svasdssvasds

เปิดข้อกฎหมาย ก.ล.ต. สั่งปรับเงินไปไหน ? มีสิทธิ์อะไรลงโทษทางแพ่งบ้าง ?

เปิดข้อกฎหมาย ก.ล.ต. สั่งปรับเงินไปไหน ? มีสิทธิ์อะไรลงโทษทางแพ่งบ้าง ?

ทุกครั้งเวลาเราได้ยินข่าวว่า ก.ล.ต. สั่งลงโทษทางแพ่ง ทั้งปรับ ทั้งห้ามซื้อขาย เงินไปไหน ก.,.ต. ใช้สิทธิ์อะไรในการลงโทษบ้าง

ก.ล.ต. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหลายคนมักเรียกกันติดปากว่า ตำรวจตลาดหุ้น เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือนตำรวจ ในการสืบสวนการกระทำผิดและลงโทษนักลงทุน ตัวแทนซื้อ-ขาย หรือ บริษัท ที่เจตนาทุจริตในตลาดทุน เช่น ปั่นหุ้น ใช้ข้อมูลวงในซื้อขายหุ้น เป้นต้น

เป็นเวลาเกือบ 6 ปีแล้วที่ ก.ล.ต. นำ “มาตรการลงโทษทางแพ่ง” มาเป็นหนึ่งช่องทางในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเริ่มตั้งแต่พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2559 วันนี้จึงขอชวนมาทำความรู้จักและเจาะลึกมาตรการลงโทษทางแพ่งกันอีกนิด

มาตรการลงโทษทางแพ่ง คืออะไร

มาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายช่องทางใหม่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 และ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

โดยส่วนใหญ่คดีแพ่งเป็นการเอาผิดในด้านการเงินและเรียกร้องค่าเสียหาย เช่น สั่งปรับ , สั่งชดเชย เป็นต้น

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เงินค่าปรับไปไหน

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) กำหนด ต้องตกลงทำบันทึกการยินยอม กับ ก.ล.ต. และเมื่อชำระเงินครบถ้วนตามบันทึกการยินยอมแล้ว สิทธิในการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดนั้นจะสิ้นสุดลง

ส่วนค่าปรับทางแพ่งและเงินชดใช้เท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิด พร้อมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากเงินดังกล่าว ก.ล.ต. นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน 

ความผิดแบบไหน ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้

  • พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ (มาตรา 317/1) 
    1. กระทำการอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์
    2. แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ
    3. ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการหรือผู้บริหารตามมาตรา 89/7
    4. ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือบัญชีธนาคารที่ใช้ชำระค่าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือบัญชีธนาคารของบุคคลอื่น
  • พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ (มาตรา 96)
    1. แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ
    2. กระทำการอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
    3. ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บัญชีธนาคาร บัญชีที่เปิดไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบัญชีอื่นใดที่ใช้ชำระราคาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บัญชีธนาคาร บัญชีที่เปิดไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบัญชีอื่นใดของบุคคลอื่น

การพิจารณาให้ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง มีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร

ก.ล.ต. ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย หากพบการกระทำผิดและเห็นควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำผิด

โดยการลงโทษไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะสั่งลงโทษใครก็ได้ แต่ ก.ล.ต. จะต้องเสนอให้คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ซึ่งประกอบด้วย

  1. อัยการสูงสุด
  2. ปลัดกระทรวงการคลัง
  3. อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
  4. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ
  5. เลขาธิการ ก.ล.ต.

โดย คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) จะพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้ ว่าสมควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำผิดหรือไม่

  1. ความร้ายแรงของการกระทำ
  2. ผลกระทบต่อตลาดทุน
  3. พยานหลักฐานที่อาจนำมาพิสูจน์ความคิด
  4. ความคุ้มค่าในการดำเนินการ

มาตรการลงโทษทางแพ่ง มีอะไรบ้าง

  1. ปรับทางแพ่ง
  2. ชดใช้เงินเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำผิด
  3. ห้ามเข้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี / ห้ามเข้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี
  4. ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี / ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี
  5. ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบให้กับ ก.ล.ต.

ค.ม.พ. สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งให้เหมาะสมแก่ข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ให้ครบทั้ง 5 มาตรการในทุกกรณี

ถ้าผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด จะเป็นอย่างไร

 

ก.ล.ต. มีอำนาจฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ศาลพิจารณากำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งให้จำเลยปฏิบัติ ซึ่งศาลสามารถกำหนดดอกเบี้ยบนเงินชดใช้ผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดและเงินชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบของ ก.ล.ต. ได้ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ การดำเนินคดีและการบังคับคดีในกรณีนี้จะอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

related