การทำงานในวงการสื่อมวลชนมายาวนานกว่า 30 ปี ของสมจิตต์ นวเครือสุนทร ถึงจะเคยเจอสภาวะกดดันหรือถูกคุกคามขนาดไหน แต่ก็ไม่เคยผิดจรรยาวิชาชีพ เพราะคุณค่าของตัวเอง คือการได้ทำข่าว
สมจิตต์ นวเครือสุนทร อายุ 55 ปี ทำงานในวงการสื่อมวลชนมา 30 กว่าปี ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการบริหาร The Publisher หลายคนอาจะจำภาพของเธอตอนที่คุณบรรหาร ศิลปอาชา ให้ออกจากตึกไทยคู่ฟ้า หรือว่าเรื่องคุณเฉลิม อยู่บำรุง ที่มีวิวาทะเรื่องขี้ข้าทักษิณ แต่สำหรับภาพจำของนักข่าวของเธอ คือตอนที่ได้มาฝึกงานที่แนวหน้า ตอนนั้นก็ได้รับโอกาสให้เข้าทำงานเลยทั้งที่ยังฝึกงานอยู่ เธอเล่าว่า ช่วงของการทำงานได้มีโอกาสทำข่าว และในช่วงนั้นก็อยู่ในสถานการณ์ของการรัฐประหารเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงได้มีโอกาสสัมภาษณ์เสธ.ท่านหนึ่งทางโทรศัพท์ จนมีคำพูดหนึ่งที่ท่านพูดขึ้นมาว่า “รัฐประหาร เป็นเรื่องธรรมดาของประเทศไทย ที่มันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้”
พอหลังจากเอามาเขียนข่าว ก็กลายเป็นประเด็นและพาดหัวหน้าหนึ่งในแนวหน้าในขณะนั้น เธอเล่าว่า ในตอนนั้นมันก็กลายเป็นความภูมิใจของเธอ เพราะตอนนั้นยังเป็นแค่เด็กฝึกงานอยู่ถึงตอนนั้นบริษัทจะบรรจุเข้าแล้วก็ตาม แต่ความภูมิใจก็อยู่กับเธอได้ไม่นาน หลังจากผ่านไป 2 อาทิตย์ ก็ได้รับเพจเจอร์ติดต่อเข้ามาให้ติดต่อกลับไปตามเบอร์ที่ให้ไว้ พอโทรกลับไปก็พบว่าเป็นเบอร์ของคนติดตามของเสธ.
“รู้ไหมว่าข่าวที่ลงไปมันได้รับผลกระทบ ท่านกำลังจะขึ้นแคนดิเดตเป็นผบ.ทอ.ด้วย ตอนนี้เหมือนกำลังจะสะดุดเพราะเรื่องนี้”
เธอเล่าต่อว่าตอนนั้นเขาก็บอกให้ไปเจอกันที่กองทัพอากาศ และก็ได้เดินทางไปพร้อมกับพี่นักข่าวที่ประจำอยู่สายทหาร พอไปถึงทหารตั้งแต่หน้าประตูเหมือนรู้จักเธอหมดเลย พอเดินเข้าไปก็จะมีทหารระดับยศนายพลนั่งอยู่เต็มห้อง หลังจากที่ เสธ. เดินเข้ามาคุยกับเธอ ว่าท่านได้รับผลกระทบจากข่าวที่เธอเขียน เป็นไปได้ไหมที่จะเขียนแก้ข่าวใหม่ ถึงข่าวที่ออกไปจะไม่มีเนื้อหาไหนผิดพลาด แต่ เสธ. ก็ยังพูดต่อว่าแค่ไม่คิดว่าเธอจะเอาไปเขียนเป็นข่าว
“พอท่านพูดแบบนั้นก็สะอึกเลยนะ เราเลยบอกว่า หนูขอโทษ เพราะหนูไม่ทราบว่ามีบางส่วนที่ท่านไม่อยากให้เขียนเป็นข่าว อันนี้เป็นข้อบกพร่องของหนูเอง แล้วข่าวมันออกไปแล้ว แล้วถ้าข่าวมันไม่ผิดก็ต้องเรียนท่านว่ามันแก้ไม่ได้ เพราะว่าข่าวมันไม่ผิด”
ในตอนนั้นเธอก็กำลังเขียนคอลัมน์ให้กับแนวหน้าอยู่ เลยเสนอว่าเป็นไปได้ไหมถ้าจะเล่ามุมมองที่เรารู้จักท่านในคอลัมน์ของเรา พอจะทดแทนกันได้หรือเปล่า แต่ถึงอย่างนั้นเสธ.ก็ตอบกลับมาว่าก็คงทดแทนกันไม่ได้ เพราะข่าวที่มันออกไปมันสร้างผลกระทบต่อท่านไปแล้ว แต่ท่านก็เข้าใจและตัวเธอก็ยืนยันกับท่านว่าจะเขียนในมุมที่เธอเห็นลงในคอลัมน์ ในขณะนั้นก็มีทหารท่านหนึ่งพูดขึ้นมาว่า ถ้าเขียนเสร็จแล้วก็ส่งมาให้ดูด้วยนะ ขอดูก่อน ในตอนนั้นยังเด็กเลยตอบกลับไปว่า “ถ้าเกิดว่าหนูต้องส่งให้ท่านดู หนูคงต้องเปลี่ยนแนวหน้าเป็นสาร ทอ.แล้วค่ะ”
ในตอนนั้นเธอเล่าว่า ก็แค่รู้สึกว่ามันไม่ถูกและพูดไปตามความรู้สึก และคิดว่าเสธ.จะเข้าใจในส่วนการทำงานของคนเป็นสื่อ และในขณะเดียวกันก็เข้าใจว่างานของตนเองก็สร้างผลกระทบต่อเสธ.ถึงแม้ท่านจะไม่พอใจ แต่ท่านก็ไม่ได้ทำอะไร เธอยังบอกอีกว่า โชคดีที่ไม่ได้มีผลกระทบอะไร เรามักจะคิดว่าทหารอาจจะไม่ได้มีความเข้าใจถึงอิสระหรือเสรีภาพในการทำงานของสื่อ แต่ไม่ว่ายังไงก็ตามในฐานะสื่อจะมีอิทธิพลมากแค่ไหนก็ต้องพึงระวังในการทำงานให้มากที่สุด
สำหรับเธอในฐานะสื่อมวลชน เธอมองว่าสื่อมวลชนคือกระบอกเสียงให้กับประชาชน เธอบอกว่า เวลาที่ยื่นไมค์ถามนักการเมืองเราแค่คิดว่า เรากำลังถามแทนประชาชน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนควรรู้ ถึงจะเคยโดนแหล่งข่าวตอบกลับมาแรงๆ อย่าง ฝักใฝ่ประชาธิปัตย์! หรือ วิวาทะขี้ข้าทักษิณ ในมุมเธอก็คิดว่า แหล่งข่าวก็มาสามารถมองอย่างนั้นได้ เพราะตัวเธอเองก็ยึดการทำข่าวด้วยความยุติธรรม แต่การที่มีแหล่งข่าวเอาฉายาบางอย่างมายัดใส่ มันก็เหมือนเป็นการทำลายความชอบธรรมของอีกฝ่ายไปโดยปริยาย ซึ่งรวมถึงความชอบธรรมของคำถามไปด้วย เพราะช่วงเวลานั้นมันเป็นเรื่องของสีของข้าง การโยนใครไปอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเป็นเรื่องง่าย ถึงจะเคยโดนคุณเฉลิม อยู่บำรุง ประกาศว่าจะไม่ให้สัมภาษณ์กับเธออีกแล้ว เพราะเคยเกิดวิวาทะ
“ท่านบอกว่าหนูฝักใฝ่พรรคประชาธิปัตย์ ถ้าคิดว่าหมิ่นประมาทให้ไปแจ้งความได้ แล้วถ้าหนูเรียกท่านว่าขี้ข้าทักษิณแล้วท่านคิดว่าหมิ่นประมาทไหม”
“พี่เลยไปโพสต์ Facebook ว่า เราเคยรู้จักกันแบบนี้ แล้วท่านเคยให้ความเชื่อมั่นเราแบบนี้ 10 กว่าปีที่แล้วท่านรู้จักสมจิตต์ไหน วันนี้สมจิตต์ก็ยังเป็นแบบนี้ เพราะงั้นท่านให้สัมภาษณ์เถอะ อย่าไปถ้ามีเราอยู่ในวงแล้วจะไม่ให้สัมภาษณ์ เพราะไม่ได้ส่งผลแค่เราคนเดียวมันรวมถึงสื่ออื่นที่ได้ผลกระทบไปด้วย”
“ตลอด 30 ปีในการทำงานมา พี่ไม่เคยผิดจรรยาวิชาชีพตัวเอง เป็นคนที่ทำงานเต็มที่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะกดดันหรือข่มขู่คุกคามขนาดไหน”
ถึงจะเริ่มมาจากเงินเดือน 5000 แต่เธอก็ยังอยากจะให้ยกระดับเงินเดือนสื่อเพิ่มขึ้น เพราะเธอมองว่าถ้าสื่อมีรายได้น้อย ก็ต้องไปแสวงหารายได้จากที่อื่น ทำให้สื่อไม่มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันถ้ายกระดับฐานเงินเดือนของสื่อได้ สื่อก็ต้องยกระดับตัวเองด้วย เพราะในตอนนี้ก็มีการถกเถียงกันมาตลอดว่าควรมีกฎหมายมาควบคุมสื่อหรือไม่ บางคนก็บอกว่าถ้ามีกฎหมายมาคุมสื่อเมื่อไหร่ แสดงว่ารัฐจะแทรกแซงได้ทันที
“แต่ถ้าถามว่าทุกวันนี้เราคุมตัวเองได้ดีหรือยัง พี่ว่าก็ยังนะ”
ในปัจจุบันที่คนเริ่มเสพข่าวจากสื่ออื่นมากกว่างานที่มาจากนักข่าว สื่อหลักต่างๆเริ่มใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น เนื้อหาและวิธีการเสพข่าวของคนก็เปลี่ยนไปด้วย ในขณะที่สมัยก่อน คนจะดูว่าใครเป็นคนพูด แต่ทุกวันนี้คนสนใจแค่พูดในเรื่องที่เราอยากรู้หรือเปล่า
“นักข่าวไม่มีความเป็นกลาง แต่ต้องมีความเป็นธรรมที่จะต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนต่อสังคม อะไรที่เห็นว่าผิด สื่อต้องเป็นคนชี้ให้ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เพราะในฐานะสื่อเราจะไปหวังให้ประชาชนรู้เองไม่ได้ว่าอะไรถูกหรือผิด”
ในฐานะสื่อก็มีการปรับตัวเหมือนกัน เพราะสื่อเองก็ยังเป็นเรื่องของธุรกิจ เธอเล่าว่า ในบางครั้งที่งานของลูกค้าเข้ามา เราก็ต้องแยกให้ออก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คอนเทนต์ไหลไปตามลูกค้า สื่อก็จะไม่มีความน่าเชื่อถืออีกต่อไป และจะคงความเป็นสื่อไม่ได้ ลูกค้าที่เข้ามาก็ต้องการสื่อที่น่าเชื่อถือ ในขณะเดียวกันมันก็อาจมีบางมุมที่ไม่ได้ถึงขั้นปกป้องจนผิดข้อเท็จจริง มันก็คือการพิจรณาถึงความเหมาะสมและความพอดี
“สื่อยังคงต้องเป็นสื่อ ธุรกิจยังคงต้องมี เพราะถ้าไม่ธุจกิจสื่อก็อยู่ไม่รอด แต่ก็ต้องหาสมดุลให้เจอ”
ทุกวันนี้ที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ สื่อหลักก็ควรจะมีสวัสดิการที่ดี มีเงินเดือนที่เหมาะสมให้กับพนักงาน ถึงการเสพสื่อของคนจะเปลี่ยนไป สื่ออย่างอย่างเราก็ต้องปรับไปในทิศทางที่ดีขึ้นเพื่อให้หลักวิชาชีพของความเป็นสื่อยังอยู่
เธอบอกว่า อีก 5 ปีก็อายุ 60 แล้ว แต่ก็ไม่เคยนึกเสียดายแล้วก็ไม่เคยนึกถึงอาชีพอื่นเลยนอกจากทำงานสื่อมวลชนอย่างเดียว พออายุ 55 ปี มันก็มีหลายอย่างให้ตัดสินใจ บริษัทก็เคยยื่นข้อเสนอให้ Early Retire แต่ก็สำหรับตัวเธอเองก็มีความคิดที่อยากจะเกษียณ แต่ก็ยังอยากทำงานในวงการสื่อต่อ
“ยิ่งบางทีเราอยู่ในที่ที่ใหญ่มากๆความฝันของเราจะเล็กลง แต่พอเรามีเวลาได้ทบทวน บางทีที่เล็กๆมันทำให้ฝันเราใหญ่ขึ้น เพราะมันมีความฝันของคนหลายๆคนมารวมกัน”
