SHORT CUT
เปิดม่านรามายณะ: สำรวจความแตกต่างและความคล้ายคลึงใน "รามเกียรติ์ไทย" และ "เรียมเกร์เขมร" ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย
มหากาพย์รามายณะอันยิ่งใหญ่ ได้เดินทางข้ามกาลเวลาและพรมแดน เผยแพร่ในหลากหลายวัฒนธรรม พร้อมปรับเปลี่ยนรูปโฉมให้เข้ากับบริบทของแต่ละท้องถิ่น
ในประเทศไทย เราคุ้นเคยกันดีกับ "รามเกียรติ์" วรรณคดีชิ้นเอกที่ถูกยกย่องเป็นสมบัติของชาติ ขณะเดียวกัน ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ก็มีมหากาพย์ที่คล้ายคลึงกันในชื่อ "เรียมเกร์" หรือ "โรงราม" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาคขยายของเรื่องราวอันอมตะนี้ ในบทความนี้จึงขอพามาดูที่มาของ 2 วัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คล้ายคลึงนี้กัน
เมื่อเรื่องราวของรามายณะเข้ามาในประเทศไทย ก็ได้รับการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และความเชื่อของคนไทย โดยมีการเพิ่ม ตัดทอน หรือเสริมรายละเอียดบางส่วนให้แตกต่างไปจากฉบับเดิมของอินเดีย เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตและค่านิยมของคนในแต่ละยุคสมัย
สมัยอยุธยา มีการนำเรื่องรามเกียรติ์มาใช้ในการแสดงและวรรณกรรม แต่เนื้อหาน่าจะยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วนทั้งหมด ต่อมาสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์สำหรับให้ละครหลวงเล่น แต่ฉบับนี้ปัจจุบันมีอยู่ไม่ครบถ้วน
เมื่อ เข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมและพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นใหม่เพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อเป็นมรดกทางวรรณคดีของชาติ และใช้ในการแสดงโขน
จุดเด่นของรามเกียรติ์ฉบับไทย คือการนำเสนอเนื้อหาที่เน้นความงามทางภาษา การใช้ถ้อยคำที่สละสลวย การสร้างสรรค์บทกวีที่ไพเราะ และการสอดแทรกคติสอนใจ บทบาทของตัวละครต่างๆ มีความลึกซึ้งและซับซ้อน เช่น ทศกัณฐ์ที่แม้จะเป็นยักษ์ร้าย แต่ก็มีมิติทางอารมณ์และเหตุผลที่น่าสนใจ รวมถึงการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและค่านิยมของสังคมไทยในแต่ละยุคสมัย
ตัวละครหลักอย่างพระราม นางสีดา ทศกัณฐ์ หนุมาน และพิเภก ต่างก็เป็นที่รู้จักและฝังรากลึกในจิตใจคนไทย เรื่องราวความรัก ความพลัดพราก ความภักดี และการต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรม ถูกถ่ายทอดผ่านบทละคร โขน ละครรำ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง และงานประติมากรรมต่างๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ไทยที่โดดเด่น
"เรียมเกร์" หรือ "โรงราม" ในภาษาเขมร มีความหมายว่า "พระราม" ซึ่งเป็นชื่อเรียกมหากาพย์รามายณะในประเทศกัมพูชา เรียมเกร์มีหลักฐานปรากฏย้อนหลังไปถึงสมัยอาณาจักรขอมโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปราสาทนครวัดและนครธม ซึ่งมีภาพสลักนูนต่ำบอกเล่าเรื่องราวในมหากาพย์นี้อย่างวิจิตรบรรจง สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์ทางศิลปะและวัฒนธรรมของอาณาจักรขอมในอดีต
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของ “เรียมเกร์” หรือรามายณะฉบับกัมพูชา ปรากฏใน จารึกเวียลกันเตล (Veal Kantel, K.359) ซึ่งมีอายุราวศตวรรษที่ 7 สมัยก่อนอาณาจักรพระนคร จารึกนี้ถูกค้นพบในจังหวัดสตึงแตรง และได้กล่าวถึงลักษณะอุดมคติที่ปรากฏในตัวพระราม นับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาเริ่มรู้จักและให้ความสำคัญกับมหากาพย์รามายณะมาตั้งแต่ยุคต้น
ภาพแกะสลักบนผนังนครวัดในเมืองพระนคร จังหวัดเสียมเรียบ ซึ่งมีอายุเกินพันปี ยังสะท้อนความนิยมรามายณะอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะในบริเวณปีกตะวันตกของระเบียงชั้นที่สามด้านทิศเหนือ ซึ่งปรากฏภาพฉากสำคัญ เช่น ศึกระหว่างเทวดากับอสูร และศึกกรุงลงกา การแกะสลักที่วิจิตรบรรจงเหล่านี้แสดงถึงความเชื่อ ความศรัทธา และการผสานวรรณกรรมเข้ากับศิลปะเขมรอย่างลึกซึ้ง
ในยุคหลังอาณาจักรพระนคร โดยเฉพาะช่วงสมัยเมืองอุดง เรียมเกร์ในกัมพูชาเริ่มได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมไทยอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี (นักองค์จัน) แห่งราชวงศ์กัมพูชาเข้าพำนักในกรุงเทพฯ ส่งผลให้ราชสำนักกัมพูชาได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากสยาม รวมถึงการแสดงละครรามเกียรติ์
กระแสดังกล่าวดำเนินต่อเนื่องไปถึงรัชกาลสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง) และพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร (นักองค์ราชาวดี) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้มีการดำเนินโครงการแปลบทละครรามเกียรติ์ไทยเป็นภาษาเขมร โดยมีออกญาวังวรเวียงชัย (จวน) เสนาบดีผู้ดูแลโครงการระหว่างปี ค.ศ. 1923–1930
เรียมเกร์ฉบับกัมพูชาแม้มีต้นกำเนิดจากมหากาพย์รามายณะของอินเดีย แต่มีการปรับแต่งเนื้อหาให้แตกต่างจากฉบับไทย เช่น การเพิ่มตัวละคร “เงาะป่า” เข้ามามีบทบาทในสงคราม และนิยมแสดงตอนเด่นอย่างศึกกุมภกรรณ และศึกไมยราพ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชาวกัมพูชา
สิ่งที่น่าสนใจ แม้"เรียมเกร์" จะได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมไทย แต่ได้ รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้โดย UNESCO (องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) เมื่อปี พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง