svasdssvasds

WMO เผย วงจรน้ำกำลังปั่นป่วนจากโลกร้อน ทำคนทั่วโลกเสี่ยงเผชิญภัยจากน้ำ

WMO เผย วงจรน้ำกำลังปั่นป่วนจากโลกร้อน ทำคนทั่วโลกเสี่ยงเผชิญภัยจากน้ำ

รายงานใหม่โดย องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เผย วัฏจักรน้ำของโลกกำลังเสียสมดุลอย่างรวดเร็วจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ย้ำทุกประเทศทั่วโลกควรเร่งยกระดับการจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติของวงจรน้ำที่เปลี่ยนไป

รายงานของ WMO ฉบับล่าสุด อธิบายว่า ปรากฎการณ์ภัยธรรมชาติจากน้ำที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก มีเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหากทั่วโลกยังนิ่งเฉยต่อปัญหาและไม่เร่งดำเนินการใดๆ เพื่อรับมือผลกระทบ ความเสียหายจากภัยธรรมชาติสุดขั้วอันเกิดจากน้ำ จะยิ่งสร้างความเสียหายทบทวีคูณ

 

น้ำท่วมน้ำแล้งสร้างความเสียหาย

รายงานฉบับดังกล่าว เผยว่า จากผลกระทบสภาวะโลกร้อน ทำให้วงจรน้ำผิดเพี้ยนและสุดขั้วมากขึ้น เนื่องจากบรรยากาศโลกที่อุ่นขึ้น ทำให้สามารถกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น นั่นทำให้เราต้องเผชิญกับฝนตกหนักและน้ำท่วมมากขึ้น ดังจะเห็นว่าตลอดช่วงปีที่ผ่านมา เราได้เห็นข่าวจากทั่วโลกถึงภัยพิบัติจากน้ำมากมาย ทั้งน้ำท่วมใหญ่จากฝนตกครั้งที่หนักสุดเป็นประวัติศาสตร์ทั้งใน จีน เกาหลี ฮ่องกง พายุใหญ่ที่พัดถล่มเมืองทะเลทรายในซาอุดิอาระเบีย หรือ ฝนถล่มครั้งประวัติศาสตร์ในลิเบีย จนทำให้เขื่อนแตก คนตายหลายพันคน

น้ำท่วมใหญ่ในฮ่องกงจากพิษไต้ฝุ่นไห่ขุย ทำน้ำท่วมหนักสุดใน 140 ปี  Cr: Reuters

แต่ในทางตรงกันข้าม อัตราการระเหยของน้ำที่มากขึ้น ก็ทำให้บางส่วนของโลก เกิดสภาวะแห้งแล้ง ดินแห้ง และปัญหาการขาดแคลนน้ำที่รุนแรงยิ่งขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมานี้ อากาศร้อนผิดปกติทั่วทั้งยุโรป ทำให้มีอัตราการระเหยของน้ำเพิ่มขึ้น จนเกิดความแห้งแล้งไปทั่ว เนื่องจากความชื้นในดินที่ลดลง

นอกจากนี้ ความแห้งแล้งทั่วทั้งทวีปยุโรปยังทำให้แม่น้ำสำคัญสายต่างๆ ในยุโรป เช่น แม่น้ำดานูบและแม่น้ำไรน์ ลดระดับลง และยังส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ในฝรั่งเศส เนื่องจากขาดน้ำหล่อเย็น

ทะเลสาบ Puraquequara ในบราซิลที่แห้งเหือดเพราะภัยแล้ง  Cr: Reuters

ภัยจากความแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำไม่จำกัดแต่เพียงในยุโรปเท่านั้น จากข้อมูลของ UN Water พบว่า ในปัจจุบัน ผู้คน 3.6 พันล้านคนขาดการเข้าถึงน้ำที่เพียงพออย่างน้อยหนึ่งเดือนต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มเป็นมากกว่า 5 พันล้านคนภายในปี 2593

 

หิมะและธารน้ำแข็งละลาย ส่งผลกระทบมากกว่าที่คาด

จากข้อมูลในปี 2565 หิมะปกคลุมในเทือกเขาแอลป์ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อแม่น้ำสายหลักของยุโรป เทือกเขาแอนดีสมีหิมะในฤดูหนาวลดลง โดยมีจำนวนน้อยที่สุดในปี 2564 และฟื้นตัวได้บางส่วนในปี 2565 ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำในชิลีและอาร์เจนตินา การสังเกตธารน้ำแข็งของจอร์เจียเผยให้เห็นอัตราการละลายของน้ำแข็งเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เนื่องจากธารน้ำแข็งและหิมะบนยอดเขาเหล่านี้ ทำหน้าที่สำคัญในการเป็นธนาคารน้ำ ที่จะค่อยๆ ทยอยปล่อยน้ำออกมาหล่อเลี้ยงพื้นที่โดยรอบ การละลายอย่างรวดเร็วของธารน้ำแข็งและหิมะบนยอดเขา ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันเป็นภัยพิบัติแรก ต่อพื้นที่เบื้องล่าง ดังเช่นเหตุเขื่อนชุงทังในรัฐสิกขิม ประเทศอินเดีย แตก เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุมาจากธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยที่ละลายอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีน้ำจำนวนมหาศาลไหลเข้าสู่เขื่อน จนเกิดเหตุร้ายขึ้น

ยอดเขาหิมะและธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งทำหน้าที่เป็นธนาคารน้ำให้กับภูมิภาคโดยรอบ  Cr: orangems

แต่เมื่อธารน้ำแข็งและหิมะบนยอดเขาเหล่านี้ละลายหมดไป ภูมิภาคที่พึ่งพิงน้ำจากธนาคารน้ำบนยอดเขาเหล่านี้จะประสบกับภัยอีกแบบ นั่นคือภัยแล้ง เนื่องจากทรัพยากรน้ำที่เคยได้รับจากน้ำแข็งที่ละลายตามวัฎจักรหายไป

ดังนั้นรายงานสถานะทรัพยากรน้ำทั่วโลกประจำปี 2565 ของ WMO จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำความเข้าใจทรัพยากรน้ำจืดให้ดีขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายขั้นพื้นฐาน โดยเรียกร้องให้มีการตรวจสอบที่ดีขึ้น การแบ่งปันข้อมูล ความร่วมมือข้ามพรมแดน และเพิ่มการลงทุนในการจัดการสภาวะที่รุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และป้องกันให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อสังคมและธรรมชาติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related