svasdssvasds

กรมควบคุมโรค เตือน ใช้เสื้อผ้าเก่าเช็ดเท้า เสี่ยงผู้สูงวัยสะดุดหกล้ม

กรมควบคุมโรค เตือน ใช้เสื้อผ้าเก่าเช็ดเท้า เสี่ยงผู้สูงวัยสะดุดหกล้ม

กรมควบคุมโรค เผยผู้สูงอายุไทยน่าห่วง หกล้มปีละประมาณ 3 ล้านราย สาเหตุหลักเกิดจากการสะดุดล้ม ย้ำเตือนทุกบ้านให้เลี่ยงใช้เสื้อผ้าเป็นที่เช็ดเท้า ผู้สูงอายุไม่ใช้คันร่มแทนไม้เท้าจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้หกล้ม แนะควรประเมินความเสี่ยงการหกล้มอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2563 มีจำนวนกว่า 11.6 ล้านคน เรื่องที่น่าเป็นห่วงของประชากรวัยนี้คือเรื่องการพลัดตกหกล้ม แต่ละปีประมาณ 3 ล้านรายหกล้ม บาดเจ็บ 6 แสนราย ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 60,000 รายต่อปีหรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 ราย และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 4 ราย

และเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุเกิดความพิการ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และทางจิตใจ ทำให้หวาดกลัวการหกล้ม สาเหตุที่สำคัญคือมีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยพบมากถึงร้อยละ 35 ทำให้การทรงตัวได้ไม่ดีเหมือนวัยอื่นๆ รวมทั้งการมีโรคประจำตัว 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จากการสอบสวนเหตุการณ์ นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า “การพลัดตกหกล้มกว่าร้อยละ 80 เกิดภายในบ้าน จุดเสี่ยงนอกจากจะเป็นที่ห้องน้ำ ห้องนอนแล้ว ยังมีเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามอีก 4 เรื่อง 


ประการแรก คือผ้าเช็ดเท้า ควรใช้เป็นแผ่นหนาผืนเดียวกัน ไม่ควรนำเสื้อผ้ามาเป็นที่เช็ดเท้า อาจทำให้สะดุดล้มได้ 
ประการที่ 2 การเปลี่ยนใส่ผ้า ผู้สูงอายุควรนั่งเปลี่ยนบนเก้าอี้ที่มั่นคง ไม่ควรยืนเปลี่ยน อาจทำให้การทรงตัวไม่ดี เซหรือล้มง่าย 
ประการที่ 3 ไม่ใช้คันร่มแทนไม้เท้า เพราะไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้  
ประการที่ 4 รองเท้า ต้องมีพื้นหนาและมีดอกยางกันลื่น ไม่ควรใส่รองเท้าจนพื้นสึกบาง เพราะจะทำให้ลื่นง่าย”

 

ทางด้านนายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กล่าวว่า ผู้สูงอายุสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันการพลัดตกหกล้มได้ มีคำแนะนำดังนี้ 
1. ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน เช่น การยกลูกน้ำหนัก ขวดน้ำ การใช้ยางยืด ครั้งละ 30-50 นาที หรือไม่น้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะทำให้มีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การทรงตัวดีขึ้น  
2.หลีกเลี่ยงการใช้ยาไม่จำเป็น 
3.ควรสวมเสื้อผ้าพอดีตัว ความยาวกางเกงไม่เลยข้อเท้า 
4.ควรใส่รองเท้าหุ้มส้น พื้นที่มีดอกยางไม่ลื่น 
5.ผู้ที่มีความบกพร่องในการเดินหรือการทรงตัว ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น โครงเหล็กช่วยเดิน ไม้เท้า 
6.ควรเลี่ยงการเดินขึ้น-ลง บันได
7.แจ้งญาติหรือผู้ดูแลทุกครั้งที่ล้ม

ประการสำคัญ ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มปีละ 1 ครั้ง โดยสามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง เพื่อทราบความเสี่ยงของตนเอง จะได้ป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งขณะนี้กองป้องกันการบาดเจ็บได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย จัดทำคลิปการออกกำลังกายแบบแรงต้านสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะเผยแพร่ทาง Youtube 

สามารถติดตามเข้าชมและปฏิบัติตามได้ที่ https://ddc.moph.go.th/dip และจัดทำไลน์แอดบริการข้อมูลข่าวสารความรู้ต่างๆ ที่จำเป็น ผู้สูงอายุสามารถสมัครเป็นเพื่อนได้ที่ @DIPGunlom (แอดไลน์ดีไอพีกันล้ม) หรือติดตามใน Facebook กองการป้องกันการบาดเจ็บ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 0 2590 3955 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 

related