svasdssvasds

ฉนวนกาซา ประวัติ ดินแดนกันชน อิสราเอล-ปาเลสไตน์ : คุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ฉนวนกาซา ประวัติ ดินแดนกันชน อิสราเอล-ปาเลสไตน์ : คุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ทำความรู้จัก ประวัติ พื้นที่ ฉนวนกาซา ดินแดนกันชน ระหว่าง อิสราเอล-ปาเลสไตน์ และกลุ่มฮามาส ซึ่งมันได้ กลายเป็นคุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไปแล้ว ... เพราะผู้คนแออัด คุณภาพชีวิตย่ำแย่ และเต็มไปด้วยปัญหาจากไฟสงคราม

นับตั้งแต่ สงครามรอบล่าสุด ระหว่างกลุ่มฮามาส กับ อิสราเอล เปิดฉากอย่างรุนแรง ใน เสาร์ที่ 7 ต.ค. 2023 ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ฝ่ายกว่า 2,700 คนแล้ว (และตัวเลขยังเพิ่มขึ้นไม่หยุด) โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในการสู้รบครั้งนี้ ก็คือ "กาซา" หรือที่รู้จักการในนาม "ฉนวนกาซา"

ทั้งนี้ ดินแดน "กาซา" หรือ ฉนวนกาซา Gaza Strip นั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ มีขนาดพื้นที่ 360 ตร.กม.ใกล้เคียงกับ จ.สมุทรสงคราม จังหวัดที่มีพื้นที่เล็กที่สุดของประเทศไทย ที่มีขนาด 416.7 ตร.กม.มีอาณาเขตทางตะวันตกเฉียงใต้ติดกับอียิปต์  ทางเหนือและตะวันออกติดกับประเทศอิสราเอล และทางตะวันตกติดทะเล เมดิเตอร์เรเนียน

แต่รู้หรือไม่ว่า พื้นที่เล็ก ๆ ที่มีความยาวเพียง 41 กม. กว้าง10 กม. ของฉนวนกาซานั้น มี บ้านเรือนของประชาชนราว 2.3 ล้านคน นั้นหมายความว่า ผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ต้องอยู่อย่างแออัด

ฉนวนกาซา ดินแดนกันชน อิสราเอล-ปาเลสไตน์  ที่กลายเป็นคุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก Credit ภาพ reuters  

โดยหากคิดคำนวณแล้ว ในพื้นที่ ฉนวนกาซา นั้น ใน 1 ตารางกิโลเมตร มีประชากรอัดแน่นถึง 6,507 คน , ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้ว ประเทศไทยจะมีประชากร 140 คน ต่อ 1 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น , โดยในเขตเมืองนั้น ยิ่งแออัดเข้าไปอีก เพราะ จะมีคน 9,000 คนต่อ ตร.กม. เลยด้วยซ้ำ

ที่จริงแล้ว กาซามีขนาดพื้นที่เล็กมาก แต่ก็ถือว่าหนึ่งในดินแดนที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลก โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก โดยประชากรส่วนใหญ่ในกาซาเป็นผู้อพยพลี้ภัยที่อาศัยอยู่ตามแคมป์ที่สหประชาชาติ หรือ UN จัดไว้ให้ 

ฉนวนกาซา ดินแดนกันชน อิสราเอล-ปาเลสไตน์  ที่กลายเป็นคุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก Credit ภาพ reuters

ส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยเหล่านี้เกิดในพื้นที่ฉนวนกาซา แต่ก็มีบางส่วนที่อพยพมาตั้งแต่หลังช่วง สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งแรกในปี 1948 ความเป็นอยู่ใน กาซา นั้นถือว่าอยู่ในขั้นแร้นแค้น

จากประวัติศาสตร์ของกาซา หลังปี 1948 ฉนวนกาซาถูกปกครองโดยอียิปต์ แต่อียิปต์ ไม่ได้ผนวกรวมเอาดินแดนส่วนนี้เป็นของตน จนกระทั่งอิสราเอลชนะสงคราม 6 วัน ในปี 1967  หลังจบสงครามครั้งนั้น อิสราเอลขยายดินแดนและสามารถยึดครองดินแดนของอาหรับได้มากมาย และฉนวนกาซาเป็นหนึ่งในดินแดนที่อิสราเอลเข้ายึดครอง ณ เวลานั้นด้วย 

อย่างไรก็ตาม อิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ทำสนธิสัญญาออสโลร่วมกันในปี 1993 ซึ่งส่วนหนึ่งในข้อตกลงนั้นคือ การอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองตัวเอง (อย่างจำกัด) ในเขตฉนวนกาซา 

และช่วงเวลาต่อในปี 2005 อิสราเอลจึงได้ดำเนินการถอนกำลังทหารและนิคมชาวยิว (ที่ผิดกฎหมาย) ออกจากฉนวนกาซาทั้งหมด  จากนั้นพอกลุ่มฮามาสชนะการเลือกตั้งในกาซาในปี 2006 ขึ้นมา ฉนวนกาซาจึงตกเป็นเขตอิทธิพลของรัฐบาลฮามาสจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และนำพามาถึง การโจมตีอิสราเอล รอบล่าสุด ในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ด้วย  

หากเทียบกาซากับดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน หรือเขต "เวสต์แบงก์" ที่ใครหลายคนคุ้นหู (ซึ่งทั้ง 2 อาณาบริเวณนี้ถูกกำหนดให้เป็นรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต) พื้นที่ "เวสต์แบงก์" นั้น มีขนาดมีพื้นที่บนบกราว 5,640 ตร.กม. และมีเนื้อที่พื้นน้ำ 220 ตร.กม.

ฉนวนกาซา ดินแดนกันชน อิสราเอล-ปาเลสไตน์  ที่กลายเป็นคุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก Credit ภาพ reuters

ดังนั้น กาซาจึงมีขนาดเล็กกว่ามาก "เวสต์แบงก์" อย่างมาก อีกทั้งประชากรยังมีฐานะยากจนกว่าเพราะกาซามีทรัพยากรน้อยกว่า มีผลผลิตทางการเกษตรน้อยกว่า เป็นดินแดนแห้งแล้ง ทุรกันดา

นับตั้งแต่กลุ่มฮามาสขึ้นสู่อำนาจในปี 2007 และปกครองกาซา เขต"กาซา" จึงถูกอิสราเอลมองว่าเป็น "ดินแดนศัตรู"  และอิสราเอลยังใช้มาตรการปิดล้อมกาซา จำกัดการนำเข้าทรัพยากรต่าง ๆ ทั้ง อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง และสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในฉนวนกาซาจึงถูกเปรียบว่า เหมือนการติดอยู่ใน "คุกเปิดขนาดใหญ่"  

ความเป็นอยู่ในกาซา ห่างไกลจากคำว่า สะดวกสบาย  โดยก่อนเกิดความขัดแย้งระลอกใหม่ การตัดไฟฟ้าเกิดขึ้นอยู่ทุกวันในกาซา โดยครัวเรือนได้รับไฟเฉลี่ยวันละ 13 ชม. ตามข้อมูลของยูเอ็น 2 ใน 3 ของไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในฉนวนกาซาซื้อมาจากอิสราเอล ส่วนที่เหลือผลิตจากโรงไฟฟ้าฉนวนกาซา (Gaza Power Plant - GPP) ทว่ามีกำลังการผลิตไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณความต้องการใช้ไฟในพื้นที่ , 

ชาวปาเลสไตน์ ในกาซา แทบไม่เหลือความหวังที่จะหลบหนีออกจากฉนวนกาซา เพื่อหนีจากชะตากรรมใต้ไฟสงครามได้เลย 

โดยฝั่งประเทศ อิสราเอลประกาศปิดจุดผ่านแดนเอเรซ (Erez crossing) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกาซา  ขณะที่จุดผ่านแดนราฟาห์ (Rafah crossing) ทางตอนใต้ของกาซาที่ควบคุมโดยทางการอียิปต์ก็ปิดลงในวันที่ 9-10 ต.ค. 2023 จากการโจมตีทางอากาศใกล้ทางเข้าด่านจากฝั่งปาเลสไตน์  โดยก่อนจะเกิดสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสครั้งใหม่ ชาวปาเลสไตน์ก็ถูกสกัดไม่ให้ออกจากกาซาอยู่แล้ว ยกเว้นได้รับใบอนุญาตที่ออกโดยอิสราเอล ซึ่งเปิดให้เฉพาะลูกจ้างรายวัน นักธุรกิจ ผู้ป่วยและผู้ดูแล และอาสาสมัครช่วยเหลือเท่านั้น

นอกจากนี้ ประชากร 95% ใน ฉนวนกาซา ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้เลย  เหตุผลเพราะ การขุดเจาะชั้นหินใกล้ชายฝั่งที่เกินควร และการแทรกซึมของน้ำทะเลและน้ำเสีย ทำให้น้ำประปามีรสเค็มและปนเปื้อน ไม่เหมาะแก่การบริโภค

สถานที่แห่งนี้ หากจะหาคำจำกัดความ คำว่า "คุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก" หลายล้านชีวิตถูกจองจำอยู่ที่นี่ ก็คงจะไม่ผิดจากความจริงเลย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related