svasdssvasds

12 พฤติกรรมการล่วงละเมิดทางจิตใจ ที่รุนแรงไม่ต่างจากการทำร้ายร่างกาย

12 พฤติกรรมการล่วงละเมิดทางจิตใจ  ที่รุนแรงไม่ต่างจากการทำร้ายร่างกาย

อย่าปล่อยให้การกระทำของใคร ทำให้เราไม่มีความสุข ชวนเช็ค! 12 พฤติกรรมการล่วงละเมิดทางจิตใจ ที่รุนแรงไม่ต่างจากการทำร้ายร่างกาย

ขึ้นชื่อว่าความสัมพันธ์ แน่นอนว่าย่อมมีกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา แต่เมื่อไหร่ที่ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ บานปลายจนกลายเป็นการทำลายกันเมื่อไหร่ นั่นย่อมหมายถึงสัญญาณเตือนว่า เราอาจกำลังถูกคุกคามจากคนใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัวก็ได้

หลายครั้งที่การคุกคามแฝงมาในรูปของความรัก และการคุกคามทางจิตใจก็เกิดขึ้นในความสัมพันธ์บ่อยกว่าการคุกคามทางร่างกายเสียอีก เนื่องจากฝ่ายที่ใช้คำพูด และท่าทีการแสดงออกเพื่อโจมตีหรือด้อยค่าผู้อื่น มักมองว่าตัวเอง “ทำความผิดเพียงเล็กน้อย” เพราะไม่ได้ไปทำร้ายร่างกายใคร

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ทั้งในความสัมพันธ์แบบคู่รัก เพื่อนฝูง ครอบครัว หรือความสัมพันธ์แบบไหนก็ตามมักต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกล่วงละเมิดทางจิตใจอยู่เสมอ

ทีม SPRiNG จึงขอชวนทุกคนมารู้จักกับ 12 พฤติกรรมการล่วงละเมิดทางจิตใจ ที่ไม่ควรเอาไปกระทำกับใคร และถ้าใครกำลังถูกกระทำควรเอาตัวเองออกมาโดยด่วน

12 พฤติกรรมการล่วงละเมิดทางจิตใจ  ที่รุนแรงไม่ต่างจากการทำร้ายร่างกาย

“Overprotection” = ปกป้องแบบโอเวอร์

ปกติแล้วคำนี้มักใช้กับครอบครัวที่ปกป้องลูกมากเกินจนลูกไม่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ในความสัมพันธ์แบบคู่รักก็ใช้คำนี้ได้เหมือนกัน เพราะบ่อยครั้งการปกป้องหรือการแสดงความเป็นเจ้าของ ทำให้เพศชายเป็นฝ่ายดูดีขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม มีเส้นบางๆ คั่นระหว่างการปกป้องดูแล กับปกป้องมากเกินไป ซึ่งต้องอาศัยการสังเกตว่าเวลาที่คุณกำลังใช้เวลาสนุกสนานกับใครสักคนอยู่ แฟนของคุณได้แสดงกิริยาที่ดูเป็นการคุกคามความรู้สึกคุณอยู่หรือเปล่า เช่นแสดงความหึงหวงหรืออิจฉามากเกินไป จนนำไปสู่การทะเลาะทุกครั้ง

ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้น ให้ถามตัวเองว่าคุณควรต้องมีคนมาตามคุ้มกันขนาดนั้นเลยหรือ ซึ่งถ้าคำตอบคือ “ไม่” คุณควรถอยออกมาก่อนดีกว่า

“Gaslighting” = ปั่นประสาทจนหลุดไปจากความเป็นจริง

โดยคำนี้มีความหมายเต็มว่า ‘The act or practice of grossly misleading someone, especially for one’ s own advantage.’ หรือแปลความหมายเป็นไทยคือ การกระทำบางอย่างที่จงใจให้อีกฝ่ายเข้าใจผิดไปจากความจริง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง (ทางใดทางหนึ่ง)

