svasdssvasds

ตอบทุกข้อสงสัยกับ ChatGPT ไมโครซอฟท์ย้ำ "ไม่ได้มาแทนคน" แค่ทำงานให้ดีขึ้น

ตอบทุกข้อสงสัยกับ ChatGPT ไมโครซอฟท์ย้ำ "ไม่ได้มาแทนคน" แค่ทำงานให้ดีขึ้น

ปัญหาโลกแตกที่ทุกคนอยากรู้คือ ChatGPT จะมาทำงานแทนคนจริงหรือไม่? ซึ่งไมโครซอฟท์ หนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีตอบชัดว่า ChatGPT ยังไม่ได้มีความสามารถในการแทนคนทำงาน แต่จะมาช่วยตอบโจทย์การทำงานร่วมกันระหว่างคนกับหุ่นยนต์ให้ดีขึ้น

เมื่อ ChatGPT กลายเป็นทั้งประโยชน์และโทษในมุมมองของคนทั่วไป แต่วงการเทคโนโลยีถือว่าเป็นสิ่งที่กำลังว้าวสุดๆ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและพัฒนาวงการบริการให้ไม่เหมือนเดิม

คุณสรุจ ทิพเสนา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายโซลูชั่นองค์กร ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้เล่าถึงพัฒนาการของ ChatGPT ในงาน Meet the ChatGPT เปิดบ้านเล่าเรื่อง ChatGPT ก้าวสำคัญของ AI บนแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ ว่า

ChatGPT ถือว่าเป็นหนึ่งในการสร้างชุดข้อมูลใหม่ที่เรียกว่า Generative AI ซึ่งต่างจาก AI ในรูปแบบเดิมที่มีความสามารถในเรื่องของการตรวจจับ ประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก ส่วน Generative AI ที่จะนำไปใช้ในการพัฒนา ChatGPT นั้น จะเป็นการสร้างฐานข้อมูลใหม่จากชุดข้อมูลเดิมที่มีอยู่ แต่สร้างสรรค์ให้มีความสามารถในเรื่องของการอ่านคำสั่งจากรูปภาพ ความสามารถในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก การโต้ตอบที่ไหลลื่น

คุณสรุจ ทิพเสนา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายโซลูชั่นองค์กร ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย

นอกจากนี้ พันธกิจหลักของ Open AI คือพัฒนาเทคโนโลยีให้สร้างประโยชน์กับมนุษยชาติ ซึ่ง Generative AI จะต้องไม่ใช่แค่เรียนรู้ แต่ต้องคิด วิเคราะห์และสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้จากฐานความรู้ที่มีอยู่ และทั้งหมดก็ต้องพัฒนาขึ้นบนความปลอดภัย ตอบโจทย์ข้อสงสัยของทุกคนว่า ChatGPT อันตรายและไม่น่าใช้งานจริงหรือไม่

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

หากตอบในมุมมองของ ไมโครซอฟท์ บอกได้เลยว่าการใช้ ChatGPT ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และมีศักยภาพมากในการทำให้เกิดประโยชน์ ซึ่งองค์กรที่มีบิ๊กดาต้าของตนเอง น่าจะเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการนำไปต่อยอดและใช้งานให้เกิดประโยชน์ ซึ่ง ChatGPT สามารถนำไปใช้ในเรื่องของงานบริการการตอบคำถาม การเข้าอกเข้าใจ การสื่อสาร การสรุปรวมข้อมูล เป็นต้น

ทั้งนี้ องค์กรที่มีบิ๊กดาต้าและต้องการที่จะใช้ ChatGPT ไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำธุรกิจ จะต้องพัฒนาบน 6 หลักการ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ประกอบด้วย

  • ยุติธรรม (Fairness)
  • ไว้ใจได้ (Reliability and Safety)
  • ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว (Privacy and Security)
  • เสมอภาค (Inclusiveness)
  • โปร่งใส (Transparency)
  • มีความรับผิดชอบ (Accountability)

หากถามว่าองค์กรประเภทไหนที่มีแนวคิดในการนำ ChatGPT ไปใช้งานบ้าง ต้องบอกว่าเกือบจะใช้งานได้ทุกอุตสาหกรรม แต่ที่เห็นว่าจะลงทุนและต่อยอดได้เร็วคือ กลุ่มธนาคาร โทรคมนาคม เฮลท์แคร์ แมนูแฟคเจอริ่ง สตาร์ทอัป เพราะเป็นธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีอย่าง AI และ บิ๊กดาต้า อยู่แล้ว

ไมโครซอฟท์

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาบริการสำหรับ ChatGPT ทำบนเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Azure OpenAI ที่เป็นการนำโมเดล AI 3 ของ OpenAI มาเปิดให้ใช้งานได้อย่างมั่นใจขึ้น เป็นการช่วยให้องค์กรไม่จำเป็นต้องลงทุนไปกับการพัฒนาศูนย์ข้อมูลหรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ระบบเทคโนโลยีที่มีให้เลือกใช้งานผ่าน 3 โมเดล ได้แก่

