svasdssvasds

ไฮไลต์ ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” อลเวง ก้าวไกล VS เพื่อไทย

ไฮไลต์ ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” อลเวง ก้าวไกล VS เพื่อไทย

ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” ระหว่างก้าวไกล VS เพื่อไทย ยังคงร้อนระอุ และยังคงไม่ได้ข้อสรุป ล่าสุด ที่ประชุม “เพื่อไทย” มีมติหนุน “วันนอร์” หัวหน้าพรรคประชาชาติ นั่งประธานสภา 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เตรียมแถลงร่วมกันกรณีประธานสภา

แม้จะเหลือระยะเวลาแค่วันเดียว ก่อนวันโหวตเลือก “ประธานสภา” ในวันที่ 4 กรกฎาคม แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ สำหรับศึกการช่วงชิงเก้าอี้ดังกล่าว ที่ห่ำหั่นกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ระหว่าง “พรรคก้าวไกล” กับ “พรรคเพื่อไทย” จนทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่า รอยร้าวที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การแตกหัก จนทั้ง 2 พรรคไม่อาจร่วมรัฐบาลกันได้

ซึ่งหลังการวันเลือกตั้ง และมีการประกาศจัดตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” ก็มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับศึกชิง “ประธานสภา” ระหว่างทั้ง 2 พรรค ดังต่อไปนี้

ก้าวไกล - เพื่อไทย จุดยืนชัด ต้องได้ประธานสภา

23 พฤษภาคม – 17 มิถุนายน 2566

หลัง “พรรคก้าวไกล” กับ “พรรคเพื่อไทย” ประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ทั้ง 2 พรรคก็แสดงจุดยืนอย่างแน่วแน่ว่า ต้องการเก้าอี้ “ประธานสภา” โดยเฉพาะการโพสต์ข้อความของ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาฯ คณะก้าวหน้า ที่ประกาศว่า “ประธานสภา ตำแหน่งที่ก้าวไกล เสียไปไม่ได้” ก็ชี้ให้เห็นว่าเก้าอี้นี้คือเดิมพันสำคัญ ที่จะกำหนดว่า สุดท้ายแล้ว “ก้าวไกล” จะได้เป็นรัฐบาล หรือเป็นฝ่ายค้าน ?

ส่วน “พรรคเพื่อไทย” ก็ยืนยันว่า ต้องได้เก้าอี้ “ประธานสภา” เพราะคะแนนพรรคอันดับ 1 กับอันดับ 2 ห่างกันไม่มากนัก ดังนั้นเมื่อ “ก้าวไกล” ได้เก้าอี้นายกฯ “เพื่อไทย” ก็ควรที่จะได้เก้าอี้ “ประธานสภา” จึงจะยุติธรรม  

ไฮไลต์ ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” อลเวง ก้าวไกล VS เพื่อไทย

บทความที่น่าสนใจ

เพื่อไทยเหมือนจะถอย ก่อนกลับลำ 360 องศา

18 - 30 มิถุนายน 2566

หลังจากที่อึมครึมว่า สุดท้ายแล้วพรรคใดจะได้เก้าอี้ “ประธานสภา” ไปครอบครอง จู่ๆ ก็เกิดเซอร์ไพรส์ขึ้นในวันที่ 18 มิ.ย. โดยทั้ง “ภูมิธรรม เวชยชัย” และ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” 2 แกนนำของพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาประสานเสียงว่า พรรคอันดับ 1 ควรได้เก้าอี้ “ประธานสภา” แต่เนื่องจากคะแนนไม่ห่างกันนัก ดังนั้น พรรคอันดับ 2 ควรได้ 2 เก้าอี้ “รองประธานสภา”

ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ก็ทำให้สังคมเข้าใจว่า “ศึกประธานสภา” ได้ข้อยุติลงแล้ว ถึงขนาดที่ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาฯ ก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ขอบคุณ “พรรคเพื่อไทย” ในวันต่อมา

แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สังคมงงงันขึ้นมาอีก จากท่าทีของ “อดิศร เพียงเกษ” ส.ส. พรรคเพื่อไทย ประกาศว่า ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ ไม่ยอมยกเก้าอี้ “ประธานสภา” ให้พรรคก้าวไกล พร้อมท้าทายให้มีการฟรีโหวตในวันเลือกประธานสภา

“ปมประธานสภา” ที่นึกว่าจะจบ จึงกลับมาร้อนแรง โดยมีชื่อของ “สุชาติ ตันเจริญ” ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หรือ “พ่อมดดำ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ว่าอาจถูกเสนอในวันโหวตชิงประธานสภา แต่ไม่แน่ชัดว่า จะเสนอโดย “พรรคเพื่อไทย” หรือ “พรรคพลังประชารัฐ”

ประกอบกับ “สุชาติ” ก็หลีกเลี่ยงการสัมภาษณ์ ไม่แสดงความชัดเจนให้สังคมหายสงสัย ทำให้ข่าวสะพัดดีลลับภาค 3 ระหว่างเพื่อไทย - พลังประชารัฐ กระหึ่มขึ้นมา ว่าจะมีการหักเหลี่ยมเฉือนคมในวันโหวตประธานสภา โดยทาง “พลังประชารัฐ” จะเสนอชื่อ “สุชาติ” เข้าชิงฯ เพื่อกรุยทางสู่การตั้งรัฐบาลสลับขั้ว และไปไกลถึงขั้นดัน “บิ๊กป้อม” เป็นนายกฯ เพื่อแลกกับการได้กลับบ้านของใครบางคน  

ไฮไลต์ ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” อลเวง ก้าวไกล VS เพื่อไทย

ก้าวไกล ส่งสัญญาณ พร้อมแตกหัก

27 – 30 มิถุนายน 2566

วันที่ 27 มิถุนายน แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ได้ออกมาแถลงถึงผลการประชุมกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. ได้ข้อสรุปว่า “เพื่อไทย” ต้องได้เก้าอี้ประธานสภา และในช่วงเย็นวันเดียวกัน “พรรคก้าวไกล” ก็ประกาศเปิดตัว “หมออ๋อง - ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ในฐานะแคนดิเดตประธานสภา และได้มีโพสต์ข้อความแสดงวิสัยทัศน์ ผ่านทางสื่อโซเชียลของ “พรรคก้าวไกล”

ซึ่งในช่วงกลางดึกของวันเดียวกัน “พรรคก้าวไกล” ก็ได้แจ้งสื่อ เลื่อนการเจรจาปมประธานสภา ระหว่าง “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” ออกไปก่อน ตามหมายกำหนดการเดิมวันที่ 28 มิถุนายน

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างทั้ง 2 พรรคยิ่งมีแนวโน้มย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อในวันถัดมา “อดิศร เพียงเกษ” ส.ส. พรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์แสดงความไม่พอใจ “พรรคก้าวไกล” ในการประกาศชื่อแคนดิเดตประธานสภา ทั้งๆ ที่การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ พร้อมขู่ฟรีโหวต “ประธานสภา” วัดพลังกันจะๆ ให้เห็นกันชัดๆ ไปเลย

และต่อมาก็ได้มีการประกาศเลื่อนการประชุม 8 พรรค จากวันที่ 29 มิถุนายน ไปเป็นวันที่ 2 กรกฎาคม เวลา 10.00 น.  ที่ทำการพรรคเพื่อไทย

แต่แล้วในช่วงกลางดึกของวันที่ 29 มิถุนายน ก็มี “ข่าวปล่อย” ออกมาว่า “เพื่อไทย” ยอมให้เก้าอี้ “ประธานสภา” กับ “ก้าวไกล” ด้วยสูตร เพื่อไทย 15+2 (15 รัฐมนตรี + 2 รองประธานสภา) ก้าวไกล 13+1 (13 รัฐมนตรี + 1 นายกฯ)

แต่ในวันรุ่งขึ้น (30 มิถุนายน) “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ปมประธานสภายังไม่ได้ข้อสรุป โดยที่ประชุมของพรรคจะเคาะในวันที่ 3 กรกฎาคม ก่อนวันโหวตประธานสภา 1 วัน

ไฮไลต์ ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” อลเวง ก้าวไกล VS เพื่อไทย

เพื่อไทย เปลี่ยนเกม ดัน “วันนอร์” นั่งประธานสภา ?

