svasdssvasds

UNSC เรียกร้อง ไทย-กัมพูชาเจรจากัน ขณะที่ 2 ชาติกล่าวข้อมูลที่ไม่ตรงกัน

UNSC เรียกร้อง ไทย-กัมพูชาเจรจากัน  ขณะที่ 2 ชาติกล่าวข้อมูลที่ไม่ตรงกัน

มัดรวมข้อสรุป - UNSC เรียกร้องให้ไทย-กัมพูชาเจรจากัน ขณะที่สองชาติกล่าวถ้อยแถลงข้อมูลที่แตกต่างกันในเวทีโลก

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้เรียกร้องให้ประเทศไทยและกัมพูชางดใช้กำลังและหันหน้าเจรจาเพื่อลดความตึงเครียดบริเวณชายแดนโดยทันที ภายหลังการประชุมฉุกเฉินแบบปิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นตามคำร้องของฝ่ายกัมพูชา ท่ามกลางสถานการณ์การปะทะที่ทวีความรุนแรงขึ้น

การประชุม UNSC แบบปิด ที่ประชุม UNSC ได้ขอให้ไทยและกัมพูชา ใช้ความยับยั้งชังใจในการลดความชัดแย้ง และใช้การเจราบนพื้นฐานการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีระหว่างกัน พร้อมยังสนับสนุนบทบาทอาเซียนในการแก้ปัญหาความขัดแย้งตามกฎบัตรอาเซียน และย้ำว่า สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพ หรือความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่เป็นข้อขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ผ่านการเจรจาอย่างสันติ และสุจริตใจ และที่ประชุม UNSC ก็ไม่ได้มีการออกเอกสารใด ๆ 

และแม้ที่ประชุมจะไม่มีการออกมติหรือเอกสารอย่างเป็นทางการ แต่สาระสำคัญที่ทุกชาติสมาชิกเห็นพ้องต้องกันคือการ เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจสูงสุด หยุดยิง และแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี นอกจากนี้ UNSC ยังสนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และย้ำว่าสถานการณ์ดังกล่าว ยังไม่ถือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่เป็นข้อขัดแย้งที่ควรจัดการผ่านกลไกทวิภาคี

อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงของผู้แทนจากทั้งสองประเทศกลับสะท้อนมุมมองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแทบทุกประเด็น โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นผู้เริ่มต้นการรุกรานและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

จุดแตกหัก: ใครเปิดฉากยิงก่อน? 

ประเด็นสำคัญที่สุดคือการกล่าวโทษกันไปมาถึงการเป็นฝ่ายเริ่มต้นการโจมตีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม

มุมมองของไทย: นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยฯ ชี้แจงว่า กองทัพกัมพูชาได้เปิดฉากยิงเข้าใส่ฐานที่มั่นของไทยบริเวณปราสาทตาเมือนธมก่อน และขยายการโจมตีอย่าง "ไม่เลือกเป้าหมาย" เข้าสู่ 4 จังหวัดของไทย ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิต 14 ราย (รวมถึงเด็กชายวัย 8 ขวบ) และบาดเจ็บจำนวนมาก นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายต่อโรงพยาบาลและโรงเรียน

มุมมองของกัมพูชา: นายเจีย แก้ว ผู้แทนถาวรกัมพูชาฯ กล่าวหาว่ากองทัพไทยเปิดฉากโจมตี "โดยมีเจตนาและวางแผนล่วงหน้า" โดยอ้างถึงแผน "จักรพงษ์ภูวนารถ" ของกองทัพบกไทยว่าเป็นหลักฐานของการเตรียมพร้อมรบเต็มรูปแบบ กัมพูชาระบุว่าการโจมตีของไทยทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 รายและบาดเจ็บ 71 ราย

ภาพความเสียหาย รพ.สต.ศรีสะเกษ หลังถูกกระสุนปืนใหญ่กัมพูชาถล่ม 26 ก.ค. 2025 Credit ภาพ Nation Photo
 

ข้อกล่าวหาเรื่องทุ่นระเบิดและมรดกโลก 

ความขัดแย้งยังขยายไปสู่ประเด็นอื่น ๆ ที่ละเอียดอ่อน

ทุ่นระเบิด: ไทยกล่าวหาว่ากัมพูชาละเมิด อนุสัญญาออตตาวา ว่าด้วยการห้ามใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล โดยอ้างว่ามีหลักฐานชัดเจนว่าทหารกัมพูชาได้ "วางทุ่นระเบิดใหม่" ในดินแดนไทยที่เคยเก็บกู้ไปแล้ว ส่งผลให้ทหารไทยบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นพิการถาวร แต่กัมพูชาปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยระบุว่าทหารไทยเดินลาดตระเวนนอกเส้นทางที่ตกลงกันไว้ เข้าไปใน "ทุ่งกับระเบิดเก่า" ที่หลงเหลือจากสงครามกลางเมือง

ความเสียหายต่อปราสาทพระวิหาร: กัมพูชากล่าวหาอย่างรุนแรงว่าเครื่องบิน F-16 ของไทยทิ้งระเบิดใกล้กับปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นมรดกโลก ถือเป็น "การทำลายมรดกโลกโดยเจตนา" และละเมิด อนุสัญญาเฮกปี 1954 ทว่าฝ่ายไทยปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างสิ้นเชิง โดยยืนยันว่าจุดปะทะที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างจากตัวปราสาทถึง 2 กิโลเมตร ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่วิถีกระสุนจะไปถึง

ความพยายามไกล่เกลี่ยและท่าทีในอนาคต 

บทบาทของอาเซียนกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีมุมมองต่างกัน

ฝ่ายกัมพูชาระบุในถ้อยแถลงว่า นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน ได้โทรศัพท์หารือและเสนอให้มีการหยุดยิงทันที ซึ่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเห็นด้วยอย่างเต็มที่ แต่ "ประเทศไทยได้กลับจุดยืน" ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา

ในขณะที่นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย แถลงว่าไทยเห็นด้วยในหลักการที่อาเซียนจะเข้ามามีบทบาท แต่ "กัมพูชาจะต้องแสดงความจริงใจอย่างชัดเจนก่อน" โดยการยุติการโจมตีพื้นที่พลเรือนทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยยอมรับไม่ได้

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศไทยได้ประกาศว่าจะดำเนินการทางกฎหมายทุกช่องทางเพื่อประณามการกระทำของกัมพูชา ทั้งการยื่นเรื่องต่อรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา, คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และกำลังพิจารณายื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ICC ในข้อหาอาชญากรรมสงครามต่อไป

สถานการณ์ล่าสุดยังคงตึงเครียด แม้ประชาคมโลกจะส่งสัญญาณชัดเจนให้ทั้งสองประเทศกลับสู่โต๊ะเจรจา แต่บาดแผลและความไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นจากการปะทะครั้งนี้ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแสวงหาสันติภาพอย่างยั่งยืน

related