“ทราย สก๊อต” แฉบริษัททัวร์ใช้แรงงานเด็กมอแกนแลกค่าแรงต่ำ แถมถูกจำกัดโอกาสในชีวิต ด้านอุทยานฯ แจงไม่มีการจ้างเด็ก ย้ำดูแลชาวมอแกนทั้งด้านสาธารณสุข-การศึกษา
เกิดเป็นข้อถกเถียงหลัง “ทราย สก๊อต” เล่าถึงความอึดอัดกรณีบริษัททัวร์ใช้แรงงานเด็กชาวมอแกน บนเกาะสุรินทร์ แลกค่าแรง 4,000 บ. โดยมีผู้ใหญ่คอยรวบรวมเด็กให้กับบริษัททัวร์ แถมรั้งตัวเด็กไว้ไม่ให้ออกมาเปิดหูเปิดตานอกเกาะ
“ตอนนั้นทรายไปเที่ยวรู้สึกอึดอัดมาก ๆ เพราะในสังคมธรรมดาเขาไม่ได้จ้างเด็กมาเป็นแรงงานและขนาดตอนทานข้าวเที่ยงบริษัททัวร์ดังกล่าวจะไม่ให้ น้องๆ (จริงสมควรเรียกว่าเด็กๆ ) มานั้งทานข้าวด้วยกัน” ข้อความส่วนหนึ่งจากโพสต์ของ ทราย - Merman Ψ
หลังโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไปอย่างกว้างขวาง สังคมตั้งคำถามว่าถูกต้องแล้วหรือไม่ที่ใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรม กระทั่งอุทยานฯ ได้ออกมาให้คำตอบที่หลายคนสงสัยว่ามีการเอารัดเอาเปรียบเด็กมอแกนจริงหรือไม่ SPRiNG สรุปความจากทั้งสองฝ่ายมาให้อ่านกัน
1. บริษัททัวร์ใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรม
ทราย สก๊อต เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่าไปเยือนที่หมู่บ้านมอแกนครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อน สิ่งที่เห็นคือ บริษัททัวร์ใช้เด็กมาเป็นไกด์ และเป็นพนักงานสอนดำน้ำ มีอยู่ราว 5-6 คน อายุเฉลี่ย 12-18 ปี
กลุ่มหลังมีหน้าที่คอยจัดเตรียมอุปกรณ์ดำน้ำ เสิร์ฟอาหาร เก็บจานและถ่ายภาพกับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ 9 โมงถึงบ่าย ค่าตอบแทนคือ เงิน 4,000 บาท/เดือน และอาจมีการเติมเน็ตมือถือให้เด็ก ๆ เล่นเกม
หากกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นผู้หญิง เด็กมอแกน (ผู้ชาย) ต้องถอดเสื้อเพื่อไปถ่ายรูปด้วยกัน เมื่ออุทยานฯ เปิด (ต.ค.-พ.ค.) เด็กเหล่านี้จะถูกเรียกรวมตัวเพื่อไปรายงานตัวกับบริษัททัวร์ และตนเคยชวนเด็กมอแกนออกมาทำกิจกรรมอาสานอกพื้นที่เกาะ สุดท้ายออกมาไม่ได้เพราะบริษัททัวร์ไม่อนุญาต ไหนจะสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ค่อยสะอาดนัก
2. อุทยานฯ ก็ใช้แรงงานเด็ก ?
ทราย สก๊อต เล่าต่อไปว่าเคยนำเรียนเรื่องนี้ให้หัวหน้าอุทยานฯ รับทราบแล้ว แต่ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เป็นฝ่ายอุทยานฯ เองที่ได้ว่าจ้างชาวมอแกนมาทำงานเก็บกวาด ทำงานครัว แบกกระสอบข้าว ฯลฯ โดยอุทยานฯ ให้เงินตอบแทนเดือนละ 4,000-5,000 บาท
3. ดึงเด็ก ๆ ช่วยงานอาสา เพิ่มความปลอดภัย
เจ้าตัวเล่าต่อว่าชาติพันธุ์มอแกนมีพรสวรรค์หลายอย่าง อาทิ มองเห็นใต้น้ำได้ดี กลั้นหายใจได้นาน เป็นต้น จึงดึงน้อง ๆ ที่รู้จักมาทำกิจกรรม (เก็บขยะ) ด้วยกัน ประกอบกับอยากให้พวกเขาได้อยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่อุทยานเพื่อเพิ่มความปลอดภัย
ความไม่ปลอดภัยในชีวิตอีกหนึ่งประการที่ทรายสก๊อตชี้ให้เห็นคือ เด็กมอแกนไม่ได้รับการศึกษาเทียบเท่าเด็กคนไทยคนอื่น ๆ มีครูอาสาเพียงท่านเดียว ซึ่งไม่ได้มาบ่อยด้วยเหตุผลว่าเดินทางลำบาก
4. ส่งเสริมศัยภาพ-คุณภาพชีวิตชาวมอแกน
ประเด็นสุดท้ายที่เจ้าตัวทิ้งไว้คือ ภาครัฐรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมและพัฒนาทักษะความรู้ของชาวมอแกนเพื่อนำมายกระดับการท่องเที่ยวทะเล คนกลุ่มนี้เป็นเจ้าของพื้นที่รู้เรื่องราวทุกซอกหลืบบนเกาะ เหมาะแก่การพิจารณาให้เป็นเจ้าหน้าที่อุทยาน
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ชี้ แจง 5 ประเด็น
