svasdssvasds

พิชาย สงสัย "เพื่อไทย" จับมือข้ามขั้ว หวังขับก้าวไกลออก หวั่นขัดแย้งรุนแรง

พิชาย สงสัย "เพื่อไทย" จับมือข้ามขั้ว หวังขับก้าวไกลออก หวั่นขัดแย้งรุนแรง

พิชาย ตั้งคำถาม "เพื่อไทย" เล่นละครจับมือข้ามขั้ว หวังขับก้าวไกลออกจากพรรคร่วมหรือไม่ ระวังเจอมวลชนโต้กลับ หวั่นการเมืองลงถนน หากข้ามขั้วอาจเกิดความขัดแย้งรุนแรง

 วันที่ 23 ก.ค. 2566 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา วิเคราะห์การโหวตนายกฯรอบ3 และการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้มุมมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ที่เชิญขั้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมาพูดคุย 

โดย อ.พิชาย ระบุว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างความคลางแคลงใจให้คนจำนวนมากกับการกระทำของพรรคเพื่อไทย ว่า ต้องการอะไรกันแน่ หรือ พรรคเพื่อไทย จะเป็นหนึ่งในขบวนการบดขยี้เสียงส่วนใหญ่ประชาชนใช่หรือไม่? เพื่อไทยจะเอาเช่นนั้นหรือ? 

 เพื่อไทยตระหนักดีว่า 5 พรรครัฐบาลเดิม ประกาศชัดว่า ยังไงก็ไม่ร่วมรัฐบาลที่มีก้าวไกลอยู่ คำถามคือ เมื่อได้ยินชัดแล้ว ทำไมยังต้องเชิญเขามาอีก สิ่งที่ริเริ่มการพูดคุยและแถลงให้สาธารณะทราบในตอนแรก และ ก่อให้เกิดความเข้าใจทั่วไป 

 มองว่าเพื่อไทยน่าจะเจรจากับวุฒิสมาชิกก่อน เพื่อจะไปดูว่าจะสามารถโน้มน้าววุฒิสมาชิกให้มาสนับสนุนได้กี่เสียง จากนั้นจึงค่อยดำเนินการคุยกับพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งที่ไม่ใช่พลังประชารัฐ กับ รวมไทยสร้างชาติ เพื่อให้ได้เสียงครบตามจำนวน

ในทางกลับกัน หากยังไม่ได้เสียงเพียงพอ จึงไปเจรจากับพรรคการเมืองหลักๆ แต่ครั้งนี้มองว่า พรรคเพื่อไทยทำข้ามขั้นตอนที่ควรจะเป็น ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าพรรคการเมืองเหล่านั้นไม่ต้องการก้าวไกล

“ตอนนี้สังคมคิดไปในทิศทางเดียวกันว่า เพื่อไทยยืมปากของพรรคการเมืองทั้งภูมิใจไทย และ ชาติพัฒนากล้า พูดเพื่อขับไล่ ก้าวไกลออกจากการร่วมรัฐบาล 8 พรรค แม้จะมีการปฏิเสธว่าเชิญมาซักถาม แต่เป็นการพูดที่ขาดน้ำหนักและคงไม่มีใครเชื่อเช่นนั้น พูดไปรังแต่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการแก้ตัวที่น่ารังเกียจมากกว่า” 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• ชลน่าน ปัด ผลัก “ก้าวไกล” เป็นฝ่ายค้าน ยัน เจรจากับพรรคต่างๆ ตามภารกิจ

• “ปริญญา” เตือน “เพื่อไทย” เจรจาพรรคต่างขั้วตั้งรัฐบาล ระวังเสียอำนาจต่อรอง

• ผลประชุม 2 พรรค! "วราวุธ" ย้ำจุดยืนเทิดทูนสถาบัน! ไม่เอาพรรคแก้ม.112

 อ.พิชาย ยังมองว่า ปรากฎการณ์นี้ นำไปสู่ข้อสรุปของความพยายามใน 1-2 วันนี้ของเพื่อไทย ที่พยายามจะเบียดก้าวไกลออกจากการร่วมรัฐบาล ถ้าเพื่อไทยมีเจตนาเช่นนี้จริงๆ ก็เข้าไปสู่ประเด็นการร่วมมือกับกลุ่มอำนาจเก่าในการบดขยี้เสียงประชาชน

