svasdssvasds

ปลาแสงอาทิตย์ สิ่งมีชีวิตรูปร่างประหลาด คนนิยมบริโภค แม้เสี่ยงสูญพันธุ์

ปลาแสงอาทิตย์ สิ่งมีชีวิตรูปร่างประหลาด คนนิยมบริโภค แม้เสี่ยงสูญพันธุ์

ปลาแสงอาทิตย์ หรือ Sunfish เป็นรูปร่างหน้าตาประหลาด สามารถออกไข่ได้ครั้งละ 300 ล้านฟอง แต่ทำไมในปัจจุบันถึงกลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ไปได้? ผู้เชี่ยวชาญคาด สาเหตุหลักเกิดจากการถูกล่า ทำให้ประชากรของปลาแสงอาทิตย์ลดน้อยลงเรื่อย ๆ

รู้จัก ปลาแสงอาทิตย์ กันหรือไม่?

ปลาแสงอาทิตย์ หรือในชื่อภาษาอังกฤษ Sunfish บ้างก็เรียกว่า Mola คำนี้มีความหมายในภาษละตินว่า ‘หินโม่’ เพราะด้วยลำตัวที่มีรูปร่างกลม และผิวที่หยาบกร้าน 

มนุษย์ธรรมดาแบบเราตื่นเช้าทำงานออฟฟิศอาจจะไม่คุ้นหูนัก แต่หากเราเอ่ยปากถามชาวประมง หรือนักดำน้ำ พวกเขาจะรู้จักมักจี่กับ ปลาแสงอาทิตย์ กันอย่างแน่นอน

ปลาแสงอาทิตย์สามารถพบได้ทั่วไปในมหาสมุทรเขตร้อนทั่วโลก ชาวประมงหรือชาวเรืออาจได้เห็นพวกมันขึ้นมัวอาบแดดอยู่ที่บริเวณผิวน้ำอยู่เป็นประจำ บ้างก็ตื่นตระหนัก เพราะครีบบนหลังของปลาแสงอาทิตย์มักทำให้คนเข้าใจผิดบ่อย ๆ ว่า นั่นคือฉลาม

ปลาแสงอาทิตย์เสี่ยงสูญพันธุ์ Cr. Flickr

หากเราคาดการณ์ด้วยสายตาก็จะเห็นแล้วว่า ปลาแสงอาทิตย์ มีขนาดมหึมาเป็นอย่างมาก โดยเฉลี่ยแล้ว ปลาแสงอาทิตย์จะมีความสูงราว 14 ฟุต หากเราจับมันตั้งตรงดิ่งกับพื้นโลก และเจ้าปลาชนิดนี้มีน้ำหนักมากถึง 5,000 ปอนด์ หรือหนักเท่ารถ Mercedes Benz Maybach S560 หนึ่งคัน!

เจ้าปลาแสงอาทิตย์ หรือ Mola มีชื่อเสียงเรียงนามในเรื่องของความเด๋อ ๆ ด๋า ๆ อยู่พอสมควร เพราะพวกมันมักชอบใช้ครีบบนหลัง และทวารของตัวเองในการว่ายน้ำไปยังที่ต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังมีการบันทึกว่า ปลาแสงอาทิตย์ ชื่นชอบที่จะขึ้นไปทักทายผู้คนบริเวณผิวน้อย ส่วนอาหารก็อยู่ง่ายกินง่าย พวกมันกิน แมงกะพรุน ปลาเล็ก แพลงก์ตอนสัตว์ และสำหร่ายเป็นอาหาร หารู้ไม่ว่า ตัวมันเองจะกลายเป็นอาหารของมนุษย์อีกที

สืบพันธุ์อย่างไร?

