svasdssvasds

อัปเดต สูตรจัดตั้งรัฐบาล จับตา “ภูมิใจไทย” คำตอบสุดท้ายรัฐบาลก้าวไกล ?

อัปเดต สูตรจัดตั้งรัฐบาล จับตา “ภูมิใจไทย” คำตอบสุดท้ายรัฐบาลก้าวไกล ?

อัปเดต สูตรจัดตั้งรัฐบาล หลังศึกชิงประธานสภา จับตา “ภูมิใจไทย” กลายเป็นพรรคตัวแปรสำคัญอีกครั้ง เมื่อมีแนวโน้มสูงว่า ยากที่ ส.ว. จะโหวตสนับสนุนให้ “พิธา” เป็นนายกฯ

ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับการโหวต “นายกฯ” หลังจากศึกชิง “ประธานสภา” สิ้นสุดลง โดย “พรรคก้าวไกล” ยอมถอย ทิ้งที่มั่นสำคัญที่อาจส่งผลต่อการเป็นรัฐบาล ซึ่งอีกไฮไลท์สำคัญในประชุมสภา นัดแรก นั่นก็คือการโหวตเลือก “รองประธานสภา คนที่ 1” ที่มีสัญญาณบางอย่างที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

จำนวนเสียงปริศนา

ในการโหวตเลือกประธานสภา “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นตัวแทนของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เสนอชื่อ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" ส.ส.พรรคประชาชาติ โดยที่ประชุมไม่มีใครเสนอชื่ออื่นเข้ามาแข่งขัน

แต่ในการโหวตเลือก “รองประธานสภา คนที่ 1” ซึ่ง “8 พรรคร่วม” มีมติส่ง “หมออ๋อง - ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ส.ส.พรรคก้าวไกล และในที่ประชุมได้มีการเสนอชื่อ “วิทยา แก้วภราดัย” ส.ส. พรรครวมไทยสร้างชาติ เข้าชิง แม้ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” จะชนะไปตามคาด แต่ผลคะแนนที่ออกมา ก็เหมือนมีสัญญาณบางอย่างให้น่าถอดรหัส

ซึ่ง “หมออ๋อง – ปดิพัทธ์” ได้คะแนน 312 เสียง แสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ส่วน “วิทยา” ได้คะแนนไป 105 เสียง แต่ตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ มี “ผู้งดออกเสียง” สูงถึง 77 คน แต่ด้วยการลงคะแนนเป็นไปในทางลับ จึงไม่อาจทราบได้ว่า 77 เสียงปริศนานี้คือใคร และส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคใด ?

อัปเดต สูตรจัดตั้งรัฐบาล จับตา “ภูมิใจไทย” คำตอบสุดท้ายรัฐบาลก้าวไกล ?

“ภูมิใจไทย” ตอบโจทย์การตั้งรัฐบาล

สาเหตุที่ตัวเลข 77 เสียงนี้มีความน่าสนใจ ก็เพราะว่าหากมีการส่งสัญญาณบางอย่าง ในห้วงเวลาที่ “พรรคก้าวไกล” แทบจะหมดลุ้นในการที่จะได้เสียง ส.ว. มาโหวตสนับสนุน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จนได้เสียงทั้ง 2 สภาถึง 376 เสียง แต่ถ้าเสียงปริศนาเหล่านี้บวกกับ 8 พรรคร่วม ที่ปัจจุบันมีอยู่ 312 เสียง  ก็สามารถดัน “พิธา” เป็นนายกฯ ได้เลย

ซึ่งถ้าเทียบกับจำนวน ส.ส. ในสภา ตัวเลขที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือ “พรรคภูมิใจไทย” ที่มี ส.ส. 71 คน และในความเป็นจริงในวันนี้ หาก “8 พรรคร่วม” ได้ “ภูมิใจไทย” เข้าแท็กทีมด้วย ก็จะสามารถปิดสวิตช์ ส.ว. ได้ในทันที

โดยก่อนหน้านี้ทั้ง “พรรคก้าวไกล” และ “พรรคเพื่อไทย” ให้สัญญากับประชาชนว่าจะไม่ร่วมกับ “พรรค 2 ลุง” เท่านั้น ทำให้จำนวนเสียงของ “พรรคภูมิใจไทย” ตอบโจทย์ “การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของ “รัฐบาลก้าวไกล” หรือ “รัฐบาลเพื่อไทย” เป็นอย่างยิ่ง

อัปเดต สูตรจัดตั้งรัฐบาล จับตา “ภูมิใจไทย” คำตอบสุดท้ายรัฐบาลก้าวไกล ?

“ภูมิใจไทย” กลายเป็นพรรคตัวแปรสำคัญอีกครั้ง

แต่ถึงแม้ “พรรคก้าวไกล” จะไม่เคยให้สัญญาประชาคมว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับ “พรรคภูมิใจไทย” แต่ก็คาดว่า หาก “ก้าวไกล” ยังคงเป็นแกนนำ ก็คงเป็นเรื่องที่ยาก ที่ “ภูมิใจไทย” จะเข้ามาร่วมด้วย แต่ถ้าหากเกิดขึ้นจริงก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่สุดเซอร์ไพรส์เป็นอย่างยิ่ง

แต่สูตรที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า ก็คือการสลับให้ “พรรคเพื่อไทย” ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ด้วย “สูตรรัฐบาลเพื่อไทย” หรือ “รัฐบาลส้มหล่น” 9 พรรค ดังต่อไปนี้

“พรรคเพื่อไทย” 141 เสียง แกนนำจัดตั้งรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ

“พรรคก้าวไกล” 151 เสียง

“พรรคภูมิใจไทย” 71 เสียง (เข้ามาใหม่)

“พรรคประชาชาติ” 9 เสียง

“พรรคไทยสร้างไทย” 6 เสียง

“พรรคเพื่อไทรวมพลัง” 2 เสียง

“พรรคเสรีรวมไทย” 1 เสียง

“พรรคเป็นธรรม” 1 เสียง

“พรรคสังคมใหม่” 1 เสียง  

รวม 383 เสียง

อัปเดต สูตรจัดตั้งรัฐบาล จับตา “ภูมิใจไทย” คำตอบสุดท้ายรัฐบาลก้าวไกล ?

สูตรรัฐบาลรักสลับขั้ว ยังมีความเป็นไปได้ไหม ?

แม้จำนวน ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทย จะตอบโจทย์ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่า “สูตรรัฐบาลรักสลับขั้ว” จะเกิดขึ้นไม่ได้ ยิ่งในตอนนี้ที่ “พรรคเพื่อไทย” ชนะในศึกชิงประธานสภา อำนาจต่อรองเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ทำให้สามารถเดินหมากได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะอยู่กับขั้วเดิม หรือจะสลับขั้ว ก็ตาม

ซึ่งในกรณีของ “พรรคพลังประชารัฐ” แม้จะมี ส.ส.เพียงแค่ 40 คน แต่อย่าลืมว่า “บิ๊กป้อม” มีคอนเนคชั่นกับเหล่า ส.ว. จำนวนมากในระดับแน่นปึ้ก อีกทั้งถ้าสมมติ “พรรคเพื่อไทย” ต้องการเป็นรัฐบาล และอยากให้ใครบางคนได้กลับบ้านด้วย “พรรคพลังประชารัฐ” ก็น่าจะกลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

แต่ถ้า “พรรคพลังประชารัฐ” มา ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า “พรรคก้าวไกล” อาจจะถอนตัวออกไป ทำให้ในที่สุดทั้ง “ภูมิใจไทย” และ “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” อีกหลายพรรค จะเข้ามาแทน

และยังมีอีกโมเดลหนึ่ง ที่น่าจะเป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ นั่นก็คือ “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” ส่งแคนดิเดตฯ เข้าชิง ตั้งแต่การโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรกเลย แม้จะมีจำนวนเสียงรวม 188 เสียง แต่มีความเป็นได้สูงว่าจะได้เสียง ส.ว. จำนวนมากเข้ามาเติม จนเกิน 376 เสียงได้ในที่สุด ยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปก่อน ส่วนหนทางข้างหน้า ค่อยว่ากันอีกที

related