แต่เพื่อไทยยังมีโอกาสที่จะแก้ตัวในเวลาที่เหลืออยู่ 6 วัน สิ่งที่เพื่อไทยพึงกระทำตอนนี้ คือ เมื่อทราบมติของบรรดาพรรคต่างๆ แล้ว ค่อยไปหา สว. และไปดูว่ามี สว.ท่านใดบ้างที่เคารพหลักการเสียงส่วนใหญ่ 

“ผมคิดว่า สว.ที่เป็นผู้ใหญ่ มีจิตใจที่เป็นอิสระ และมีวิธีคิดที่ยึดหลักการประชาธิปไตย เห็นแก่บ้านเมือง ยังมีอีกไม่น้อย และเป็นหน้าที่ของเพื่อไทยที่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักหน่วงเพื่อไปจูงใจและโน้มน้าวสว.เหล่านั้น ให้มาสนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคในการตัดตั้งรัฐบาลให้ได้”

ในกรณีที่ขอเสียงจากสว.ไม่ได้จริงๆ ค่อยมาบอกประชาชนว่าทำไม่ได้ แล้วให้ไปโหวตในสภา ให้รู้อีกครั้งว่า สว.จะโหวตโดยไม่คำนึงถึงเสียงประชาชนครั้งที่ 2 

ส่วนจะได้หรือไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่ได้ในวันที่ 27 ก.ค. 8 พรรคร่วมก็มาประกาศว่าจะยุติการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรค แต่ 8 พรรคยังผนึกรวมกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อยืนยันในเจตนารมณ์ของประชาชนต่อไป ไม่ว่าต้องใช้เวลานานเท่าไร

“ถ้าหากพรรคร่วมรัฐบาลต้องการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็ให้เขาจัดไป ดูสิว่าจะมีสำนึกเพียงพอ หรือ มีความกล้าเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ให้เป็นที่หัวเราะเยาะของชาวโลกได้หรือไม่” 

อ.พิชายมองว่า ถ้าหากเดินตามเส้นทางนี้ สังคมไทยจะยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง และเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าพลังอำนาจของประชาชน จะไม่ยอมแพ้ให้กับกลุ่มอำนาจเก่าที่มาจากการรัฐประหารอย่างเด็ดขาด 

นอกจากนี้ยังย้ำว่า อยากให้พรรคเพื่อไทยพิจารณาและทบทวนการกระทำเสียใหม่ ถ้าทำต้องรับผลการกระทำด้วย

ฉากทัศน์ที่เกิดขึ้นหากพรรคเพื่อไทยข้ามขั้ว คืออะไร? 

 ดูจากปฏิกิริยา จากมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเพื่อไทย ก็เห็นภาพไม่ยาก ถ้าเพื่อไทยข้ามขั้ว นั่นก็หมายความว่าเพื่อไทย “เลือกอำนาจ” และทอดทิ้งประชาชนจะเผชิญหน้าแรงปฏิกิริยา โต้กลับจากประชาชนทั้งคนที่สนับสนุนและไม่ได้สนับสนุนเพื่อไทย นี่คือสิ่งที่ต้องเผชิญหน้า

 หากจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะเผชิญกับรัฐบาลที่ง่อนแง่นมาก ไร้ความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดเก่า แต่ยังนำคนเก่ามาร่วมประชาชนไม่ต้อนรับ จะเกิดการชุมนุมขยายตัว ขณะที่ในสภาก็ต้องเผชิญหน้ากับการเป็นฝ่ายค้านที่ทรงพลังของก้าวไกล 

แต่ถ้าเพื่อไทย แสร้งหลอก 5 พรรคร่วมเพื่อให้โหวตเลือกนายกฯ พอจัดตั้งรัฐบาลเสร็จก็ปรับครม.ดึงก้าวไกลเข้ามา อาจจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นและเป็นการตลบหลังกลุ่มอำนาจเก่าได้อย่างเจ็บแสบ

related