และการพยายามหาคำตอบที่ว่า คนไม่สูบบุหรี่ ทำไมเป็นมะเร็งปอดได้ สิ่งที่เรียบเรียงมาทั้งหมดก็ไม่อาจฟันธงการเกิดโรคมะเร็งปอดของผู้หนึ่งผู้ใดได้ แต่ละคนอาจมีปัจจัยที่แตกต่างกันไป นี่เป็นเพียงหนึ่งในสาเหตุที่เราอาจไม่คุ้นชินกันเท่านั้นเอง
ที่มา : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธาณสุข