svasdssvasds

"ไฟจราจร" มีต้นกำเนิดจากที่ไหน ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยใคร และมีทั้งหมดกี่แบบ?

"ไฟจราจร" มีต้นกำเนิดจากที่ไหน ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยใคร และมีทั้งหมดกี่แบบ?

ไฟจราจร ถูกติดตั้งเป็นครั้งแรกของโลกในวันที่ 9 ธ.ค. 1868 จากฝีมือการประดิษฐ์ของ "จอห์น พีค ไนท์" วิศวกร/ผู้อำนวยการสถารถไฟชาวอังกฤษ ประวัติความเป็นมาของไฟจราจรเป็นอย่างไร และตลอด 155 ปี มีไฟจราจรรูปแบบไหนบ้าง ติดตามได้ที่บทความนี้

ปัจจุบันนี้ เราทราบกันดีว่าไฟจราจรสำคัญแค่ไหนบนท้องถนน ถือเป็นกฎเหล็กที่ทุกคนต้องยึดถืออย่างเคร่งคัด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์บางคน ขับขี่รถกันประหนึ่งว่าโลกนี้ไม่เคยมีไฟจราจรอยู่ จนบางครั้งนำไปสู่อุบัติเหตุ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ-เสียชีวิต

แต่เคยสงสัยไหมว่า ไฟจราจรครั้งแรกเกิดขึ้นด้วยไอเดียแบบไหน และใครเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้น?

การจราจรบนท้องถนนในลอนดอนในศตวรรษที่ 19

ย้อนกลับไปในปี ท้องถนนของกรุงลอนดอนเต็มไปด้วยความอลหม่าน หันซ้ายเจอวัว หันขวาเจอรถม้า วิ่งสวนกันไปมาอย่างไรกฎระเบียบ การระแวกระวังภัยอันตรายจึงถือเป็น Hard Skill สำหรับมนุษย์ยุคนั้นเป็นอย่างมาก

มีบันทึกระบุไว้ว่า 2 ปีก่อนโลกจะมีสิ่งประดิษฐ์อย่างไฟจราจร มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนราว 1,102 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกราว 1,334 ราย จนกระทั่งในปี 1868 วิศวกร/ผู้อำนวยการสถานีรถไฟนามว่า “จอห์น พีค ไนท์” ผุดไอเดียสร้างไฟจราจรขึ้น

เนื่องในวันที่ 9 ธ.ค. 2023 ซึ่งเป็นเป็นวันครบรอบ 155 ปี การจัดตั้งไฟจราจรขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกที่กรุงลอนดอน SPRiNG ชวนย้อนดูบริบทในยุคนั้น (วิคตอเรียน) ความเป็นมาของ จอห์น พีค ไนท์ ทำไมเขาถึงสร้างไฟจราจรขึ้น พร้อมทั้งพาสำรวจวิวัฒนาการของไฟจราจรตลอด 155 ปี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ติดตามได้ที่บทความนี้

เปิดประวัติ “จอห์น พีค ไนท์”

จอห์น พีค ไนท์ ผู้คิดค้นไฟจราจรขึ้นครั้วแรกของโลก

จอห์น พีค ไนท์ เกิดวันที่ 13 ธันวาคม 1828 ที่เมือง Nottingham เมืองเล็ก ๆ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะอังกฤษ หรือให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เขามีชีวิตอยู่ในยุควิคตอเรียนพอดิบพอดี

จุดเริ่มต้นของอาชีพของไนท์เกิดขึ้นในปี 1839 ณ ตอนนั้นสถานีรถไฟสายหลักของเมือง Derby (Derby Railway Station) เปิดให้บริการเป็นครั้งแรก ไนท์ที่ตอนนั้นอายุราว 11 – 12 ปี ก็ได้ลาออกจากโรงเรียนเพื่อเข้าไปทำงานในห้องพัสดุของสถานีไฟ Derby

Derby Railway Station ที่ทำงานแรกของ เจ พี. ไนท์ Cr. Science Museum

ด้วยความที่เป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน ไนท์ถูกเลื่อนตำแหน่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จากนั้นเมื่ออายุครบ 20 ปี ไนท์ย้ายไปทำงานให้กับบริษัทให้บริการรถไฟทางตะวันเฉียงใต้ของอังกฤษ (The South Eastern Railway หรือ SER) จนในที่สุดไนท์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ

ระหว่างนั้น ไนท์ก็ดูแลรับผิดชอบและบริหารกิจการรถไฟจนอายุได้ 40 ปี ไนท์ได้รับการตั้งแต่ให้เป็นผู้จัดการฝ่ายจราจรของเส้นทางไบรท์ตัน ช่วงนี้เอง ที่เริ่มบอกใบ้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

The South East Railway บริษัทให้บริการรถไฟ

มีบันทึกที่ระบุว่า นิสัยส่วนตัวของไนท์เป็นคนที่ดูแลเอาใจใส่และเป็นห่วงสวัสดิภาพของผู้โดยสารเป็นอย่างมาก ในช่วงกลางดึก ซึ่งไร้แสงไฟ มีเพียงแสงจันทร์ ไนท์ได้กำชับพนักงานให้จัดหาแสงไฟที่พอจะหาได้อาทิ ตะเกียง หรืออะไรก็ตามที่พอจะให้แสงสว่างกับผู้โดยสารได้ นอกจากความปลอดภัยบนรางแล้ว ไนท์ยังให้ความสนใจความปลอดภัยบนท้องถนนด้วย จึงเกิดสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล

9 ธ.ค. 1868 เกิดไฟจราจรครั้งแรกของโลก

ก่อนจะพูดถึงไฟจราจร ขอปูพื้นการจราจรบนท้องถนนในยุคนั้นกันเสียก่อนเพื่อผู้อ่านจะได้นึกภาพตามได้ ในปี 1866 มีการจดบันทึกไว้ว่า ถนนในลอนดอนพลุกพล่านไปด้วยผู้คนและรถม้า อลหม่านกันอยู่บนถนนที่ไร้ระเบียบ วุ่นวายและอันตรายจนถึงขั้นที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,102 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกประมาณ 1,334 ราย เหตุเพราะถูกรถม้าชน

การจราจรบนท้องถนนในยุควิคตอเรียน

ไนท์ผู้ซึ่งเล็งเห็นปัญหาในส่วนนี้ จึงได้เสนอสร้างระบบสัญญาณไฟบนท้องถนน เพื่อใช้ควบคุมการเดินทางของคน จักรยาน หรือรถม้า เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนลง ไฟจราจรจากมันสมองของไนท์ เป็นต้นแบบไอเดียให้กับไฟจราจรในยุคปัจจุบัน

ไฟจราจรฝีมือการออกแบบโดยจอห์น พีค ไนท์ Cr. Flickr

ไฟจราจรดังกล่าวจะถูกควบคุมโดยตำรวจจราจรเพียงหนึ่งนาย มีความสูง 22 ฟุต และมีแขนสองข้างเพื่อยื่นขึ้นลงเพื่อบอกสัญญาณให้กับคนบนท้องถนนได้รู้ว่า ตอนนี้คือหยุดตอนนี้คือไปได้ คำถามคือ แบบไหนคือไปได้แบบคือต้องหยุด

การทำงานของไฟจราจรแรกของโลก Cr. Flickr

การทำงานของไฟจราจร

หากดูจากภาพจะเห็นว่า เมื่อแขนทั้งสองข้างตั้งในแนวระนาบพื้นดิน สัญลักษณ์นี้หมายถึงให้หยุดรถ และเมื่อแขนถูกเอาลงก็แปลว่าไปได้ และในตอนกลางคืน ไนท์ก็กลับไปนำไอเดียสมัยยังเป็นผู้อำนวยการสถานีมาปรับใช้ คือให้เติมไฟเข้าไปด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็น ไฟจราจรโดยไนท์มีแค่ 2 สีเท่านั้นคือ สีเขียวและสีแดง สีเขียวคือไปได้ สีแดงคือหยุด

9 ธ.ค. 1868 เกิดไฟจราจรครั้งแรกของโลก

จนเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 1868 หรือวันนี้เมื่อ 155 ปีที่แล้ว ไฟจราจรก็ถูกติดตั้งเป็นครั้งแรกในลอนดอน ใกล้กับพระราชวังเวสต์มินเตอร์ อันเป็นที่ประชุมของรัฐสภาอังกฤษนั่นเอง

