svasdssvasds

ยุบตำรวจรถไฟ สัญลักษณ์ปฏิรูปตำรวจ?! เสียงจาก ตร.รถไฟคนสุดท้าย

ยุบตำรวจรถไฟ สัญลักษณ์ปฏิรูปตำรวจ?! เสียงจาก ตร.รถไฟคนสุดท้าย

"พวกผมทำอะไรผิด?" ตำรวจรถไฟคนสุดท้ายทวงถาม ถึงคำสั่งยุบตำรวจรถไฟ เชื่อมันคือการกระทำเชิงสัญลักษณ์เซ่นปฏิรูปตำรวจ ที่ผลักภาระไปให้ประชาชน

“มันไม่มีเหตุผลทำไมต้องยุบ เหตุผลเดียว ยุบตำรวจรถไฟเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ปฏิรูปทั้งที ทำงานมาก็ตั้งเยอะ ศึกษามาก็ตั้งเยอะ ถ้ามันไม่มีอะไรเลย พ.ร.บ.ตัวนี้มันก็เท่ากับว่าไม่มีผลงาน ก็เลยเอาหน่อย ยุบตำรวจรถไฟ ตัดชิ้นเนื้อที่ว่าเล็กที่สุดออก...ทำอย่างกับพวกผมทำผิด ทำผิดอะไรสักอย่างต้องยุบ”

ทีมข่าว SPRiNG สัมภาษณ์พิเศษ ร.ต.ท.สมควร ปั้นกันอินทร์ อดีตรองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ ตำรวจรถไฟคนสุดท้ายที่กำลังเก็บของย้ายไปประจำการที่กองบังคับการตำรวจทางหลวง (ส.ทล.2 กก.8 บก.ทล.) หลังจากมีคำสั่งให้ยุบยกเลิก ‘กองบังคับการตำรวจรถไฟ’ มีผลตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. 2566 ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และให้ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย’ มาทำหน้าที่แทน

ร.ต.ท.สมควร เปิดใจว่า หลายครั้งที่ตัวเองไปถามหาเหตุผลจากผู้ใหญ่ในวงการตำรวจและกรรมาธิการว่าทำไมต้องยุบตำรวจรถไฟก็มักจะไม่ได้คำตอบ แต่ถ้าให้อนุมานเอาเอง คงเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามีการปฏิรูปตำรวจแล้ว ทั้งที่ส่วนตัวเห็นว่าการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะกรรมาธิการไม่มีการรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการทำงานของตำรวจรถไฟก็เป็นไปตามภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวน และบริการประชาชน ภายใต้พื้นทีรับผิดชอบอย่างชัดเจน จึงไม่มีความจำป็นที่ต้องยุบ

ทุกครั้งที่เขาประกาศว่าจะมีการปฏิรูปตำรวจ ตำรวจรถไฟสะดุ้งทุกครั้ง มันจะเป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในโครงการที่เขาจะยุบมาโดยตลอด มันก็จะมีทางหลวง ป่าไม้ รถไฟ บก.จร. และตำรวจท่องเที่ยว ซึ่งต่างก็เป็นหน่วยงานเล็กๆ และสุดท้ายมันก็จะนำมาสู่ปัญหาที่ย้อนแย้งกันคือ ตำรวจรถไฟมันไม่สามารถจะพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพพอที่จะไปดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อมันขึ้นต้นว่ามันเป็นหน่วยงานที่จะถูกยุบ การจะของบประมาณมาพัฒนา ขออุปกรณ์ ขอกำลังพลก็เป็นเรื่องยาก ยกตัวอย่างเช่น รถควบคุมผู้ต้องหาไปส่งศาล ขอมาหลายปีแล้ว จนยุบก็ยังไม่ได้ หรือแม้กระทั่งงานคดีที่ตัวเองทำคนเดียวมามาเกือบ 10 ปีก็ขอคนเพิ่มไม่ได้ แล้วสุดท้ายก็มาบอกว่าองค์กรไม่มีประสิทธิภาพและต้องยุบ

“วันสุดท้ายที่ต้องปิดสำนักงาน สำนวนการสอบสวนที่ต้องส่งให้นครบาลสอบสวนต่อ 60 กว่าราย และที่อัยการยังไม่สั่งอีกเกือบ 100 ราย และที่เก็บรวบรวม 1,000 กว่าราย นี่คือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่เราต้องปล่อยทิ้งเขาเหรอ?”