พอได้มีโอกาสมาทำงานในรูปแบบออนไลน์ก็ให้ความรู้สึกเหมือนตอนได้เริ่มทำงานใหม่ๆ มีไฟในการลุกขึ้นมาทำงานทุกเช้า เพราะงานในรูปแบบออนไลน์ไม่ใช่สิ่งที่เธอเคยทำมาตลอด
“มันทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นภาชนะที่ต้องรองน้ำไปเรื่อยๆ เติมเต็มอยู่เรื่อยๆ เลยทำให้รู้สึกว่างานเรามันไม่เคยน่าเบื่อเลยเพราะมันมีความเปลี่ยนแปลงในแต่ละวันให้เราได้คิดอยู่ตลอด”
“สำหรับพี่อายุ 55 ปี กลายเป็นว่าพี่กำลังจะเริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่บั้นปลายในการทำงาน เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานที่ทำให้เรามีไฟอีกครั้งหนึ่ง มันยังมีอะไรให้เราคิด ให้เราทำอีกหลายอย่าง และยังมีอีกหลายอย่าง ที่เราไม่ได้ทบบทวนว่าที่ผ่านมาตลอดหลาย10ปี เราทิ้งอะไรไปบ้าง”
พอพูดถึงสังคมของผู้สูงอายุ เธอยังมองว่าเราอาจจะต้องวางแผนและเตรียมพร้อม เพราะเราโตขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งถ้าเราต้องเจอกับอะไรก็ควรจะต้องมีแผนรับมือกับชีวิตตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันรัฐที่มีหน้าที่ดูแลประชาชน สำหรับตัวเธอแล้วเธอบอกว่า ยังไม่เห็นการทำอะไรอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะเป็นการแจกเงินเบี้ยคนชรา แต่การทำให้มีความมั่นคงและยั่งยืนยังมองไม่เห็น
“ก็คิดว่ามันเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลที่ไม่มาใครจะเข้ามาทำก็ตามที่จะเข้ามาทำในเรื่องนี้”
หลายคนอาจจะมองว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ แต่การเมืองเป็นเรื่องของบ้านเมือง เราเบื่อไม่ได้ เมื่อไหร่ที่เราเบื่อ ได้คนไม่ดีมาก็โทษใครไม่ได้ เพราะไม่เคยเป็นคนที่มีส่วนร่วมในนั้นเลย ถ้าเราบอกว่าอยากให้นักการเมือรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ตัวเราเองก็มีหน้าที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองละประเทศชาติเหมือนันในการออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
สำหรับเธอคุณค่าในความนักข่าวเป็นคือการทำงานให้กับสังคม และมองว่าคุณค่าในชีวิตของเธอคือการทำงาน เพราะการทำงานทำให้เธอเห็นคุณค่าในตัวเองและคนอื่นก็เห็นคุณค่าของเธอเช่นกัน เธอยังบอกอีกว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตของเธอคือการที่ได้ดูแลแม่ ดูแลหมาแมว ไม่เดือดร้อนใคร เพราะตอนนี้ก็ไม่ได้มีความต้องการในชีวิต แค่ได้ทำในสิ่งที่รักในทุกวันก็พอ
“การเป็นนักข่าว ทำให้ชีวิตพี่มีคุณค่า พี่มีจรรยาบรรณวิชาชีพและมีคุณค่าพอที่จะเป็นนักข่าวต่อไป”
รับชมเพิ่มเติม