โดยเป้าหมายของการติดตั้งครั้งนี้คือ ไนท์ต้องการจัดระเบียบการจราจรบนท้องถนนของบริเวณดังกล่าว เพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยจนเกินไป เพราะต่างคนต่างไป มั่วซั่วกันอยู่บนถนน

ไฟจราจรของจอห์น พีค ไนท์อายุสั้นมาก เพราะเกิดอุบัติเหตุเสียก่อน

ทว่า ใช้ไปได้ไม่กี่สัปดาห์จำต้องพับโครงการนี้ไป เพราะไฟจราจรของไนท์ใช้แก๊สในให้กำเนิดแสงไฟ จนเกิดเหตุการณ์แก๊สระเบิด จนทำให้ตำรวจจราจรได้รับบาดเจ็บ เป็นอันต้องพับโปรเจกต์ไป แต่เมื่อผ่านเวลาไป ไฟจราจรของไนท์ก็ได้รับเครดิตว่าเป็นไฟจราจรแรกของโลก

แม้ในปัจจุบันเราจะคุ้นเคยหรือติดภาพว่า ไฟจราจรคือมีไว้เพื่อควบคุมการจราจรบนท้องถนน ซึ่งก็คือ บรรดารถทั้งหลายแหล่ที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ แต่ในปี 1866 ที่ไนท์ประดิษฐ์ไฟจราจรขึ้น โลกยังไม่เกิดสิ่งประดิษฐ์อย่างรถขึ้น

Benz Patent Motor Car รถคันแรกของโลก Cr.wikipedia

รถคันแรกที่ผู้คนให้การยอมรับกันว่าเป็นรถคันแรกของโลกคือ Benz Patent Motor Car รถสามล้อที่ผลิตโดย Carl Benz ในปี 1886 ซึ่งก็คือ อีก 12 ปีถัดมาหลังจากที่ไนท์ผลิตไฟจราจรนั่นเอง

ไหน ๆ ก็ได้โอกาสเขียนถึงไฟจราจรแล้ว Spring ขอพานั่ง Time Machine ย้อนกาลไปดูวิวัฒนาการของไฟจราจรกันสักเล็กน้อย ว่าตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เราพัฒนากันมาไกลแค่ไหน

 

ปี 1912 เกิด "ไฟจราจรแบบไฟฟ้า" เป็นครั้งแรกจากฝีมือการประดิษฐ์ของ Lester Wire

ไฟจราจรแบบไฟฟ้าโดย Lester Wire Cr. Flickr

ปี 1923 "ไฟจราจรแบบ 3 สี" ขึ้นเป็นครั้งแรกจากฝีมือการประดิษฐ์ของ William Potts โดยสีที่เพิ่มมาคือ สีเหลือง

ไฟจราจร 3 สีของ William Potts Cr. My Traffic Lights

ปี 1923 เกิดสัญญาณจราจรแบบใหม่ "Stop and Go" ฝีมือการประดิษฐ์ของ  Garrett Morgan

ป้าย Stop and Go ใช้สื่อสารกับผู้ใช้ถนน Cr. WIPO

ปี 1950s ไฟจราจรได้รับความนิยมไปทั่วโลก และได้รับการพัฒนาให้ทันสมัยขึ้น ทั้งดีไซน์และฟังก์ชั่นการใช้งาน มีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยกำหนดเวลา-ให้สัญญาณตามสีต่าง ๆ แต่อาจจะใช้ได้แค่การคาดคะเนด้วยสายตาคร่าว ๆ เท่านั้น

ไฟจราจรในทศวรรษ 1950s Cr. Utica

นักวิชาการตัดไฟจราจรไว้ที่ทศวรรษ 1950s เท่านั้น เพราะหลังจากนี้เทคโนโลยีไม่ได้แปลกและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ หมายความว่า ไฟจราจรถูกปฏิวัติต่อกันมา นับเฉพาะครั้งที่สำคัญ มีทั้งหมดราว ๆ 5 ครั้งเท่านั้น

เกร็ดเล็กน้อย: ในปี 2545 ในรัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช มีการนำไฟจราจรแบบนับเวลาถอยหลังเข้ามาใช้เป็นครั้งแรก ควบคุมเวลาการปล่อยสัญญาณด้วยระบบคอมพิวเตอร์

 

 

 

ที่มา: LYT

        Washington State Magazine

        Made up in Britain

        Artsy

        Londonbygaslight

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related