svasdssvasds

อ่าวมาหยา อาณาจักร “ฉลามครีบดำ” ผลสำรวจปี 2567 พบประชากร 126 ตัว

อ่าวมาหยา อาณาจักร “ฉลามครีบดำ” ผลสำรวจปี 2567 พบประชากร 126 ตัว

ทีมสำรวจใช้โดรนสำรวจประชากรฉลามครีบดำ พบมีกว่า 126 ตัว ที่อ่าวมาหยา หลังปิดอ่าวฟื้นฟูระบบนิเวศ เตรียมรวบรวมข้อมูลหาแนวทางอนุรักษ์สัตว์ผู้ล่าแห่งท้องทะเลต่อไป

ผลสำรวจประชากร “ฉลามครีบดำ” พบกว่า 126 ตัว ที่อ่าวมาหยา

อ่าวมาหยา เกาะพีพีเล เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาตินิยมมาเที่ยวพักผ่อน สัมผัสท้องทะเลที่สวยงาม แต่การเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นในอดีต กระทบกับระบบนิเวศ และ "บ้านของฉลามครีบดำ" จึงได้มีมาตรการปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ ระหว่างปี 2561-2565 ผลปรากฏว่าประชากรฉลามครีบดำเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จึงได้ประกาศปิดอ่าวชั่วคราวต่ออีก 1 ปี ระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย. 2566 เพื่อให้ธรรมชาติทั้งบนฝั่งและใต้ทะเลบริเวณอ่าวมาหยาได้ฟื้นตัว

พบ “ฉลามครีบดำ” พบกว่า 126 ตัว ที่อ่าวมาหยา

ล่าสุดเพจประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายงานว่า เมื่อวันที่ 20-26 มกราคม 2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ร่วมกัยเจ้าหน้าที่ส่วนจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทีม Thai Sharks and Rays ได้ทำการสำรวจติดตามประชากรและพฤติกรรมของฉลามครีบดำ (Carcharhinus melanopterus) ภายใต้โครงการสำรวจจำนวนและพฤติกรรมตามธรรมชาติของฉลามครีบดำในอ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ (Shark Watch Project) เนื่องจากบริเวณนี้ป็นพื้นที่พิเศษในการนำร่องการอนุรักษ์และวิจัย สำหรับเป็นแหล่งผสมพันธุ์ หรือหาอาหารของฉลามวัยอ่อน

โดยในช่วงเช้าของวันที่ 22 มกราคม 2567 พบประชากรของฉลามครีบดำมากที่สุด จำนวน 126 ตัว ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำไปวิเคราะห์ในเชิงลึกเพื่องานด้านการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

อ่าวมาหยา บ้านของฉลามครีบดำ

วิธีสำรวจประชากร “ฉลามครีบดำ”

ทีมสำรวจจะใช้วิธีถ่ายภาพทางอากาศ (อากาศยานไร้คนขับ) เพื่อนับประชากรฉลามครีบดำ และติดตั้งกล้องถ่ายใต้น้ำ BRUV (Baited Remote Underwater Video) เพื่อสังเกตพฤติกรรมฉลาม โดยเจ้าหน้าที่จะใช้โดรนบินสำรวจ วันละ 3 ช่วงเวลา ประกอบด้วย เช้า - กลางวัน และเย็น เพื่อนับจำนวนประชากรฉลาม

หลังจากนั้นจะตั้งกล้องถ่ายใต้น้ำ BRUVS (Baited Remote Underwater Video Station) โดยใช้เหยื่อล่อ เพื่อสังเกตพฤติกรรมฉลาม วันละ 4 เวลา (เช้า-กลางวัน-เย็น และค่ำ) และมีการวัดคุณภาพน้ำ ติดตั้ง Data Logger เพื่อเก็บข้อมูลอุณหภูมิรายชั่วโมงและข้อมูลแสง เป็นต้น

ทั้งนี้การสำรวจฉลามครีบดำที่อ่าวมาหยา เพื่อทำความเข้าใจและหาแนวทางอนุรักษ์สัตว์ผู้ล่าแห่งท้องทะเลอันสง่างามชนิดนี้ต่อไป

วิธีสำรวจประชากร “ฉลามครีบดำ” ต้องใช้ทั้งโดรนและกล้องถ่ายใต้น้ำ

ทำความรู้จัก “ฉลามครีบดำ”

ปลาฉลามครีบดำ หรือ ปลาฉลามหูดำ (อังกฤษ: Blacktip reef shark ชื่อวิทยาศาสตร์: Carcharhinus melanopterus) เป็นปลาฉลามชนิดหนึ่ง มีรูปร่างเพรียวยาว ปากกว้าง มีแถบดำที่ครีบหลัง ครีบไขมัน ครีบก้น และครีบหางตอนล่าง เป็นที่มาของชื่อ กินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร มีนิสัยไม่ดุร้ายเมื่อเทียบกับปลาฉลามชนิดอื่น ๆ นิยมอยู่รวมเป็นฝูงบริเวณใกล้ชายฝั่ง และอาจเข้ามาในบริเวณน้ำกร่อย หรือปากแม่น้ำ โดยสามารถเข้ามาหากินใกล้ชายฝั่ง แม้กระทั่งในพื้นที่ ๆ มีน้ำสูงเพียง 1 ฟุต

ฉลามครีบดำ หากินในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะหลบซ่อนตัวตามแนวปะการัง

เป็นปลาหากินในเวลากลางคืน ในเวลากลางวันจะหลบซ่อนตัวพักผ่อนตามแนวปะการัง โดยจะหากินอยู่ในระดับน้ำความลึกไม่เกิน 100 เมตร ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 2 เมตร ตัวเมียตั้งท้องนาน 18 เดือน ออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 2-4 ตัว เมื่อโตขึ้นมาแล้วสีดำตรงที่ครีบหลังจะหายไป คงเหลือไว้แต่ตรงครีบอกและครีบส่วนอื่น

ปลาฉลามครีบดำ นับเป็นปลาฉลามชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในทะเล และเป็นต้นแบบของปลาฉลามในสกุลปลาฉลามปะการัง มีนิสัยเชื่องคน สามารถว่ายเข้ามาขออาหารได้จากมือ เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้ที่นิยมการดำน้ำ พบทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน นิยมใช้บริโภคโดยเฉพาะปรุงเป็นหูฉลาม เมนูอาหารจีนราคาแพง และนิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงามอีกด้วย

อ่าวมาหยา อาณาจักร “ฉลามครีบดำ” ผลสำรวจปี 2567 พบประชากร 126 ตัว

ที่มา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related