svasdssvasds

ทบ.แจงทูตทหารนานาชาติปม "ทุ่นระเบิด" กัมพูชานั่งนิ่ง ไม่ชี้แจงใดๆ

ทบ.แจงทูตทหารนานาชาติปม "ทุ่นระเบิด" กัมพูชานั่งนิ่ง ไม่ชี้แจงใดๆ

กองทัพบกเชิญผู้ช่วยทูตทหาร 47 ประเทศ แจงปม "ทุ่มระเบิด" ที่พบในเขตไทย มีผู้ช่วยทูตทหารกัมพูชาร่วมด้วยแต่นิ่ง-ไม่ได้ชี้แจงใดๆ

SHORT CUT

  • กองทัพบกเชิญผู้ช่วยทูตทหารจาก 47 ประเทศ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีทหารไทยบาดเจ็บจากการเหยียบทุ่นระเบิดในเขตแดนไทย
  • ไทยนำเสนอหลักฐานว่าทุ่นระเบิดเป็นชนิด PMN2 ที่ถูกวางใหม่และกองทัพไทยไม่เคยมีใช้ ซึ่งเป็นการละเมิดอธิปไตยและอนุสัญญาออตตาวา
  • ผู้ช่วยทูตทหารกัมพูชาที่เข้าร่วมประชุม ได้แต่นั่งฟังโดยไม่มีการชี้แจง โต้แย้ง หรือตั้งคำถามใดๆ ต่อข้อมูลของฝ่ายไทย

กองทัพบกเชิญผู้ช่วยทูตทหาร 47 ประเทศ แจงปม "ทุ่มระเบิด" ที่พบในเขตไทย มีผู้ช่วยทูตทหารกัมพูชาร่วมด้วยแต่นิ่ง-ไม่ได้ชี้แจงใดๆ

พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริ โฆษกศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) แถลงผลการประชุมศบ.ทก. ระบุว่า ผลการพิสูจน์ทราบทุ่นระเบิด หลังกรณีทหารไทยเหยียบกับระเบิด ซึ่งเป็นพื้นที่อธิปไตยของไทย โดยการพิสูจน์ทราบจุดเกิดเหตุ ห่างจากเส้นปฏิบัติการ 130 เมตร จุดวางทุ่นระเบิดอยู่บนเส้นทางลาดตระเวนของทหารไทยตามปกติ 

ทั้งนี้ หน่วยพบว่าหลุมระเบิดกว้าง 69 ซม. ลึก 23 ซม. ชุดพิสูจน์ทราบพบเศษวัสดุระเบิด ชนิด PMN2 และพบทุ่นชนิดเดียวกันเพิ่มอีก 2 จุด จุดแรกห่างจากต้นพระยาสัตบรรณ 50 เมตร ใกล้คูเลตที่ทหารกัมพูชาเคยขุดไว้ จนกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างกัน ตรงนั้นตรวจสอบ 3 ทุ่น และจุดที่ 2 พบเพิ่มอีก 5 ทุ่น ห่างจากจุดแรกประมาณ 100 เมตร รวมทั้งหมดในการพิสูจน์ทราบ เจอ 7 ทุ่น ยืนยันเป็นระเบิดชนิด PMN2 มีสภาพใหม่พร้อมทำงาน ปรากฎตัวอักษรชัดเจนบริเวณข้างตัวทุ่นระเบิด โดยทุ่นระเบิดชนิดนี้ประเทศไทย และกองทัพไทยไม่เคยมีในสารบบยุทธโธปกรณ์ 

หลักฐานที่ชัดอีกอย่างว่าเป็นทุ่นระเบิดใหม่คือสภาพของจุดที่วางทุ่นระเบิดนั้น ยังไม่มีวัชพืช หรือรากไม้ใดๆ ขึ้นปกคลุม ซึ่งบอกได้ว่าเป็นพื้นที่ใหม่ ไม่มีหญ้าใดๆปกคลุม และพบร่องรอยขุดวางทุ่นระเบิดด้วย คาดว่าเป็นการวางหลังเกิดเหตุการณ์ปะทะกันเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา     

โดยเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ตรวจพบเพิ่มทุ่นระเบิดอีก 2 จุด ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันบริเวณพื้นที่ที่ห่างจากหลุมระเบิดที่ทหารไทยเหยียบ ประมาณ 20-30 ซม. ชี้ชัดว่ามีการวางใหม่เพิ่มเติมอีก เป้าหมายเพื่อสังหารบุคคลและละเมิดอนุสัญญาออตตาวาอย่างชัดเจน รวมถึงการรุกล้ำอธิปไตยของไทย

"ไทย" จ่อเชิญทูตทหาร-ผู้แทนตปท. แจงปม "ทุ่นระเบิด" ที่ไม่ใช่ของไทย

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางกองทัพได้ยกระดับมาตรการที่เข้มข้นขึ้น หน่วยในพื้นที่ได้รับคำสั่งให้ระมัดระวังในการลาดตระเวนในพื้นที่ และเตรียมความพร้อมสูงขึ้นตามหลักปฏิบัติการใช้กำลังของกองทัพ ในระดับส่วนกลาง กองทัพไทย โดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ได้ออกหนังสือประณามการกระทำดังกล่าวอย่างชัดเจนเรียบร้อยแล้ว เมื่อ 20ก.ค.ที่ผ่านมา จะยังคงติดตามและมีมาตรการเพิ่มเติม 

กองทัพมีวาระที่จะเชิญผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร รวมถึงผู้แทนกองทัพประเทศต่างๆ มารับฟังคำชี้แจงเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงในเร็วๆ นี้ ซึ่งรายละเอียดต่างๆของการประท้วง หรือมาตรการในเชิงนานาชาติ ทางฝ่ายต่างประเทศจะเป็นผู้ชี้แจงเพิ่มเติม

พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวอีกว่า กรณีปราสาทตาเมือนธม ที่เกิดเหตุการณ์เมื่อ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ไทยและกัมพูชาได้ร่วมหารือถึงมาตรการจัดการ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างนักท่องเที่ยวทั้ง 2 ประเทศ มีการกำหนดมาตรการดังนี้ 

  1. หากมีปัญหาจากนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นไม่ว่าจากชาติใด จะให้เจ้าหน้าที่หรือชุดประสานงานของชาตินั้นเป็นผู้จัดการ โดยจะเชิญตัวออกจากพื้นที่ 
  2. กรณีแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้ชุดประสานงานให้เป็นผู้ดำเนินการแก้ไข ไม่มีการเรียกกำลังเสริมหรือชุดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องมาเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการเผชิญหน้า 
  3. ขอให้ทั้ง2ฝ่าย คัดกรองนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นมาเยี่ยมชมปราสาท ยืนยัน 3มาตรการมีผลบังคับใช้แล้ว 2ฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันในการดำเนินการร่วมกัน 

นอกจากนั้น ฝ่ายไทยได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติม ดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว จัดชุดอาสาสมัครทหารพรานหญิงมาอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม เราเป็นห่วงนักท่องเที่ยวไทยที่มาเยี่ยมชมปราสาทตาเมือนธม 

"ไทย" จ่อเชิญทูตทหาร-ผู้แทนตปท. แจงปม "ทุ่นระเบิด" ที่ไม่ใช่ของไทย

ขณะที่นางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เพื่อรักษาท่าทีและผลประโยชน์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการ โดยกระทรวงการต่างประเทศ จะประท้วงอย่างเป็นทางการเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังกัมพูชา เนื่องจากละเมิดอธิปไตย หลักกฎหมายระหว่างประเทศและมนุษยธรรม และพันธะกรณีตามอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลส่งผลให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บถึงขั้นทุพพลภาพ 

กระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการตามกระบวนการของอนุสัญญาออตตาวา ตามพันธะกรณีของไทย ที่เป็นรัฐภาคีที่มีความรับผิดชอบต่อประชาคมระหว่างประเทศ ที่จะต้องแจ้งการละเมิดอนุสัญญาต่อประธานการประชุมรัฐภาคี ซึ่งปัจจุบันประธานที่อยู่ในวาระคือ ญี่ปุ่น เพื่อนำไปสู่การรับผิดชอบโดยกัมพูชา

