svasdssvasds

เปิดอนาคตอุตสาหกรรม “ปิโตรเคมี-พลาสติก-ตลาดน้ำมัน” หลังโควิด-19

เปิดอนาคตอุตสาหกรรม “ปิโตรเคมี-พลาสติก-ตลาดน้ำมัน” หลังโควิด-19

เปิดอนาคต อุตสาหกรรม “ปิโตรเคมี-พลาสติก-ตลาดน้ำมัน” หลังโควิด-19 คนหันไปรักษ์โลก พลาสติกจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่คนรักษ์ได้อย่างไร ?

ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่ยังไม่มีบทสรุปหรือทางออกที่ชัดเจน ทำให้อุปทานน้ำมันอาจมีความเสี่ยง ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่สวนทางกันจากการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ทำให้ราคาน้ำมันโลกยังคงราคาสูงต่อไป

ดังนั้นการติดตามสถานการณ์โลก และการปรับตัวของการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและปิโตรเคมี จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะมองหาโอกาสใหม่ ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ทำให้กลุ่ม ปตท. จัดงานสัมมนาออนไลน์ 2022 PTT Group The Petrochemical Outlook Forum ภายใต้หัวข้อ  “Moving forward in the Post-COVID era” ซึ่งเป็นงานสัมมนาประจำปีของกลุ่ม PRISM Petrochemical Market Outlook โดยปีนี้ได้จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 และเป็นปีแรกที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนเข้าร่วมการสัมมนานี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ สถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก และการปรับตัวของธุรกิจปิโตรเคมีหลังสถานการณ์ COVID-19 โดยมุมมองจากนักวิเคราะห์ PRISM กลุ่ม ปตท. และ วิทยากรรับเชิญ

วิกฤตเศรษฐกิจจะอยู่กับเราไปอีก 1-2 ปี

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เศรษฐกิจหลังจากนี้จะผันผวนและคาดเดาได้ยาก ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งของยูเครน-รัสเซีย จึงทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงอยู่และจะสูงไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นเศรษฐกิจโลกทั้งในปีนี้ และปีหน้า มีแนวโน้มจะชะลอลงจากที่เคยประเมินไว้เมื่อตอนต้นปี

ด้านนโยบายของธนาคารกลางที่จะออกมาควบคุมเงินเฟ้ออย่าง ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในอัตราที่สูงกว่าปกติ เพราะสหรัฐฯเองก็มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเริ่มเผชิญความเสี่ยงกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อยังสูง หรือ Stagflation มากขึ้น และในกรณีเลวร้ายนั้น เศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ หรือยุโรป ก็มีความเสี่ยงที่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในช่วงปลายปี 2023 หรือ ต้นปี 2024 

โลกจะเริ่มลดการใช้น้ำมัน แต่พลาสติกยังมีความต้องการอยู่

แม้ว่าโลกจะเริ่มชะลอตัวแต่เรายังคงต้องตื่นไปทำงานทุกวัน การใช้งานวัสดุที่มาจากการผลิตน้ำมันก็ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา แม้ว่าโลกจะเริ่มหันมาลดการใช้มัน

นายเดชาธร ฐิสิฐสกร Marketing Strategy and Data Science บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ระบุว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วทั้งโลกกำลังจะก้าวไปพร้อมกันคือการลดการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ เช่น การขับเคลื่อนนโยบายใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และลดการใช้รถยนต์สันดาป จึงกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ถึงแม้ทั่วโลกจะเริ่มแบนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผลิตน้ำมันก็ยังคงเป็นที่ต้องการอยู่ เช่น ยางพลาสติกในแขนกล เป็นต้น

นายเดชาธร ฐิสิฐสกร Marketing Strategy and Data Science บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา ทั้งบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ ยารักษาโรค และงานก่อสร้าง ในปี 2564 ไทยมีความต้องการใช้พลาสติก อยู่ที่ 4.968 ล้านตัน โดยความต้องการพลาสติกในอีก 7 ปีข้างหน้าก็ยังมีความต้องการสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

นายธีรัช ศฤงคารินทร์ Marketing Analyst บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และ นางสาวนิรมล วุฒิพฤกษ์ Manager, Business Planning and Risk Management บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด กล่าวถึงผลกระทบต่อ Polyethylene/Polypropylene ว่า หลังเข้าสู่ยุค New Normal โลกกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอีกครั้ง ภาคอุตสาหกรรมการผลิต Polyethylene/Polypropylene และ Brand Owner ต่างก็ต้องปรับตัว ความต้องการสูงขึ้น แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี หลังจากนี้ ต้องหันมาดูในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น

การใส่ใจสิ่งแวดล้อมจากธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เช่น การผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล, การออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล เพราะพลาสติกสูงถึง 41% ในประเทศถูกใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ ประกอบกับหากผู้ใช้พลาสติกรู้จักวิธีจัดการให้เหมาะสม และยังสามารถมีส่วนร่วมช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เพียงแค่รู้จัก Reuse นำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ, ช่วยกันแยกขยะอย่างถูกวิธี และนำไป Recycle/Upcycle ต่อไป

นายธีรัช ศฤงคารินทร์ Marketing Analyst บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC

นางสาวนิรมล วุฒิพฤกษ์ Manager, Business Planning and Risk Management บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด

โรงกลั่นในอนาคตจะผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงน้อยลง แต่เพิ่มการผลิตสารเคมีมากขึ้น

นายสิรวิชญ์ สมรัตนกุล นักวิเคราะห์การพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ระบุว่า โรงกลั่นหลังจากนี้มีแนวโน้มผลิตเชื้อเพลิงน้อยลง และผลิตสัดส่วนสารเคมีเพิ่มมากขึ้น จึงผลักดันให้ตลาดเติบโตมากขึ้น แต่เราก็ยังคงต้องรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันด้วย ปัจจุบันเราสามารถผลิตพลาสติกจากธรรมชาติ (Bio-materials) ที่อาจเข้ามาแทนที่การใช้พลาสติกจากน้ำมัน (Fossil-based) ในอนาคตได้ แต่ข้อจำกัดของพลาสติกจากธรรมชาติ คือ ต้นทุน และความสามารถในการผลิตในจำนวนมากที่ยังมีข้อจำกัด

ขณะที่การแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Ban single-used plastic) กลายเป็นปัจจัยลบในตลาดนี้ แต่พลาสติกที่ใช้ในกลุ่มยานยนต์ ทั้งในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงเติบโตอยู่ จึงเชื่อว่าจะเข้ามาทดแทนส่วนที่ถูกแบนไป

นายสิรวิชญ์ สมรัตนกุล นักวิเคราะห์การพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP

ดังนั้นแนวทางการปรับตัว และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพลาสติกหลังสถานการณ์ COVID-19 รวมถึงนโยบาย และแผนงานด้านความยั่งยืนของทุกภาคส่วน จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจในอนาคต ทั้งในระดับประเทศ ระดับหน่วยงาน องค์กร ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น

related