svasdssvasds

ส่อง 'สวัสดิภาพสัตว์น้ำ' ในสวนสัตว์ปี 2023 ได้รับการดูแลดีขึ้นหรือไม่?

ส่อง 'สวัสดิภาพสัตว์น้ำ' ในสวนสัตว์ปี 2023 ได้รับการดูแลดีขึ้นหรือไม่?

เทรนด์ของมนุษย์ในการหันมาใส่ใจสวัสดิภาพของสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แตกต่างจากในอดีตที่สัตว์ในสวนสัตว์ถูกดูแลประหนึ่งวัตถุชิ้นหนึ่งของมนุษย์ ณ ปัจจุบันมีการนำหลักวิทยาศาสตร์ที่วัดผลได้ ร่วมกับเทคโนโลยีเพื่อเข้ามาช่วยดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น

ในวันหยุดของสัปดาห์ หากเราจูงมือกันเข้าไปเที่ยวสวนสัตว์ที่ไหนสักที่ สิ่งที่คาดหวังจากการไปสวนสัตว์คืออะไร?

บางคนต้องการความสุข บางคนอยากเห็นสัตว์เดินไปมา พ่อแม่บางคนอยากพาลูก ๆ ไปเพราะอยากเสริมสร้างจินตนาการให้กว้างไกล สิ่งความต้องการเหล่านี้สรรพสัตว์ก็สามารถเสิร์ฟให้เราได้ตั้งแต่วินาทีแรก จนถึงวินาทีที่เราก้าวออกจากสวนสัตว์มา แต่หลังม่านนั้น เกิดอะไรขึ้นกับสัตว์เหล่านี้บ้าง?

ในช่วงหลายปีก่อน เริ่มมีคนพูดถึงพฤติกรรมของสัตว์ที่ดูแปลกตาไป สัตว์บางชนิดเกรี้ยวกราด ดุร้าย และทำร้ายผู้ดูแล ผู้เชี่ยวชาญไม่รอช้าจึงรีบปรี่ตัวเข้าไปสืบหาสาเหตุของพฤติกรรมเหล่านี้ว่าเกิดอะไรขึ้น

ความเครียดคือปัจจัยสำคัญ: สิ่งที่ทำให้สัตว์น้ำหรือสัตว์อื่น ๆ เกิดความเครียดเป็นไปได้หลายสาเหตุเช่น ปัจจัยทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ลองนึกดูว่า คุณต้องตื่นมาทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ วนอยู่แบบนั้นหลายปี เอาแค่เราในฐานะมนุษย์เราจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้สักเท่าไรกันเชียว

เมื่อสัตว์มีติ่งความเครียดโผล่เข้ามาในหัว จนสะสมพอกพูนกันกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ ทำให้ไม่น่าแปลกใจนัก หากเราจะได้เห็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ดูแลโดนสัตว์เหล่านี้ทำร้าย แต่สิ่งที่เราจะมาไขคำตอบกันในวันนี้คือ สัตว์น้ำ

ว่าหลังจากที่กระแสการดูแลสัตว์ในสวนสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้สัตว์น้ำเหล่านี้ได้ประโยชน์อะไรบ้าง สวัสดิภาพของสัตว์น้ำโดยรวมเป็นอย่างไร? และมีเรื่องไหนบ้างที่เราต้องระมัดระวัง

สัตว์น้ำตายน้อยลง

การศึกษาล่าสุดได้ทำการศึกษาถึงสัตว์น้ำ 4 สายพันธุ์ประกอบไปด้วย โลมาปากขวด แมวน้ำ สิงโตทะเล และหมีขั้วโลก (เลี้ยงในสวนสัตว์) ระหว่างช่วงปี 2018 – 2020 โดยมีสัตว์เข้าร่วมการประเมินอย่างน้อยสายพันธุ์ละ 100 ตัวต่อเพศผู้และเพศเมีย

โลมาในสวนสัตว์ Cr. Unsplash สิงโตทะเลในสวนสัตว์ Cr. Unsplash หมีขั้วโลกในสวนสัตว์ Cr. Unsplash แมวน้ำในสวนสัตว์ Cr. Flickr