GPT (Generative Pre-trained Transformer)

โมเดลขนาดใหญ่ด้านภาษา (Large Language Model) ที่สามารถสร้างสรรค์ข้อความและสื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ

DALL·E

โมเดลที่สามารถสร้างสรรค์ภาพขึ้นได้ตามคำสั่งของผู้ใช้ โดยทำได้ทั้งภาพศิลปะและภาพที่สมจริง

Codex

โมเดลสำหรับการเขียนโค้ด เพื่อสนับสนุนนักพัฒนาให้ทำงานได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้ ทำให้ Azure OpenAI สามารถนำไปปรับใช้ได้กับหลากหลายสถานการณ์ นับตั้งแต่การร่างบทความหรือหาแนวคิดตั้งต้น ค้นหา วิเคราะห์ และสรุปข้อมูล ช่วยเขียนโค้ด วาดภาพ หรือการบริการลูกค้า

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ มีการนำ AI ไปปรับใช้และผสมผสานเข้ากับทุกผลิตภัณฑ์และบริการ ผ่านเทคโนโลยี OpenAI ไม่ว่าจะเป็น

  • GitHub Copilot ตัวช่วยในการเขียนโค้ด
  • Power Apps ฟังก์ชันช่วยเขียนสูตรสำหรับจัดการข้อมูล เขียนแอปได้ตามความต้องการในธุรกิจ
  • Microsoft Designer และ Bing Image Creator ระบบสร้างภาพวาด สไลด์และกราฟฟิก 
  • การสรุปการประชุมอัตโนมัติใน Microsoft Teams Premium
  • การสนับสนุนงานขายใน Viva Sales
  • Bing และ Edge เวอร์ชันใหม่

อย่างไรก็ตาม การใช้งาน ChatGPT ที่จะดีและปลอดภัยที่สุดก็คือการที่เราใส่ชุดข้อมูล (Prompt) และปรับแก้สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม (Edit) จนได้ข้อมูลที่สมบูรณ์แบบที่สุดและมีจริยธรรมที่สุด เพราะชุดข้อมูลที่ได้มานั้นจะถูกเก็บไว้บนฐานข้อมูลหนึ่ง (A) เมื่อมารวมกับชุดข้อมูลที่ใส่เข้ามาใหม่ (B) ระบบจะคัดกรอง (Filter) ด้วยเงื่อนไขและหลักการ 6 ข้อของไมโครซอฟท์ก่อนจะประมวลผลข้อมูลออกมาได้ประสิทธิภาพสูงสุด

"ไมโครซอฟท์ เพิ่งเปิดตัว Azure OpenAI มาได้เพียง 4 สัปดาห์ ได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการต่อยอดเรื่องบิ๊กดาต้าที่มีอยู่เดิม ให้ใช้งานและมีประโยชน์ในการใช้งานกับประชาชนมากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์อยากจะเชิญชวนให้องค์กรและคนไทยเข้ามาทดลองใช้งาน ChatGPT มากกว่าแค่การเล่นทั่วไป เพราะสามารถใช้งานได้ทั้งคุยส่วนตัวและเชิงองค์กร เพื่อมีศักยภาพในการทำให้ ChatGPT เกิดประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีได้สูงสุด

สุดท้ายในเรื่องของความกังวลเรื่องความปลอดภัย ไมโครซอฟท์บอกว่า ถ้าเป็น ChatGPT ที่พัฒนาผ่านแพลตฟอร์ม Azure นั้น มีความปลอดภัยสูง เพราะเราใช้มาตรฐานหลายอย่างในการกรองข้อมูลและปรับให้เกิดประโยชน์ใช้งานได้จริง

นอกจากนี้ เรื่องของการดึงข้อมูลบนคลาวด์หรือบิ๊กดาต้ามาใช้งานนั้นจะเป็นข้อมูลบนฐานข้อมูลขององค์กรที่จัดเก็บบนบิ๊กดาต้าที่ถูกดึงขึ้นมาใช้งานเฉพาะในองค์กร จึงเป็นข้อมูลที่มีความปลอดภัยระดับหนึ่ง ไม่ได้เป็นการดึงดาต้าทั่วไปเข้ามารวมบนระบบคลาวด์ที่มีความเสี่ยงเรื่องข้อมูลแปลกปลอมและตรวจสอบไม่ได้

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ต้องการที่จะเอา AI เข้ามาช่วยเสริมในการทำงานระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น เพราะมีงานบางส่วนที่ไม่ต้องใช้คนทำซ้ำๆ และเข้ามาทดแทนได้ มีงานอีกหลายอย่างที่ AI ทดแทนคนไม่ได้เช่นกัน

related