2 – 3 กรกฎาคม 2566  

หลังการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในวันที่ 2 กรกฎาคม ก็ยังไม่มีบทสรุปปมประธานสภา โดย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จะให้คำตอบในวันที่ 3 กรกฎาคม เวลา 12.00 น. หลังการประชุมกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. ของ “พรรคเพื่อไทย”

แต่แล้วช่วงกลางดึกวันที่ 2 กรกฎาคม “มดดำ - คชาภา ตันเจริญ”  ก็โพสต์ข้อความ “พ่อ ภูมิใจนะที่พ่อ ยังเชื่อลูกคนนี้บ้าง หนูเชื่อบนเส้นทางประชาธิปไตย ยังสวยงามเสมอ ภูมิใจที่เป็นลูกพ่อ”

ทำให้มีกระแสข่าวออกมาว่า “สุชาติ ตันเจริญ” ยอมถอยจากศึกชิง “ประธานสภา” และ “พรรคเพื่อไทย” จะเสนอชื่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภา เพื่อผ่าทางตัน ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคก้าวไกล”

ซึ่งในวันที่ 3 กรกฎาคม ก่อนการประชุมฯ ทางแกนนำของพรรคอย่าง “ภูมิธรรม เวชยชัย” ก็ได้ให้สัมภาษณ์สอดคล้องกับกระแสข่าวดังกล่าว โดยระบุว่า  “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” คือทางออกของปมประธานสภา

แต่หลังจากประชุมเสร็จ “พรรคเพื่อไทย” ก็ขอเลื่อนการแถลงผลการประชุมออกไปอีก เป็นหลังรัฐพิธีเปิดการประชุมรัฐสภา ช่วงเย็นของวันนี้ (3 กรกฎาคม) แต่ก็มีการคาดกันว่า ที่ประชุมของพรรคมีข้อเสนอ ให้ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นประธานสภา ซึ่งถ้ามาทางเวย์นี้ ก็ยังไม่แน่ชัดว่า “พรรคก้าวไกล” จะโอเคด้วยหรือไม่

แต่หาก “พรรคก้าวไกล” ยังคงยืนหยัดว่า “ประธานสภา” จะต้องเป็นของ “พรรคก้าวไกล” ก็มีแนวโน้มว่า การเลือก “ประธานสภา” ในวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งเป็นการลงคะแนนลับ จะเป็นไปในทิศทางฟรีโหวต ทางใครทางมัน

แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ พรรคเพื่อไทยมี 141 เสียง พรรคก้าวไกลมี 151 เสียง แต่พรรคร่วมรัฐบาลเดิม มีเสียงรวมกัน 188 เสียง ถ้าเกิดมีการพลิกเกม โดย 1 ในพรรคร่วมฯ เดิม เสนอบุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้าชิง “ประธานสภา” ไปๆ มาๆ ทั้ง “ก้าวไกล” และ “เพื่อไทย” อาจต้องชวดเก้าอี้ดังกล่าว แต่ตรงนี้อาจมีแผนซ้อนแผนที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก และอาจจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ดีลลับจัดตั้งรัฐบาลสลับขั้วนั้น มีจริงๆ หรือไม่ ?

ไฮไลต์ ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” อลเวง ก้าวไกล VS เพื่อไทย

ไฮไลต์ ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” อลเวง ก้าวไกล VS เพื่อไทย

related