svasdssvasds

แจ้งเกิด Blinking Girls ผลงานศิลปะ NFT สไตล์พิกเซล ในแบบของ อุกฤษฎ์ มาลัย

แจ้งเกิด Blinking Girls ผลงานศิลปะ NFT สไตล์พิกเซล ในแบบของ อุกฤษฎ์ มาลัย

Metaverse มีส่วนกระตุ้นให้กระแส NFT แรงไม่หยุด มาดูคนไทยที่สร้างผลงานศิลปะดิจิทัล NFT ได้ไม่นานและขายผลงานออก พร้อมสรุปสิ่งที่ต้องรู้จาก อุกฤษฎ์ มาลัย คนทำหนังที่สร้าง Blinking Girls NFT เด็กหญิงลุคคาวาอี้ในสไตล์ Pixel Art ที่ผู้ซื้อนิยมใช้เป็น Profile Picture

อุกฤษฎ์ มาลัย คนทำหนัง สร้างแอนิเมชัน นักเขียนบท ล่าม และนักแปล ที่ทดลองสร้างสรรค์งานศิลปะดิจิทัล NFT (Non-fungible Tokens) จากคำชักชวนของรุ่นพี่ แม้ไม่ได้มีความถนัดด้านการสเก็ตช์ภาพ แต่ผลงาน NFT ก็มีคนซื้อไปหลายภาพแล้ว และมันกลับมาเติมความสุขให้ชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง

อุกฤษฎ์ มาลัย Pixel Artist และ Creator of Blinking Girls

อยากให้เล่าถึง NFT คอลเล็กชันแรกที่ขายได้

อุกฤษฎ์ : คอลเล็กชันแรกที่ขายอยู่บน opensea.io เป็นเชน อีเธอเรียม (Ethereum) ซึ่งเป็นเชนที่มี ค่าแก๊ส (Gas Fee) แพงมากๆ แต่น่าจะเป็นเชนที่หลายคนเริ่มต้น คือทำ NFT รูปแมวกวักชื่อ พิกเซลเนโกะ (Pixel Neko) ซึ่งขายไปช่วงปลายปีที่แล้ว

Pixel Neko

รอนานไหมกว่าจะมีคนซื้อ?

อุกฤษฎ์ : ตอนแรกก็ไม่มีคนซื้อ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ประมาณเดือนกว่าๆ ก็มีคนมาซื้อ เป็นชาวต่างชาติเจ้าของ เนียนแคต (NyanCat) นักวาดรูปคนดังที่สะสมภาพเกี่ยวกับแมว ผมดีใจมากเพราะคนซื้อเป็นคนที่เราติดตามผลงานเขามานาน

เข้าไปขายงาน NFT ได้ยังไง ตอนนั้นมีความรู้เรื่องบล็อกเชนหรือยัง?

อุกฤษฎ์ : เรื่อง NFT เข้าไปเล่นเพราะมีคนชวน จริงๆ รู้เรื่องบล็อกเชนมาก่อน แต่เราก็ศึกษาจนรู้เทคโนโลยีเบื้องหลังของมัน รู้ว่าบล็อกเชนทำงานยังไง และอย่างแรกที่ต้องรู้คือ เรื่องความปลอดภัยทางการเงินของพวกเรา ต้องรู้ว่าจัดการ wallet ยังไง สร้างบัญชียังไง และการสร้าง NFT มันมีศัพท์อะไรที่เราต้องรู้บ้าง

เช่น Mint คือการสร้าง NFT ขึ้นมา ไม่อย่างนั้นก็จะคุยกับคนในคอมมูนิตีไม่รู้เรื่อง เพราะส่วนใหญ่คนที่อยู่ในคอมมูนิตีเดียวกันมักเป็นฝรั่ง อีกอย่างคือมีพวก Scam (นักต้มตุ๋น) ค่อนข้างเยอะ เพราะ NFT ไม่มีผู้คุมกฎมาดูแล เราก็ต้องดูแลตัวเอง ดูแลทรัพย์สินของตัวเองเป็น

มาที่ Blinking Girls คอลเล็กชันเด็กหญิงแนว Kawaii

อุกฤษฎ์ : เป็นตัวแรกที่ทำขึ้นมา แล้วตัวนี้ก็เป็นหน้าปกของคอลเล็กชันที่เป็น Profile Pictures ตอนแรกที่ทำ ไม่ได้ทำเพื่อเป็น NFT ทำใช้เพื่อเป็น Fan Art 

โมเดลต้นแบบของคอลเล็กชัน Blinking Girls Blinking Girls #001 ドット絵 Blinking Girls #002 Jasmine

หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องวาดเก่ง แค่ใช้เทคโนโลยีเป็นก็สร้างงาน NFT ออกมาขายได้?

อุกฤษฎ์ : ต้องเข้าใจก่อนว่า ศิลปะในวงการ NFT ไม่ใช่ศิลปะแบบ Pure Art มันอยู่ที่ taste หรือรสนิยมของคนซื้อ เขาพอใจที่จะซื้อก็จบ อันนี้ผมว่ามันเป็นข้อดีเพราะว่ามันเปิดโอกาสให้เราสามารถตีความได้กว้างขึ้นว่า ศิลปะคืออะไร เราสามารถทำงานที่หลากหลายขึ้นได้ และมันก็อยู่ที่คนมองเห็นว่ามันสวย เขาซื้อ - ก็จบ

แต่ถ้าเป็นศิลปะแบบดั้งเดิมหรือแบบคลาสสิก มันจะมีระบบ Curator อย่างที่พิพิธภัณฑ์ต่างๆ พิจารณาว่า แบบไหนควรที่จะได้โชว์ แต่ตอนนี้มี NFT เราสามารถจัดการงานของเราเองได้เลย แล้วไปวัดกันบนตลาดว่า มีค่าพอที่จะมีคนซื้อหรือเปล่า

Blinking Girls บนบิลบอร์ดหน้า CentralWorld

เห็น Blinking Girls ได้ไปโชว์บนบิลบอร์ดที่พาร์ค พารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ ไอคอนสยาม

อุกฤษฎ์ : ก็มีจัดแสดงที่แกลอรี่ ล่าสุด Plan B มาคุยงานด้วย เขาคุยกับครีเอเตอร์หลายคน และทำให้ผมได้โชว์ผลงานบนบิลบอร์ดใหญ่ๆ (ยิ้ม) 

ถามถึง NFT ที่กำลังอินเทรนด์

อุกฤษฎ์ : ที่มาแรงๆ เลยก็คืองาน Profile Pictures เพราะว่ามันใช้งานง่าย คนซื้อเอาไปใช้เป็นรูป Profile ได้ แล้วก็ถ้าคนซื้อใช้ Profile Pictures ที่มาจากคอลเล็กชันนี้เหมือนกัน เราก็จะรู้สึกเชื่อมต่อกัน เป็นพวกเดียวกัน 

แจ้งเกิด Blinking Girls ผลงานศิลปะ NFT สไตล์พิกเซล ในแบบของ อุกฤษฎ์ มาลัย ตัวอย่างงาน NFT บนแพลตฟอร์ม opensea ที่มีนักสะสมหรือนักลงทุนซื้อไปโดยต้องจ่ายเป็นเงินดิจิทัล (ETH)

เห็นว่า ค่าธรรมเนียมการซื้อ หรือที่เรียกว่า ค่าแก๊ส (Gas Fee) บางช่วงก็แพง บางช่วงก็ถูก นั่นเป็นเพราะ?

อุกฤษฎ์ : ค่าแก๊ส ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของการทำธุรกรรมในเวลานั้น อย่างเชน Ethereum ที่มันแพงเพราะนอกจากมันใช้ใน Opensea แล้วก็ยังใช้ในส่วนอื่นๆ เช่น Uniswap พวก DeFi (Decentralized Finance) ระบบการเงินที่ทำงานแบบไร้ตัวกลางก็ใช้ร่วมกัน เมื่อคนใช้งานเยอะขึ้น ค่าแก๊สก็จะแพง ก็ต้องดูว่าช่วงไหนมีธุรกรรมน้อยลง ค่าแก๊สก็จะถูกลง ราคาแก๊สก็จะดีเอง

แจ้งเกิด Blinking Girls ผลงานศิลปะ NFT สไตล์พิกเซล ในแบบของ อุกฤษฎ์ มาลัย

การตั้งราคาขายกับค่าแก๊ส สัมพันธ์กันไหม?