สาเหตุที่เลือกศึกษาสัตว์ทั้ง 4 สายพันธุ์เพราะ เป็นสัตว์ที่ประชากรในสวนสัตว์มากที่สุด โดยกระจายตัวกันอยู่ทั่วโลก จากการศึกษาดังกล่าวพบว่า อัตราการเสียชีวิตของสัตว์น้ำเหล่านี้ลดลงถึง 31% ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

กลุ่มทำการศึกษาในครั้งนี้ ได้ขยายผลการทดลองไปสำรวจถึงอายุขัยของสัตว์น้ำในสวนสัตว์เหล่านี้และพบว่า อายุขัยของสัตว์น้ำในสวนสัตว์จะนานกว่าสัตว์น้ำตามธรรมชาติอยู่ถึง 1.3 – 3.55 เท่า

ทำไมสัตว์น้ำในสวนสัตว์มีสวัสดิภาพดีขึ้น?

Morgane Tidière ผู้ศึกษาวิจัยและหัวหน้าทีมวิทยาศาสตร์ Species360 ได้อธิบายว่า ความก้าวหน้าในการดูแลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในสถานที่เช่น สวนสัตว์ หรืออควาเรียมตลอดศตวรรษที่ผ่านมาได้ได้ครอบคลุมการเลี้ยงสัตว์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น

หมายความว่าตามสวนสัตว์ได้มีการให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยาเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแบ่งปันความรู้ที่ถูกต้อง วิเคราะห์ถึงวิถีชีวิตของสัตว์น้ำแต่ละชนิด ไขต้นตอสาเหตุกับผลกระทบในแง่ลบที่สัตว์น้ำได้รับ รวมถึงวิธีการจัดการความเครียดของสัตว์อีกด้วย

นอกเหนือจากการถกและแลกเปลี่ยนความรู้กันของผู้เชี่ยวชาญและผู้ดูแลสวนสัตว์แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สัตว์มีแนวโน้มว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วย

พื้นบริเวณด้านล่างของบ่อน้ำในสวนสัตว์ ช่วยให้แพทย์ได้วิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของสัตว์ได้สะดวกยิ่งขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่ไม่มีการดูแลในด้านนี้สักเท่าไหร่ ไม่มีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมของสัตว์ ว่าวันนี้ สัปดาห์นี้ หรือรายเดือน สัตว์แต่ละตัวมีแนวโน้มจะเป็นอะไร

ยึดหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ยึดเทรนด์

แม้ในปัจจุบันทิศทางหรือเทรนด์ของมนุษย์ต่อสัตว์น้ำเหล่านี้ จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผู้คนหันมาสนใจสวัสดิภาพของสัตว์น้ำมากยิ่งขึ้น แต่หัวหน้าผู้ทำการศึกษากล่าวว่า การดูแลสวัสดิภาพของสัตว์น้ำ ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกอย่างเทรนด์ของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอด

แต่สิ่งที่ควรคำนึงเป็นอันดับแรกคือ ‘หลักวิทยาศาสตร์’ การตัดสินใจทำอะไรต่อสัตว์น้ำเหล่านี้ซึ่งไม่มีสิทธิออกเสียงของตัวเอง จำเป็นต้องนำภาคทฤษฎีเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะข้อมูลความรู้เหล่านี้ได้รับการพิสูจน์ ศึกษามาแล้วว่า สามารถช่วยสัตว์ให้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริง ๆ

ถึงตรงนี้ หลาย ๆ ท่านคงเกิดความรู้สึกหลากหลายแบบ เรามีส่วนร่วมในการทำให้สัตว์กระทำเช่นนั้นหรือไม่ การนำสัตว์มาแสดงโชว์ต่าง ๆ ควรมีต่อไปหรือไม่ คำตอบเป็นไปได้ในหลายเหลี่ยมมุม คงไม่มีคำตอบที่ฟันธงได้ว่าสิ่งใดดีที่สุด สำหรับมนุษย์และสัตว์ที่ไม่สามารถพูดอะไรได้

ที่มา: IFLSCIENCE

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related