svasdssvasds

ถนนไร้มลพิษ! บขส. เตรียมเปลี่ยนไปใช้รถเมล์ไฟฟ้า 75 คันแรก เดินรถทั่วประเทศ

ถนนไร้มลพิษ! บขส. เตรียมเปลี่ยนไปใช้รถเมล์ไฟฟ้า 75 คันแรก เดินรถทั่วประเทศ

บขส. กางแผนจัดหารถเมล์ไฟฟ้า 75 คัน วงเงินกว่า 597 ล้านบาท ทยอยส่งมอบล็อตแรก ก.พ. 67 เปิดยอดผู้โดยสารปี 66 มีกว่า 36,000 คนต่อวัน เป็นเงินกว่า 1.9 พันล้าน ไม่พอ! เล็งดันยอดผู้โดยสารปี 67 ทะลุ 45,000 คน หวังเพิ่มรายได้ 30%

ท้องถนนเตรียมคึกคัก! ในยุคที่พลังงานมีราคาค่างวดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเทรนด์รักษ์โลกก็กำลังมาแรง นั่นทำให้ขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์จำเป็นต้องปรับตัวขนานใหญ่

บขส. เตรียมเปลี่ยนไปใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV)

ล่าสุด นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์  รองปลัดกระทรวงคมนาคม และประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เตรียมเดินทางมาตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายบขส. ภายในวันที่ 3 พ.ย. 2566

ทางด้านบขส. ได้เตรียมแผนการจัดการหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV) จำนวน 75 คัน วงเงินรวมกว่า 597 ล้านบาท

ปัจจุบัน กระบวนการจัดหารถเมล์ไฟฟ้าอยู่ระหว่างการกำหนดราคากลาง ถูกคาดการณ์ว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการภายในเดือนตุลาคม 2566 และในเดือนพฤศจิกายน 2566 จะมีการเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส. อีกครั้ง

จากนั้นก็เตรียมเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ และเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและลงนามในสัญญา เพื่อให้เอกชนได้ดำเนินการประกอบรถต่อไป

แผนการจัดหารถเมล์ไฟฟ้าในครั้งนี้ มีระยะการเช่าสัญญาที่ 5 ปี โดยคาดว่าจะมีการส่งมอบรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าล็อตแรกภายในเดือนเมษายน 2567 รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าในล็อตแรกมีทั้งหมด 48 คัน

ประกอบไปด้วย รถมินิบัส ขนาดไม่ต่ำกว่า 27 ที่นั่ง จำนวน 27 คัน และรถโดยสารขนาดใหญ่ ขนาดไม่ต่ำกว่า 36 ที่นั่ง จำนวน 21 คัน ส่วนรถมินิบัสพลังงานไฟฟ้าที่เหลือ 27 คัน และคาดว่าจะส่งครบภายในปี 2567

เส้นทางการเดินรถของรถเมล์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ไม่ต่ำกว่า 36 ที่นั่ง) มีทั้งสิ้น 7 เส้นทางได้แก่

  • เส้นกรุงเทพฯ - คลองสาน
  • เส้นกรุงเทพฯ - กำแพงเพชร
  • เส้นกรุงเทพฯ - สากเหล็ก พิษณุโลก
  • เส้นกรุงเทพ - พิษณุโลก
  • เส้นกรุงเทพฯ - บุรีรัมย์
  • เส้นกรุงเทพฯ (เอกมัย) – แหลมงอบ
  • เส้นกรุงเทพฯ (จตุจักร) - ตราด

เส้นทางการเดินรถของรถมินิบัสพลังงานไฟฟ้า (ไม่ต่ำกว่า 27 ที่นั่ง) มีทั้งเส้น 5 เส้นทางได้แก่

  • เส้นหมอชิต - สระบุรี
  • เส้นรังสิต - ม.บูรพา
  • เส้นรังสิต – แหลมฉบัง
  • เส้นรังสิต - นิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน   
  • เส้นรังสิต – มาบตาพุด – ระยอง

“แผนการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้าของ บขส.ในครั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการลดค่าใช้จ่ายให้กับ บขส. และที่สำคัญ ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ที่เดินทางกับ บขส. ในเส้นทางที่มีระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร (กม.) ด้วย” นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ สรพงศ์ยังกล่าวเพิ่มอีกว่าผลการดำเนินงานบขส. ในปี 2566 สามารถช่วยลดปัญหาการขาดทุนจากงบประมาณปี 2565 เม็ดเงิน 1,000 ล้านบาท เหตุจากรัฐบาลได้เปิดประเทศ ทำให้มีจำนวนผู้ใช้รถโดยสารเพิ่มขึ้นถึง 70% เมื่อเทียบกับปี 2565

อีกหนึ่งเหตุผลคือ ประชาชนมีความไว้วางใจในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ด้วยขนส่งสาธารณะมากขึ้น นั่นทำให้ในปี 2566 บขส. มีรายได้อยู่ที่ 1,900 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วที่มีรายได้ราว 1,300 บาท

นอกจากนี้การการลดเส้นทางการเดินรถของบางพื้นที่ลง สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 400 ล้านบาท รวมถึงมีการปรับความถี่ของการให้บริการเดินรถในจังหวัดที่การท่องเที่ยวคึกคักด้วยเช่น จังหวัดภูเก็ต

“ปัจจุบันบขส. ยังคงอยู่ในสภาวะที่ขาดทุนสุทธิประมาณ 219 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงปี 2562 บขส.มีรถให้บริการประมาณ 800 คันและมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 80,000 คนต่อวัน แต่ในปัจจุบันพบว่ามีผู้โดยสารใช้บริการเหลือประมาณ 32,000 คนต่อวัน โดยบขส.พยายามประคองตัวในการลดจำนวนรถที่ให้บริการด้วยการคืนสัญญาเช่ารถ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก  แต่ยังดำเนินการให้บริการในเส้นทางหลักตามเดิม” สรพงศ์กล่าว

ในปี 2566 พบว่ามีจำนวนผู้โดยสารที่ตบเท้าเข้ามาใช้บริการรถสาธารณะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 35,000 – 36,000 คนต่อวัน เทียบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้โดยสารมาใช้บริการรถสาธารณะอยู่แค่ราว ๆ 8,000 – 13,000 คนต่อวัน และในปี 2567 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะพุ่งไปที่ 40,000 – 45,000 คนต่อวัน จะส่งผลให้บขส. มีรายได้เพิ่มอยู่ที่ 10 – 30%

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา บขส. จำเป็นต้องลดรายจ่ายลง และหารายได้เพิ่ม เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น แม้จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐในการประกันราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทก็ตาม

อีกหนึ่งสถานการณ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ ครม. ได้อนุมัติให้บขส. สามารถดำเนินการขนส่งพัสดุได้ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว บขส. ได้ร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการขนส่งสินค้าในเส้นทางที่มีการให้บริการอยู่แล้ว

จากนั้น บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัดก็จะรับพัสดุต่อจากบขส. เพื่อนำส่งสินค้าให้ถึงมือผู้รับ โดยมีการนำร่องให้บริการไปแล้ว 2 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี และสุพรรณบุรี

จากร่วมมือครั้งนี้ ทำให้บขส. สามารถทำรายได้จากการขนส่งพัสดุกว่า 200 ล้านบาท โดยบขส. คาดว่าจะต้องปรับปรุงในการให้บริการขนส่งพัสดุมากขึ้น คาดว่าในปี 2567 – 2568 บขส. จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200 ล้านบาท

อดใจรอกันอีกสักนิด อีกไม่นานคาดว่าเราจะได้มีรถเมล์ไฟฟ้า เพื่อใช้ในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เมื่อวันนั้นมาถึง โปรดทำใจให้ชินเพราะรถเมล์อาจหน้าตาไม่เหมือนแบบที่เราคุ้นเคย 

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related