HENRYs คือคำนิยามของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้สูง อย่างน้อยคือต้องสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ย 2-10 เท่า แต่ทำไมกลุ่ม HENRYs นี้ถึงยังไม่รวยเสียที
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมแต่ก่อนพ่อแม่สามารถมีเงินเก็บส่งลูกๆ เรียนจนจบสูงๆ ได้ แม้รายได้ไม่เยอะมาก
ปัจจุบันนี้เรารายได้เยอะกว่าพ่อแม่ แต่กลับไม่มีเงินเก็บ ?
หากจะพูดถึงเรื่องนี้คงไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่หมายถึงทั้งโลก ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากโลกในยุคโลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจระบบทุนนิยม ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทั้งหลายทั้งมวลนี้ เราอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องซื้อของใช้ เสื้อผ้า หรือสิ่งอื่นใด คือ "ของมันต้องมี!"
จากผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ปี 2561 พบว่า มีเพียง 1 ใน 5 ของคนไทยเท่านั้นที่เห็นความสำคัญของ "การออม" และทำตามแผนการออมเพื่อวัยเกษียณของตัวเองได้จริง
แต่อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับทั้งโลก เพราะหากพูดถึงแค่ในประเทศไทย คงมีหลายคนแย้งว่า แค่อยู่ให้รอดถึงสิ้นเดือนก็ลำบากแล้ว ซึ่งยังไม่นับรวมวิกฤติโควิด-19 ที่เข้ามาซ้ำเติมใครหลายคนในช่วง 2 ปีที่ผ่านนี้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
แต่วันนี้จะมาพูดถึงกลุ่มที่มีรายได้สูง แต่กลับไม่มีเงินเก็บ จากการใช้เงินอย่างน่าเป็นกังวล ซึ่งเรียกคนกลุ่มนี้ว่า HENRYs ที่ย่อมาจากคำว่า High Earning, Not Rich Yet
"ชอว์น ทัลลี" (Shawn Tully) นักเขียนแห่งนิตยสาร Fortune ได้บัญญัติคำว่า HENRYs เอาไว้เมื่อปี 2003 เป็นคำนิยามของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รวยต่อเมื่อทำงาน แต่เมื่อหยุดทำงานจะมีปัญหาทางการเงินทันที
โดยได้ให้ลักษณะเด่นของ HENRYs เอาไว้ว่า เป็นคนรุ่นใหม่ยุค "Millennials" คืออายุ 18-34 ปี มีรายได้ตั้งแต่ 250,000- 500,000 เหรียญต่อปี (8.39 - 16.79 ล้านบาท) หรือรายได้ขั้นต่ำเดือนละ 7 แสนบาท
แต่ทาง The New York Post ระบุว่า รายได้ของกลุ่ม HENRYs คือมากกว่า 100,000 เหรียญต่อปี หรือมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป
โดยที่เงินเดือนเฉลี่ยของชาวสหรัฐฯ ในปี 2019 จะอยู่ที่ราว 51,916.27 เหรียญต่อปี (1.73 ล้านบาท) ตามข้อมูลสำนักงานประกันสังคมสหรัฐฯ (Social Security Administration: SSA) หรือเดือนละ 4,300 เหรียญต่อปี (1.44 แสนบาท) เพราะฉะนั้น ตามที่ The New York Post ระบุ คือประมาณ 2 เท่าของเงินเดือนเฉลี่ย หากแต่เป็นตามที่นิตยสาร Fortune ระบุ จะเกินกว่าเงินเดือนเฉลี่ยถึง 5 เท่า
สํานักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงาน รายได้เฉลี่ยของประชากรไทยทั้งประเทศ ปี 2020 อยู่ที่ 225,846 บาทต่อปี ตกเดือนละ 18,820.5 บาท ทำให้กลุ่ม HENRYs สำหรับประเทศไทย จะต้องมีรายได้มากกว่า 4 หมื่นบาทต่อเดือน หากใช้เกณฑ์ของ The New York Post แต่หากใช้เกณฑ์ของนิตยสาร Fortune จะต้องมีรายได้ประมาณ 1 แสนบาทต่อเดือน
ปัญหาส่วนใหญ่ของ HENRYs คือการแบกภาระค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วด้วยการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อให้เราเสพติด โปรแกรม Subscription ต่าง ๆ การใช้สินค้าแบรนด์เนมที่ฟุ่มเฟือย กินหรู ติดสบาย ออกเที่ยวทุกเดือน พักโรงแรมระดับ 5 ดาว
HENRYs เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการตลาดแบบ Luxury ซึ่งมีความใกล้เคียงที่จะเป็นคนรวยแต่ยังไม่ใช่ และแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ย่อมมีมากกว่าคนรวยจริง ๆ อย่างแน่นอน
"ปรียา มาลานี" (Priya Malani) หุ้นส่วนผู้ก่อตั้ง Stash Wealth บริษัทวางแผนด้านการเงิน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม HENRYs กล่าวว่า "ถ้าจะพูดว่ากลุ่ม HENRYs ไม่คิดจะวางแผนเรื่องการเงินเลยก็ไม่ถูก ควรพูดว่า 'คิดแต่ไม่ทำจะดีกว่า' เพราะพวกเขาไม่ต้องการที่จะตัดขาดกับไลฟ์สไตล์อันหรูหราออกไปจากชีวิต"
ซึ่งสามารถเช็คตัวเองได้ง่าย ๆ ว่า เรากำลังมีพฤติกรรมแบบ HENRYs หรือเปล่า ด้วย 5 ข้อหลัก ๆ