หลังกรณีเด็กชาวมอแกนกลายเป็นประเด็นร้อน สังคมตั้งคำถามถึงการทำงานของอุทยาน นายเกรียงไกร เพาะเจริญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ได้ออกมาคลายข้อสงสัย โดยมี 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. การตั้งถิ่นฐานและการดูแลชาวมอแกน : การย้ายชาวมอแกนจากวิถีชีวิตดั้งเดิมบนเรือกะบางมาตั้งถิ่นฐานถาวรที่อ่าวบอนใหญ่ เกาะสุรินทร์ใต้ ภายหลังเหตุการณ์สึนามิ เป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนโดยมีหน่วยงานราชการหลายภาคส่วนเข้ามาดูแล ทั้งด้านการศึกษาผ่านศูนย์การเรียนรู้ กศน. ซึ่งมีครูประจำ 4 อัตรา และด้านสาธารณสุขผ่านศูนย์สาธารณสุขมูลฐานที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดทั้งปี ไม่ใช่การทอดทิ้งแต่อย่างใด
2. ข้อกล่าวหาเรื่องการใช้แรงงานเด็ก : อุทยานฯ มีการจ้างงานชาวมอแกนที่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้น ด้วยค่าจ้างวันละ 200-250 บาท สำหรับการทำงานประมาณ 5 ชั่วโมงต่อวัน พร้อมอาหารเช้าและกลางวัน ซึ่งผู้ถูกจ้างสามารถนำอาหารกลับบ้านได้ด้วย
ส่วนกรณีบริษัททัวร์มีการจ้างชาวมอแกนผู้ใหญ่ในอัตราเงินเดือน 8,000-12,000 บาท (ไม่รวมทิป) ภาพเด็กที่ปรากฏเป็นการติดตามผู้ปกครองมา ไม่ใช่การจ้างงานเด็ก อุทยานฯ ยังดูแลเรื่องอาหารเช้าและเที่ยงแก่เด็ก ๆ ที่ติดตามผู้ปกครองมาเหล่านี้ด้วย และทางบริษัททัวร์ก็ยืนยันเช่นกันว่าไม่มีนโยบายจ้างหรือใช้แรงงานเด็ก
3. ประเด็นการไม่ช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิต : หัวหน้าอุทยานฯ เปิดเผยว่า ได้มีการประสานงานกับนายตะวัน กล้าทะเล ซึ่งเป็นทั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและญาติของผู้เสียชีวิตแล้ว โดยนายตะวันแจ้งว่าได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายศพและจัดการเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเองโดยใช้เรือส่วนตัว และไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากทางอุทยานฯ เนื่องจากเห็นว่าสามารถจัดการได้เอง
4. ข้อกล่าวหาบังคับเด็กชายถอดเสื้อถ่ายรูป : นายเกรียงไกรกล่าวว่า จากการตรวจสอบกับบริษัททัวร์ที่เกี่ยวข้อง ไม่พบว่ามีการบังคับให้เด็กชายชาวมอแกนถอดเสื้อเพื่อถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวหญิงแต่อย่างใด การที่ผู้ชายชาวมอแกน ไม่ว่าจะเป็นคนขับเรือหรือผู้ดูแลนักท่องเที่ยว ถอดเสื้อหลังเสร็จสิ้นภารกิจทางน้ำ ถือเป็นวิถีปฏิบัติปกติ ไม่ได้มีเจตนาเพื่อการถ่ายรูปหรือถูกบังคับ
5. กรณีการมาของคุณทราย สก็อต : หัวหน้าอุทยานฯ ให้ข้อมูลว่า คุณทราย สก็อต และทีมงาน ได้แจ้งวัตถุประสงค์การเดินทางมาเมื่อวันที่ 6 – 9 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าเพื่อสำรวจทรัพยากรใต้น้ำและเก็บขยะ
“ข้อมูลทั้งหมดที่ชี้แจงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้ อุทยานฯ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใสและคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมเสมอมา การให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอาจสร้างความเสียหายและก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง ซึ่งผู้กระทำการอาจเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายได้” นายเกรียงไกร เพาะเจริญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: ทราย - Merman Ψ (มนุษย์เงือก)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง