svasdssvasds

"อัมพาตหน้าครึ่งซีก" เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาท พบได้ทุกช่วงอายุ

"อัมพาตหน้าครึ่งซีก" เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาท พบได้ทุกช่วงอายุ

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผยเป็นอาการที่เกิดการอ่อนแรงของใบหน้าครึ่งซีก ทำให้ไม่สามารถขยับใบหน้าซีกนั้นได้ เป็นผลมาจากการอักเสบของเส้นประสาทใบหน้าหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7

 การแสดงออกทางใบหน้า ถือเป็นการบ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง ทั้งการยักคิ้ว การขยิบตา หรือการเบ้ปาก แต่หากเราไม่สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้ นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Bell’s palsy ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของเส้นประสาท และเป็นโรคอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย

 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคเส้นประสาทใบหน้าหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบ หรือเบลล์พัลซี (Bell’s palsy) คือ

ภาวะที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเกิดอัมพาตชั่วขณะ สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ โดยมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทบนใบหน้าที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้าเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก มักจะเป็นข้างใดข้างหนึ่ง หลับตาไม่สนิท มุมปากขยับได้ลดลง ดูดน้ำจากหลอดไม่ได้ มีน้ำรั่วที่มุมปาก หรือมีอาการเลิกคิ้วไม่ได้ การรับรสที่ปลายลิ้นผิดปกติ น้ำลายแห้ง น้ำตาแห้ง การได้ยินของหูข้างที่มีอาการลดลง หรือได้ยินเสียงก้อง และ มีอาการปวดบริเวณหลังใบหูร่วมด้วย บางรายเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคอีสุกอีไส, เชื้อเริม, งูสวัด ที่แฝงอยู่ในปมประสาท หากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลงจะทำให้เกิดโรคนี้ได้ ถือเป็นปัญหาสุขภาพ ที่เกิดขึ้นทันที และมักจะเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• จัสติน บีเบอร์ หน้าอัมพาตครึ่งซีก ภาวะแทรกซ้อนจากงูสวัด เลื่อนทัวร์ทั่วโลก

• โรค Stroke ส่องสัญญาณเตือน รู้ทันรอดอัมพาต

• ชิปฝังในสมอง ช่วยคนอัมพาต พิมพ์ 90 อักษรต่อนาที "แค่ใช้ความคิดเท่านั้น"

 ด้านนายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเป็นโรคที่สามารถค่อยๆฟื้นตัวและดีขึ้นเองได้ โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ การตรวจร่างกายเป็นสำคัญ ร่วมกับการตรวจการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ (NCS, EMG) การรักษาโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก คือ รักษาตามสาเหตุที่ทำให้โรค เช่น ให้ยาฆ่าเชื้อไวรัสกรณีที่มีการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเริม หรืองูสวัดร่วมด้วย, การให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบในรายที่ไม่มีการติดเชื้อ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดใบหน้า เช่น การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า, การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้า หรือนวดใบหน้า ช่วยลดภาวะกล้ามเนื้อตึงเกร็ง และการผ่าตัดในผู้ป่วยบางราย ในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรปิดตาข้างที่มีอาการ หรือ ใส่แว่นกันแดด ร่วมกับใช้น้ำตาเทียม และปิดตาเวลานอนเพื่อลดอาการเคืองตา ตาแดง หรือมีแผลที่แก้วตา 

 อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ป่วยมีอาการใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ เพราะผลของการรักษาจะได้ผลดีถ้าได้เริ่มรักษาได้เร็ว

related