เช่น คุณอาจเคยถูกคนรักทำร้ายร่างกายในอดีต แต่คนรักของคุณกลับปฏิเสธหน้าตาย และบอกว่า คุณเสียสติและทำร้ายตัวเอง ซึ่งผู้ใช้วิธีนี้จะโน้มน้าว และปั่นประสาทจนคุณเชื่อแบบนั้นจริงๆ หรือ คู่รักคนนั้นอาจทำให้คุณเชื่อว่าตัวเองเป็นบ้า ทั้งๆ ที่คุณปกติทุกอย่าง

ปัญหาใหญ่สุดของ Gaslighting คือมันปิดบังตัวเองได้เก่ง ซึ่งนี่อาจเป็นการกระทำที่เข้าใจได้ยาก แต่เชื่อเถอะว่าการกระทำนี้น่ารังเกียจมาก และคนที่โดน Gaslighting อาจสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง และอาจต้องเข้ารับการบำบัดก่อนที่จะกลับมาใช้ชีวิตปกติ

ดังนั้นถ้าคุณรู้สึกว่ากำลังถูก Gaslighting อยู่ ให้คุณถอยออกมาจากความสัมพันธ์นั้น และค่อยเก็บหลักฐานในแต่ละเหตุการณ์ไว้ เพื่อเอามายืนยันกับตัวเองว่า สิ่งที่คุณเจอมานั้นถูกต้องแล้ว

“Name-calling” = ตั้งฉายา

การตั้งฉายาเพื่อหยอกล้อกัน คือปัญหาคลาสสิก โดยเฉพาะในสังคมโรงเรียนที่มีการกลั่นแกล้งกันเป็นเรื่องปกติ เช่น อีชะนี พะยูน ช้างน้ำ ที่ล้วน เป็นดูหมิ่น และโจมตีผู้อื่น

นี่อาจดูเป็นเรื่องผิวเผิน แต่การตั้งฉายาถือเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำให้ใครสักคนตกต่ำ และเป็นการละเมิดเรื่องรูปร่าง เพศ และตัวตนของอีกฝ่าย อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การล้อเล่นกันเองในหมู่เพื่อนสนิทอาจไม่ได้เป็นการคุกคามมากนัก เพราะการตั้งฉายามักถูกมองให้เป็นเรื่องตลกเบาๆ ภายในกลุ่มกันเองได้ แต่เมื่อไหร่ที่ผู้พูดใช้มันเพื่อบงการ ควบคุม หรือดูถูกผู้อื่น นั่นย่อมเป็นไม่ใช่เรื่องตลกแน่นอน

“Gradual Isolation” = กีดกัน

ผู้ที่ทำสิ่งนี้ จะค่อยๆ โน้มน้าวให้ออกห่างจากครอบครัว เพื่อนฝูง หรือทุกคนที่เป็นอุปสรรคต่อผลประโยชน์ของเขา

เช่น ในความสัมพันธ์แบบคู่รัก ถ้าฝ่ายหญิงผิดหวังจากเรื่องงาน หรือเรื่องอะไรก็ตาม และอยากปรึกษาใครสักคน ฝ่ายชายก็จะแสดงให้เห็นว่าเขาคือคนที่หวังดีจริง ๆ ส่วนคนอื่นไม่ได้รักอย่างที่เขารัก ไม่ได้หวังดีอย่างที่เขาหวัง และบนโลกนี้มีแต่เขาเท่านั้นที่จะช่วยได้

โดยฝ่ายที่ทำแบบนี้มักใช้คำพูดประมาณว่า ฉันรักเธอที่สุด ทำแบบนี้เพราะเป็นห่วงนะ หรือ ต้องเป็นฉันที่ช่วยเธอทุกเรื่องเท่านั้น ซึ่งถ้าฝ่ายที่ฟังใจอ่อนก็จะตกอยู่ในการควบคุมของอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้นถ้าใครกำลังรู้สึกเหมือนถูกกระทำแบบนี้อยู่ ให้รีบปรึกษาครอบครัว เพื่อนฝูง หรือนักบำบัดโดยด่วน

