svasdssvasds

สปสช. เร่งแก้ปัญหา สิทธิบัตรทอง คนไข้ทะลักโรงพยาบาล พร้อมหา รพ.คู่สัญญาใหม่

สปสช. เร่งแก้ปัญหา สิทธิบัตรทอง คนไข้ทะลักโรงพยาบาล พร้อมหา รพ.คู่สัญญาใหม่

สปสช. แจงไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งแก้ปัญหา สิทธิบัตรทอง หลังคนไข้ทะลักโรงพยาบาล กำลังดำเนินการ หาโรงพยาบาลคู่สัญญาใหม่

จากกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกสัญญารพ.เอกชน ที่อยู่ในสิทธิบัตรทอง 9 แห่ง ทำให้รพ.รัฐหลายแห่งต้องรับผู้ป่วยกลุ่มสิทธิบัตรทองที่ถูกยกเลิกสัญญาเพิ่มจนเป็นเหตุ ให้ รพ.รัฐหลายแห่งเกิดปัญหา บุคลากร รพ.รองรับไม่ไหว และมีประชาชนรอคิวใช้บริการเป็นจำนวนมากจนล้นโรงพยาบาล

ล่าสุด  ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยว่า  ทางสปสช. เข้าใจและรับทราบปัญหา ซึ่งได้มีการดำเนินการจัดวางระบบรองรับต่างๆมาตลอด ตั้งแต่มีการยกเลิกสัญญารพ.เอกชนที่มีปัญหาเรื่องการเบิกจ่าย อย่างไรก็ตาม ภาพใหญ่ก่อนจะยกเลิกได้มีการประสานกับทางกระทรวงสาธารณสุขมาตลอด มีการประสานผู้บริหารระดับสูง ทั้งท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข  และประสานทางผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อมีการยกเลิกสัญญารพ.เอกชนที่ดูแลผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง ย่อมต้องมีการกระจายประชากรแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า  ทั้งนี้ ประชากรที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นพื้นฐานการเข้ารับบริการยังหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 200,000 กว่าราย โดยมาใช้บริการจริง 45% หรือตัวเลขกลมๆอยู่ราว 100,000 คน ซึ่งใน 1 แสนคน เราให้สิทธิ์ป่วยไข้ไปที่ไหนก็ได้ โดยเจ้าภาพหลักเป็นกรุงเทพมหานคร ซึ่ง ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. และ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ได้ให้สำนักอนามัย ที่มีศูนย์บริการสาธารณสุขรับผู้ป่วยกลุ่มนี้หมด ใกล้ที่ไหนไปที่นั่นได้ ดังนั้น กลุ่มปฐมภูมิที่ต้องรับยาเป็นประจำต่อเนื่อง จะมีตรงนี้มารองรับ ซึ่งคนไข้รับยาต่อเนื่องเราก็ยังโทรประสานไปหาเช่นกัน

“กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 700,000 คน เป็นเรื่องของหน่วยรับส่งต่อ ไม่ว่าจะเป็นของกทม.หรือของกระทรวงสาธารณสุขจะช่วยรับตรงนี้ก่อน ดังนั้น รพ.นพรัตนราชธานี จึงเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ท่านรัฐมนตรีฯ และท่านปลัดสธ.มอบหมายให้ดำเนินการตรงนี้ แน่นอนว่า คนไข้มาเยอะ จนมีปัญหา ซึ่ง สปสช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราก็พยายามหาหน่วยบริการ รพ.เอกชนอื่นๆ มาเสริม ซึ่งกำลังเจรจา หากสำเร็จจะเร่งประกาศทันที และจะโอนประชากรกลับทันที แต่ต้องขอบคุณมากสำหรับรพ.รัฐที่มาช่วยตรงนี้”  รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

สปสช.รับเข้าใจปัญหาไม่ได้นิ่งนอนใจ  ส่วนกรณีรพ.รับส่งต่อ หากเป็นรพ.เอกชนต้องหาที่ใกล้กับบ้านของประชาชน หรือใกล้กับรพ.เดิมที่ถูกยกเลิกไปหรือไม่ เนื่องจากกรุงเทพตะวันออก จะมีรพ.นพรัตนฯเป็นศูนย์กลาง ทำให้คนหันไปใช้บริการมากที่สุด  ทพ.อรรถพร กล่าวว่า  ลักษณะทางกายภาพ อย่างกรุงเทพตะวันออก หาหน่วยบริการจำกัด จึงมีรพ.นพรัตนราชธานีที่เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเราเข้าใจดี ดังนั้น การหามาแทนที่จะไกลออกไปนิดหนึ่ง แต่ก็จะหาใกล้ที่สุดเท่าที่เราทำได้

“จริงๆ เราพยายามขยายไปที่คลินิกเวชกรรม ร้านยา ที่เงื่อนไขอาจไม่เท่าคลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งก็จะมาช่วยมาเติมในระบบกรณีผู้ป่วยอาการเล็กน้อย ระดับปฐมภูมิได้เช่นกัน ส่วนกรณีหน่วยบริการรับส่งต่อนั้น แม้จะไกลออกไป แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าหน่วยรับส่งต่อ คนไข้จะมีอาการมาก และระบบจะส่งต่อไปรักษาเฉพาะทาง ซึ่งการส่งต่อนั้นเมื่อมาถึงจะไปแอดมิทหรือนอน ใน รพ. เมื่อรักษาหายก็จะเดินทางกลับ ซึ่งการเดินทางจะ 2 รอบ คือ ไปและกลับ จะไม่เดือดร้อนเหมือนต้องเดินทางไปรักษาบ่อยๆ ” รองเลขาธิการสปสช.กล่าว

เมื่อถามอีกว่าสปสช.จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ในเรื่องการการจัดหาหน่วยบริการเพิ่มเติมแล้วเสร็จนานหรือไม่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ท่านเลขาธิการสปสช. ตามเรื่องนี้ทุกวัน เราพยายามทำทุกวิถี ประสานรพ.ต่างๆ ไม่ได้นิ่งนอนใจเลย

เมื่อถามว่าภายใน 1 เดือนจะดีขึ้นหรือไม่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ท่านเลขาฯ อยากให้พรุ่งนี้ดีขึ้นด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตาม สปสช.พยายามเร่งมือที่สุด

กรณีเคยมีผู้เสนอให้ปรับเกณฑ์การเบิกจ่ายของสปสช.เพื่อดึงดูดหน่วยบริการเอกชนมาเป็นคู่สัญญาเพิ่ม ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมามีตัวอย่าง เช่น ทางรพ.เอกชน ประสานให้ทาง สปสช.ปรับเงื่อนไขการจ่าย ระยะเวลาให้สั้นลง ซึ่งทางสปสช.ก็ดำเนินการ  ดังนั้น รพ.เอกชนสามารถเสนอเข้ามากับทางสปสช.ว่า ต้องการให้ปรับเกณฑ์อย่างไร หากทำได้ ไม่ขัดกับระเบียบ ไม่ขัดกฎหมาย ก็พร้อมจะหารือและพิจารณาต่อไป

related