SHORT CUT
เบื้องหลังความสำเร็จของคนดัง: พวกเขาไม่ได้ทำทุกอย่างเอง แต่เลือกทำเฉพาะสิ่งที่สำคัญ พร้อมตัดสิ่งไม่จำเป็นทิ้งทันที
เวลาเรานึกถึงมหาเศรษฐี ซีอีโอ หรือผู้นำองค์กรระดับโลก ภาพแรกในหัวของหลายคนมักเป็นคนที่ทำงานหนักไม่หยุด ฉลาดสุดในห้อง และทุ่มเทแบบสุดลิ่มทิ่มประตู แต่ความจริงแล้ว ความสำเร็จระดับสูงไม่ได้มาจากการทำงานหนักล้วน ๆ หรือ IQ สูงอย่างเดียว เพราะคนที่อยู่แถวหน้าของโลกจำนวนมาก กลับมีคุณสมบัติที่ฟังดูขัดแย้ง นั่นคือ “ขี้เกียจอย่างฉลาด”
บิล ฮุกเตอร์ป (Bill Hoogterp) โค้ชผู้บริหารระดับ Fortune 500 และผู้ก่อตั้งบริษัท LifeHikes ซึ่งฝึกผู้นำมาแล้วกว่า 700,000 คน กล่าวว่า คนที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ ไม่ใช่คนที่ทำทุกอย่างเอง หรือคิดว่าต้องทำงานหนักตลอดเวลา แต่คือคนที่มี ความทะเยอทะยานสูงลิ่ว และ รู้จักหาทางลัดอย่างมีชั้นเชิง เพื่อใช้เวลาทำสิ่งที่สำคัญกว่า
ฮุกเตอร์ปเรียกสิ่งนี้ว่า “ความขี้เกียจเชิงกลยุทธ์” คือการตั้งคำถามกับทุกสิ่งว่า “เราจะทำให้มันเร็วขึ้น ง่ายขึ้น หรือไม่ต้องทำได้ไหม?” พวกเขาไม่ได้หลีกเลี่ยงงานหนักเพราะขี้เกียจแบบไร้เป้าหมาย แต่เพราะรู้ว่าเวลาของตัวเองมีค่า และต้องจัดสรรพลังให้ถูกจุด เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ใหญ่กว่า
ตัวอย่างมีให้เห็นชัดเจน มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ปลุกแนวคิด “Move fast and break things” ในยุคที่ Facebook โตแบบก้าวกระโดด, เจฟฟ์ เบซอส ส่งต่อคำแนะนำว่า “ยิ่งเรื่องน้อยลงที่ต้องให้ซีอีโอตัดสินใจ องค์กรก็ยิ่งโตเร็ว”, เจนเซน หวง ซีอีโอ Nvidia ไม่จัด one-on-one กับลูกน้อง 60 คน เพื่อให้ทุกคนแชร์ไอเดียแบบไม่ต้องรอคิว หรือแม้แต่อีลอน มัสก์ ที่สั่งห้ามประชุมยืดเยื้อ และอนุญาตให้พนักงานเดินออกจากห้องได้ถ้าไม่เห็นประโยชน์ เพราะสำหรับเขา “การเสียเวลาคือความผิดพลาดร้ายแรง”
เบื้องหลังแนวคิดเหล่านี้ คือทักษะในการมองเห็นภาพรวม เลือกโฟกัสในสิ่งที่สำคัญ และ ปฏิเสธสิ่งที่ไม่สร้างคุณค่า นั่นจึงทำให้พวกเขาไม่หมดแรงไปกับเรื่องจุกจิก และสามารถผลักดันสิ่งใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง ต่างจากคนที่ “ยุ่งตลอดเวลา” แต่ไม่ได้ก้าวหน้า
นอกจากเรื่องการทำงานแล้ว ฮุกเตอร์ปยังชี้ว่า ความสำเร็จในองค์กรยุคใหม่ ไม่ได้มาจากความเก่งอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับ “ทัศนคติ” เป็นหลัก บริษัทชั้นนำอย่าง Amazon, Meta, Microsoft หรือ Cisco ให้ความสำคัญกับบุคลิกและพลังบวกมากกว่าประวัติการศึกษา โดยใช้แบบทดสอบบุคลิกภาพคัดเลือกพนักงาน และหลายซีอีโอก็เคยบอกตรงกันว่า “เก่งแค่ไหนก็ไม่ช่วย ถ้านิสัยแย่”
ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า AI ของ Amazon ที่บอกว่าการตอบคำถามผิดไม่ใช่ปัญหา แต่การ “เฟค” คือสิ่งที่รับไม่ได้ หรือซีอีโอ Duolingo ที่ย้ำว่า “ดีกว่าขาดคน ดีกว่ามีคนผิด” ทุกคนต่างมองหา “นักแก้ปัญหา” ที่คิดเป็น มากกว่าคนที่แค่มีทักษะเยอะ
ดังนั้น หากคุณอยากก้าวหน้า ไม่ว่าจะในหน้าที่การงานหรือการใช้ชีวิต สิ่งที่ต้องฝึก อาจไม่ใช่แค่การอดหลับอดนอนเพื่อทำให้ทุกอย่างเสร็จ แต่คือการฝึก ตั้งคำถามกับงานทุกชิ้น รู้จักลัดให้ถูกจังหวะ และมีทัศนคติที่พร้อมเดินหน้าอยู่เสมอ เพราะในโลกที่เปลี่ยนเร็ว คนที่ไปรอดไม่ใช่คนที่ทำได้ทุกอย่าง แต่คือคนที่เลือกทำเฉพาะ “สิ่งที่ใช่” แล้วทำให้สุดต่างหาก
ที่มา : fortune
ข่าวที่เกี่ยวข้อง