“Cold-shouldering” = ทำให้ไม่มีตัวตน

การเฉยชาใส่ เป็นวิธีที่ใช่กันทั่วไป ซึ่งถึงดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ทว่าความเฉยชากลับเป็นการทรมานทางจิตใจใส่กันอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น ในความสัมพันธ์แบบคู่รัก เพื่อนฝูง หรือครอบครัว โดยถ้ามีคนใกล้ชิดทำเหมือนกับคุณไม่มีตัวตน เดินไปรอบๆ ห้องหรือในบ้านโดยไม่พูดจากับคุณสักคำตลอดทั้งวัน นั่นจะทำให้คุณยิ่งรู้สึกหมดพลังและทำอะไรไม่ถูก ซึ่งการไม่แยแสโดยเจตนานี้เป็นสัญญาณว่าความสัมพันธ์ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน หรือไม่ก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเดินออกมาเอง

12 พฤติกรรมการล่วงละเมิดทางจิตใจ

“Guilt-tripping” = ทำให้รู้สึกผิดตลอดเวลา

หัวข้อนี้คือการที่มีบุคคลในความสัมพันธ์ ทำให้อีกฝ่ายต้องรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา ด้วยคำพูดและการแสดงออก ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกความสัมพันธ์เช่น การทะเลาะกันของคู่รัก ที่ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายผิดตลอดไม่ว่าจะเรื่องอะไร หรือ ตอนบอกเพื่อนว่าไปช่วยกิจกรรมโรงเรียนไม่ได้ เพราะต้องดูแลแม่ที่ไม่สบาย แต่เพื่อนกลับตอบว่า กิจกรรมโรงเรียนสำคัญกว่า และเป็นความผิดเราที่ไม่มาร่วม

เมื่อคุณเจอสถานการณ์ทำนองนี้ ให้กล้าเผชิญหน้ากับมัน และยืนยันว่าเหตุผลของคุณถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน มิฉะนั้นความสัมพันธ์ดังกล่าว จะกลายเป็นคุณที่เสียหายอยู่ฝ่ายเดียว

“Coercive Sex” = บังคับให้มีกิจกรรมทางเพศ

นี่ไม่ใช่การใช้กำลังขู่บังคับ แต่เป็นการใช้คำพูดหวานๆ โน้นน้าวให้อีกฝ่ายทำกิจกรรมทางเพศด้วยกัน เพราะเซ็กส์เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสร้างความใกล้ชิดระหว่างคู่รัก

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเพศ ควรได้รับความยินยอมทั้งสองฝ่าย เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่คุณเผลอยอมทำตามคำโน้มน้าว เพียงแค่คิดว่า “ทำให้จบๆ ไป” เพื่อให้อีกฝ่ายพอใจ เมื่อนั้นย่อมหมายถึงอันตรายได้มากกว่าที่คิด เพราะการมีกิจกรรมทางเพศแบบไม่ได้รับการยินยอม 100% ย่อมบานปลายไปสู่การข่มขืนคู่รักหรือการตั้งครรภ์โดยไม่เต็มใจได้

“Damage to property” = ทำลายข้าวของเมื่อไม่พอใจ

นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแทบทุกความสัมพันธ์ โดยแม้จะไม่ได้ทำร้ายร่างกาย กันโดยตรง แต่การต่อยกำแพง เตะประตู ขว้างสิ่งของไปทั่วห้อง หรือโยนมาใส่คุณ เป็นการแสดงความโกรธที่โจ่งแจ้ง ซึ่งไม่เหมาะสม และอาจบานปลายไปสู่การทำร้ายร่างกายได้ในที่สุด

“Stalking” = แอบติดตาม สอดส่อง

ปัจจุบันการสะกดรอยตามผู้คนเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะเราหาตำแหน่งของกันและกันได้ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งถ้าใช้อย่างถูกวิธีอย่างเช่น ตามหาเพื่อนที่หายไปจนเจอจากตำแหน่ง GPS ล่าสุด ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่การแอบติดตาม และสอดส่องคนใดคนหนึ่ง โดยที่เขาไม่รู้ตัว ทั้งในโลกความจริง และโลกออนไลน์ ถือเป็นการคุกคามที่ไม่เหมาะสมอย่างชัดเจน และทำให้ผู้ที่โดนติดตามรู้สึกไม่ปลอดภัยได้

“Body Shaming” = วิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา

เรื่องนี้คล้ายๆ กับการตั้งฉายา แต่ต่างกันตรงที่เจาะจงไปที่รูปร่างผู้อื่นโดยตรง โดยเป็นการใช้คำพูดหยอกล้อ จิกกัด และดูหมิ่น จนทำให้ผู้ฟังรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง เช่นการเรียกแบบติดตลกด้วยคำว่า “อ้วน” หรือ “ผอม” คือตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้ และคำพูดเล่นๆ แบบไม่คิดอะไรดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในชีวิตของผู้ถูกต่อว่าอย่างมาก

“Financial Abuse” = ควบคุมการใช้เงินของอีกฝ่ายมากเกินไป

การละเมิดทางการเงินคือสิ่งที่เห็นได้ทุกความสัมพันธ์ และเป็นสัญญาณแลกของการค่อยๆ ควบคุมอีกฝ่าย เช่นมีฝ่ายหนึ่งสั่งไม่อนุญาตให้อีกฝ่ายทำงาน หรือมีช่องทางรายได้อื่นๆ หรือบังคับให้ใช้หนี้สินแทนคนอื่น

การกระทำดังกล่าว ทำให้มีฝ่ายหนึ่งสามารถควบคุมชีวิตอีกฝ่ายได้เกือบทั้งหมด และยิ่งทำให้คนที่ถูกควบคุมเอาชีวิตออกมาจากคนที่คุกคามตนเองได้ยากขึ้นไปอีก เพราะถ้าหนีไปก็ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาใช้ เลยต้องฝืนทนอยู่ไปก่อน ซึ่งการละเมิดแบบนี้ สามารถทำลายชีวิตและอนาคตของอีกฝ่ายได้เลยทีเดียว .

“Abusive Sleep-Deprivation” = จงใจทำให้อีกฝ่ายนอนน้อย นอนดึก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ

คนเราต้องนอนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อสร้างร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง เพราะสุขภาพจิตของเราอาศัยการนอนหลับเป็นอย่างมาก เพื่อฟื้นฟูสุขภาพจิตจากความเครียดที่เผชิญมาทั้งวัน แต่แน่นอนว่าในโลกที่หมุนอย่างรวดเร็วนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะนอนได้ตามโควตานั้น และถ้าคุณนอนน้อย ย่อมหมายถึงอาการหงุดหงิดที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าคุณอาศัยอยู่ร่วมกับคนที่ไม่ได้หวังดีกับคุณเท่าที่ควร คนประเภทนั้นก็อาจหาเรื่องมาทะเลาะกับคุณกลางดึกอยู่เรื่อยๆ ซึ่งอาจมาในรูปแบบของการทำให้คุณตกใจจนตื่น หรือปลุกคุณซ้ำ ๆ ตลอดทั้งคืนเพื่อมาพ่นเรื่องไร้สาระต่อ ซึ่งถือเป็นการคุกคามที่ทำร้ายสุขภาพกายและใจของคุณอย่างมาก

คุกคามทางจิตใจ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือการ คุกคามทางจิตใจ ที่รุนแรงไม่แพ้ทางร่างกาย ซึ่งทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีคุณภาพชีวิตโดยรวมตกต่ำลง และคงไม่มีใครช่วยได้หากผู้ที่ถูกกระทำไม่เป็นฝ่ายส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ

ถ้าคุณหรือเพื่อนของคุณกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ ให้รีบปลีกตัวออกมาทันที และหาทางพูดคุยกับใครสักคน จะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือนักบำบัดก็ได้ เพราะถึงแม้การเริ่มพูดคุยกับคนอื่นอาจไม่ได้ทำให้ปัญหาหรือภาวะที่เราเผชิญอยู่หายไปทันที

แต่อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณแรกที่บอกว่าคุณกำลังเริ่มกลับมา “รักตัวเอง” ได้แล้ว!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related