ปลาแสงอาทิตย์วางไข่ครั้งละ 300 ล้านฟอง

ปลาแสงอาทิตย์ ขยายเผ่าพันธุ์ตัวเองด้วยการวางไข่ หลังจากที่ปลาแสงอาทิตย์ตัวผู้ปล่อยอสุจิเข้าไปที่ตัวเมียแล้วก็จะเกิดการปฏิสนธิ โดยปลาแสงอาทิตย์สามารถวางไข่ได้ครั้งละ 300 ล้านฟอง เกินนิ้วมือจะนับไหว แต่หากเราพินิจถึงธรรมชาติของปลาชนิดนี้ให้ดีจะพบว่า

กระแสน้ำเชี่ยวในทะเลจะพัดไข่ฟองเล็ก ๆ ของมันจำนวนมากกระจัดกระจายกันไปคนละทิศละทาง ทำให้จาก 300 ล้านฟองที่ว่า มีใบหลงเหลือและสามารถเติบโตออกมาเป็นตัวได้จริง ๆ แค่ไม่กี่ฟอง ทำให้นำมาสู่หัวข้อถัดมาว่า ทำไมสัตว์ชนิดนี้ถึงใกล้สูญพันธุ์?

เสี่ยงสูญพันธุ์

แม้ฟังแล้ว ปลาแสงอาทิตย์ จะดูเป็นปลาที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ต้องบอกว่าประชากรของปลาชนิดนี้เหลือน้อยลงเต็มที แม้รูปร่างหน้าตาของมันจะดูประหลาดเสียหน่อย แต่สิ่งนี้กลับไม่สามารถผลักมนุษย์ให้ออกจากการไล่ล่ามันได้ ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ทรรศนะว่า เหตุผลที่ประชากรของปลาแสงอาทิตย์ลดน้อย สาเหตุใหญ่คือเกิดจากการถูกล่า

อีกหนึ่งกลเม็ดเด็ดพลายที่ไม่เกินคาดนักก็คือ พลาสติก ขยะพลาสติกในมหาสมุทรสามารถลวงให้ปลาแสงอาทิตย์กลืนพลาสติกลงท้องของพวกมันไปได้ เพราะปลาแสงอาทิตย์คิดว่า พลาสติกเป็นแมงกะพรุนนั่นเอง ฉะนั้น คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ปัญหาพลาสติกก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชากรของพวกมันลดน้อยถอยลงเช่นเดียวกัน

จนมาถึงเหตุผลสุดท้ายคือ 'มนุษย์' ณ แดนกิมจิ หากเราไปเดินที่ตลาดปลาตามเมืองต่าง ๆ เราจะพบว่ามีเนื้อของปลาแสงอาทิตย์ขายอยู่ร่ำไป ผู้คนนิยมนำไปบริโภคกันเป็นปกติ ไม่ว่าจะกินแบบซาชิมิตามธรรมเนียมญี่ปุ่น หรือนำไปปรุงเป็นด้วยวิธีอื่น ๆ ก็ตาม

ปลาแสงอาทิตย์ถูกแร่เนื้อขายที่ตลาดปลา Cr. Flickr

นอกเหนือจากนี้ เกาหลียังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมการล่าปลาแสงอาทิตย์อย่างเป็นจริงเป็นจัง ทำให้การไล่ล่าเพื่อนำมาทำเป็นอาหารยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ บางคนสามารถนำไปถ่ายคลิปลง YouTube เพื่อทำคอนเทนท์กินอาหารได้อย่างง่ายดาย

ก็เป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามอีกครั้งว่า สัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธ์ไปจากโลกนี้ เหตุใดประเทศนั้น ๆ ยังไม่มีมาตรการในการควบคุมการไล่ล่าสัตว์บางชนิดในน่านน้ำของประเทศเสียที แม้ปลาแสงอาทิตย์จะถูกพบได้ทั่วโลก แต่หากการไล่ล่ายังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ คำว่าสูญพันธุ์ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เหนือจินตนาการแต่อย่างใด

ที่มา: National Geographic

เนื้อหาที่น่าสนใจ: 

 

 

related