กระทรวงการต่างประเทศจะเดินหน้าชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ให้มิตรประเทศและองค์การต่างๆ รับทราบ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีมีบทบาทสำคัญต่อภารกิจด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของกัมพูชา เช่น ญี่ปุ่น นอร์เวย์ รวมถึงองค์การต่างๆ ที่มีบทบาทในเวทีอนุสัญญาออตตาวา และจะมีการจัดการบรรยายสรุปชี้แจงให้คณะทูตประจำประเทศไทยได้รับทราบ

ในช่วงสัปดาห์นี้ รมว.ต่างประเทศ ที่อยู่ระหว่างการเดินทางเข้าร่วมการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก จะได้พบหารือกับผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่างๆ จะใช้โอกาสนี้ยืนยันจุดยืนของไทยต่อประชาคมโลก โดยเฉพาะหลักการของไทยที่มุ่งเน้นการแก้ไขแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี การเจรจาภายใต้กรอบทวิภาคี ดังที่แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศที่ระบุไว้แล้ว ไทยขอเรียกร้องฝ่ายกัมพูชาให้ความร่วมมือในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ตามแนวชายแดน ตามที่นายกฯ ของทั้งสองประเทศได้ตกลงกันไว้แล้วภายในกรอบทวิภาคี ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของพื้นที่ และของประชาชนทั้งสองฝ่าย

"ผช.ทูตทหารกัมพูชา" ฟังอย่างเดียว ไม่โต้แย้งชี้แจงใดๆ

วันนี้ 22 กรกฎาคม 2568 ​กองทัพ​บก​เชิญผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย​ จำนวน 47 ประเทศ แจ้ง อาทิ เวียดนาม เมียนมา อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อังกฤษ บูรไน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย จีน กัมพูชา เยอรมนี แคนาดา รัสเซีย  อิสราเอล เพื่อรับฟังการชี้แจงสถานการณ์​ชายแดนไทยกัมพูชา​ ถึงข้อเท็จจริงกรณีไทยโดนรุกล้ำอธิปไตย​ และมีการวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคล​ ทำให้ทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 6 ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย​ และมีการตรวจสอบว่า เป็นการวางทุ่นระเบิดใหม่​ ที่วางในเขตไทย​ ซึ่งขัดต่ออนุสัญญา​ออตตาวา​ ที่ทั้งไทยและกัมพูชาเป็นประเทศภาคี​ที่ให้สัตยาบัน​​

โดยบรรดาทูต​ทหาร​ ได้ทยอยเดินทางเข้ามาที่ห้อง​ศรีสิทธิสงคราม​ ภายในกองทัพบก ตั้งแต่เวลา​ 13.20 น.​ โดย พลจัตวา​ ฮอม​ คิม ผู้ช่วยทูตทหารกัมพูชา ได้เดินทางมาร่วมด้วย ขณะที่ ฝ่ายไทยมี พลโท กำชัย​ วงศ์ศรี​ เจ้ากรมการข่าว​ทหารบก​​ เป็นประธาน​

พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าว ภายหลังการเชิญผู้ช่วยทูตทหาร47 ประเทศ รับฟังคำชี้แจง​สถานการณ์​ชายแดน​ไทย​-กัมพูชา​ หลังทหารไทยเหยียบกับระเบิดบาดเจ็บ​ 3 นาย​ ว่า บรรยากาศ เป็นไปด้วยดี ส่วนใหญ่เป็นการรับฟัง และมีคำถามบ้าง ถือว่าน้อย เนื่องจากทุกท่านอาจจะได้รับข่าวสารจากช่องทางอื่นมาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก ที่พยายามบอกกล่าวและชี้แจงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องข้อเท็จจริง

ส่วน ผช.ทูตทหารของกัมพูชานั้น นั่งฟัง ไม่ได้ชี้แจงหรือมีคำถามอะไร คำถามส่วนใหญ่มาจากท่านอื่นมากกว่า ที่ถามเรื่องของความมั่นใจและยืนยันใช่หรือไม่ ซึ่งทางเราก็ให้เหตุผลไป และจะให้เอกสารชี้แจง

ส่วนท่าทีของประเทศมหาอำนาจไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งการเชิญมาในวันนี้ เราก็ทำตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก คือทำให้เป็นทางการ

เมื่อถามว่า การหารือได้ชี้แจงเรื่องของการละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดน และMoU 2543 และอนุสัญญาออตตาวา ด้วยหรือไม่ พล.ต.วินธัย กล่าวว่า มีการพูดถึงประเด็นนี้ และได้อธิบายตามหลักอนุสัญญาที่ทั้งสองประเทศเป็นภาคีสมาชิก และเล่าถึงกลไกการแก้ไขปัญหาความตึงเครียดชายแดน มีช่องทางอะไรบ้าง ตั้งแต่ระดับรัฐบาล กระทรวงกลาโหม และกองทัพภาค ยืนยันว่าผู้ช่วยทูตทหารกัมพูชา ไม่ได้แก้ต่างในที่ประชุม

เมื่อถามว่าทางกัมพูชาออกมาปฏิเสธ ขณะเดียวกันผู้ช่วยทหารกัมพูชา ไม่ได้โต้อะไรใช่หรือไม่ พล.ต.วินธัย ระบุว่า ไม่ได้พูดอะไร ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย เราเองก็มีหลักฐานที่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องของผู้รับสารจะเป็นอย่างไร และเรื่องของการรับฟังข่าวสาร ขอให้ดูมาตั้งแต่ต้น

“ไทยเราอยู่ในกฎกติกา โดยเฉพาะทุ่นระเบิด ไม่ใช่เรื่องของความได้เปรียบทางยุทธวิธี ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมทางการทหาร ที่สามารถปกป้องอธิปไตยได้ และอยู่ในกติกา ยืนยันว่า ทูตทหารจากประเทศต่างๆ ไม่ได้ติดใจ ในประเด็นที่เราชี้แจง”

ส่วนการปฏิบัติการทางทหารนั้น ก็ให้เป็นเรื่องของหน่วยในพื้นที่ ซึ่งพยายามใช้ความอดทนอดกลั้น และใช้สันติวิธี ซึ่งต้องให้กองทัพภาคที่ 2 เป็นผู้ประเมิน แต่ไม่อยากให้คิดไปในเรื่องไม่ดีไว้ก่อน กองทัพภาคที่ 2 ก็พูดมาตลอดว่าพร้อมทุกวิธี ก็เป็นวิธีที่ชอบธรรม และอยู่ในกฎกติกา

พล.ต.วินธัย กล่าวว่า ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้ส่งมอบเอกสารหลักฐานยืนยันให้แต่ละประเทศ หลังจากเกิดเหตุมี 2 ลักษณะงาน ในระดับประเทศ กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่

ส่วนหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ สิ่งแรกที่ทำนอกเหนือจากการดูแลคนเจ็บ คือการดูแลความปลอดภัยของกำลังพล คือต้องค่อยๆ เก็บกู้

เมื่อถามว่า ในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ที่มีการนัดหมายของคนไทย จะขึ้นไปเผชิญหน้ากับนักท่องเที่ยวกัมพูชาตามกลุ่มปราสาทตาเมือน พล.ต.วินธัย ยืนยันว่า กองทัพภาคที่ 2 มีแนวทางในการดำเนินการอยู่แล้ว วันนี้ก็ได้พูดในที่ประชุม ว่ามีกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสนับสนุน

พล.ต.วินธัย กล่าวว่า หากประเมินสถานการณ์แล้ว เกิดการขยายผลความขัดแย้ง จะต้องมีมาตรการดำเนินการ แต่ขอให้ทางกองทัพภาคที่ 2 เป็นผู้ชี้แจง ส่วนถึงขั้นต้องปิดปราสาทหรือไม่นั้น ขอให้ฟังกองทัพภาคที่ 2 ชี้แจงเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related