 

ยุบตำรวจรถไฟ สัญลักษณ์ปฏิรูปตำรวจ?! เสียงจาก ตร.รถไฟคนสุดท้าย

ยุครุ่งเรืองของตำรวจรถไฟ

ร.ต.ท.สมควร เล่าให้ฟังว่า เขามาเริ่มงานที่กองบัญชาการตำรวจรถไฟวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2534 รวมแล้วกว่า 32 ปี สมัยนั้นรถไฟเป็นระบบขนส่งที่ดีที่สุด ถูกที่สุด และมีผู้นิยมใช้มากที่สุด โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ตำรวจรถไฟก็จะจัดสรรกำลังพลไปดูแลในพื้นที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นบริเวณสถานีรถไฟในกรุงเทพมหานคร 15 โรงพัก ที่ทำการของการรถไฟ และจะมีตำรวจคุมรถไฟอยู่บนขบวนรถเดินทางไปกับประชาชนตลอดสาย จนปี 2547 มีการพัฒนาเทคโนโลยีกล้องวงจรปิด และผู้คนใช้รถส่วนตัวสัญจรกันมากขึ้น ทำให้มีการปรับกำลังพลของตำรวจรถไฟลง จากที่มีตำรวจประจำทุกขบวนก็ใช้เป็นการสุ่มตรวจแทน   

ก่อนยุบ กองบังคับการตำรวจรถไฟมีกำลังอนุญาตอยู่ประมาณ 800 นาย นับเป็น 1 กองบังคับการ 5 กองกำกับการ และ 15 โรงพัก มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำผิด ปราบปรามอาชญากรรม ป้องกันอาชญากรรม ในพื้นที่ของการรถไฟและบนขบวนรถไฟ ส่วนอำนาจสืบสวนสอบสวนอยู่ในพื้นที่ กทม. และหากจับกุมได้บนขบวนรถไฟที่วิ่งออกนอกพื้นที่ กทม. ก็จะประสานตำรวจท้องที่นั้นๆ ให้มาสอบสวนและคุมผู้กระทำความผิดที่จับกุมได้บนขบวนรถไฟ

ร.ต.ท.สมควร กล่าวว่า คุณสมบัติของตำรวจรถไฟคือการสังเกต เนื่องจากประชาชนมากหน้าหลายตามาใช้บริการรถไฟ ต่างจากตำรวจท้องที่ที่คุ้นเคยกับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ อยู่แล้ว และความท้าทายอีกประการหนึ่งคือการเฝ้าระวังภัยที่มักจะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน เนื่องจากขบวนรถไฟมันเป็นแบบเปิด ไม่เหมือนรถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้าที่เป็นระบบปิดและมีระยะทางสั้นๆ เมื่อขบวนรถไฟวิ่งออกต่างจังหวัดไกลๆ เช่น สายใต้พันกว่ากิโลเมตร สายเหนือ 700 กว่ากิโลเมตร ผ่านภูเขา ผ่านคลอง วิ่งผ่านอะไร ก็สามารถที่จะเกิดเหตุได้ทุกขณะและทุกเวลา โดยเฉพาะเวลากลางคืน เช่น ผู้ร้ายห้อยตัวบนรถไฟมากระชากสร้อยผู้โดยสารและกระโดดลงรถไฟขณะที่กำลังวิ่ง มักจะพบเจอบ่อยแถวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น หรือการขนส่งยาเสพติด ที่ล่าสุด ตำรวจคุมรถไฟเพียง 2 คนก็จับกุมการขนยาเสพติดได้กว่าแสนเม็ดที่จังหวัดลำปาง เรียกว่าจับกุมตามหมายจับได้พันกว่ารายมากที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะคดีลักทรัพย์แทบจะจับกุมได้เกือบ 100% 

 และสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือการให้บริการประชาชน เรามักจะเห็นตำรวจรถไฟช่วยผู้โดยสารยกกระเป๋า หลายคนไม่เข้าใจก็จะมองว่าไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจ แต่ส่วนตัวเห็นว่านี่คือการป้องกันการเกิดเหตุได้อยากดี เพราะตำรวจเข้าไปแทรกซึมอยู่กับประชาชน ใครจะมาก่อเหตุก็ต้องเริ่มชั่งใจแล้ว เพราะว่ามีตำรวจอยู่ ร.ต.ท.สมควร เชื่อว่าการทำหน้าที่ของตำรวจที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ไม่ใช่จับกุมแล้วนำมาซึ่งความเสียหายกับทุกๆ ฝ่าย

 

ยุบตำรวจรถไฟ สัญลักษณ์ปฏิรูปตำรวจ?! เสียงจาก ตร.รถไฟคนสุดท้าย

วันที่ไม่มีตำรวจรถไฟ

หลังจากยุบตำรวจรถไฟ เป็นหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องมาทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้บริการบนขบวนรถไฟแทนโดยจะตั้งตั้งศูนย์รักษาความปลอดภัยทางราง จัดจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตู้โดยสารในระหว่างการเดินรถ ซึ่งจะต่างกับตำรวจ ตรงที่ไม่มีอำนาจในการตรวจค้นหรือจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ มีอำนาจแค่การป้องกันเหตุ นอกจากนี้การทำให้ระบบรถไฟเป็นระบบปิดเพื่อให้ง่ายต่อการรักษาความปลอดภัยก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ร.ต.ท.สมควร ย้ำว่ามันจะเป็นภาระของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ส่วนพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟและชานชาลา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะจัดกำลังตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยและปลอดภัยบนขบวนรถไฟ และชานชาลา เพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ซึ่ง ร.ต.ท.สมควร มองว่ากำลังพลเดิมของสถานีตำรวจในท้องที่ก็ไม่เพียงพอต่อการทำงานอยู่แล้ว การเพิ่มพื้นที่รับผิดชอบก็จะยิ่งเพิ่มภาระให้เจ้าหน้าที่ดูแลไม่ทั่วถึง

ร.ต.ท.ยังย้ำว่า ปัญหาที่ต่อไปข้างหน้าจะเกิดขึ้น คือ ขบวนการค้ายาเสพติด ลำเลียงสิ่งผิดกฎหมาย และการขนแรงงานต่างด้าว เขายังตั้งคำถามว่ารัฐบาลที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการปราบปรามยาเสพติดหรือไม่? ถ้ายุบตำรวจรถไฟ การขนส่งยาเสพติดก็ยิ่งง่ายขึ้น ส่วนตัวจึงอยากเรียกร้องให้ฟื้นกองบัญชาการตำรวจรถไฟกลับมา ไม่ใช่เพื่อตำรวจรถไฟ แต่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

"อยากฝากถึงรัฐบาลและผู้มีอำนาจว่า ยุบตำรวจรถไฟแล้วประชาชนได้อะไร? คำว่าปฏิรูปมันต้องดีขึ้นถูกไหม? แต่คุณปฏิรูปด้วยการยุบ? แล้วสร้างภาระให้กับประชาชนเดือดร้อนกับเรื่องที่คุณยุบ อันนี้มันคือปฏิรูปไหม?" ร.ต.ท.สมควร กล่าวทิ้งท้าย

 

อ่านเพิ่มเติม: 
เสรีพิศุทธ์ ชำแหละร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปฏิรูปตำรวจได้จริงหรือไม่ ?

เปิดประวัติ "บิ๊กต่อ" จากพนักงานออฟฟิศสู่ตำแหน่ง ผบ.ตร. คนที่ 14

25 ปี ผบ.ตร. ในอดีตมีใครบ้าง ก่อนที่จะมี ผู้นำคนที่ 14 ในยุครัฐบาลเศรษฐา

ทำความรู้จัก"แหวนอัศวิน" ที่ ผบ.ตร. มอบให้ รอง สวป. หลังระงับเหตุกราดยิง

‘บิ๊กโจ๊ก’ลั่นไม่เอาคืน แต่มีข้อมูลแน่น เปิดมาตายทั้งสำนักงานตำรวจฯ

รับชมเพิ่มเติม

related