อุกฤษฎ์ : ไม่สามารถบอกได้ขนาดนั้นครับ เพราะต้องเข้าใจว่า ในโลก NFT อะไรก็เป็นไปได้ อยู่ๆ ลงงานอะไรมาที่ไม่ได้เป็นธีมอะไรเลย แต่ขายได้ก็มีเหมือนกัน เพราะตลาดมันเปิดกว้าง แล้วก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า ตลาดเดียวกันจะขายงานได้เหมือนกันอยู่ดี

นอกเหนือจาก Opensea ยังขายผลงาน NFT บนแพลตฟอร์มไหนอีก?

อุกฤษฎ์ : ก็มีเชน Solana ที่ใช้เหรียญ SOL แล้วก็ Side Chain ของ Opensea นั่นก็คือ Polygon แต่เชนนี้ก็จะมีข้อครหาเยอะ เพราะมันอิสระมาก มีคนขโมยงานไปลงเชนนี้เยอะ คนที่ซื้อก็ต้องระวังด้วยว่า งานนั้นก๊อปมาหรือเปล่า เพราะถ้าซื้อของก๊อปไปแล้วโดน Report งานนั้นก็อาจจะหายไปได้เลย แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นมากเพราะคอมมูนิตีใน Discord ของเชนนี้ก็ช่วยกันตรวจสอบ

คอมมูนิตี NFT ในไทย ส่วนใหญ่ก็ใช้แอป Discord พูดคุยและตรวจสอบด้วยเหมือนกัน?

อุกฤษฎ์ : ก็จะมีคอมมูนิตีในทวิตเตอร์มากกว่า ดูได้จากแฮชแท็ก #NFTThailand ใน Discord ก็มี อย่างของเราจะแจ้งเฉพาะคอมมูนิตีเราว่า ถ้าอยากติดตามงานของเราให้มาที่ Discord นี้นะ 

Discord Take#0051 | Creator of Blinking Girls NFT

ถ้าบทสัมภาษณ์นี้ทำให้ผู้อ่านอยากสร้างงาน NFT บ้าง สรุปให้ฟังหน่อยว่า ต้องรู้หรือต้องมีทักษะกี่ด้าน?

อุกฤษฎ์ : การจะทำ NFT มันมี 4 เสาหลักที่ฝรั่งระบุไว้ครับ ข้อแรกคือ ต้องมีมุมมองด้าน Art คุณชอบ Art แบบไหน ไม่มีผิด ไม่มีถูก คนซื้อเขาก็จะดูออกเองว่า งานนี้ตั้งใจทำหรือทำมาขายเพื่อเอาเงิน ข้อสองคือ ต้องมีคอมมูนิตี คือคนที่ซื้องาน NFC ในคอลเล็กชันเดียวกัน เขาต้องการซื้อคอมมูนิตีด้วย คนที่มาซื้องานชนิดเดียวกันก็อาจจะเป็นคนที่ชอบอะไรเหมือนเรา เราก็อาจจะต้องมีกิจกรรมให้เขามามี interact กัน มีการจัดงานแจกรางวัล หรือชวนไปทำนู่นนี่เป็นคอมมูนิตี 

ข้อสาม คือ ต้องรู้เรื่องคริปโต ข้อสี่คือ ต้องเป็นในเรื่องของ Marketing รู้เรื่องการตั้งราคา รู้เรื่องความ Rare (หายาก) ของงาน และงานของเรามีคาแรกเตอร์เหมาะกับที่ไหน เพราะ NFT มันเป็นตลาดต่างประเทศที่เปิดกว้างมากๆ เราต้องรู้ว่างานแบบไหนที่เขามองหาอยู่ เพื่อที่จะเอามาปรับใช้กับงานของเรา

รู้หรือไม่ - ผลงาน NFT ที่เป็น Profile Pictures ผู้ซื้อหรือนักลงทุนสามารถนำไปใช้เป็นรูป Profile ใน Metaverse เพื่อสะท้อนตัวตน สไตล์ที่ชื่นชอบ หรือประกาศขายต่อก็ทำได้เช่นกัน

แจ้งเกิด Blinking Girls ผลงานศิลปะ NFT สไตล์พิกเซล ในแบบของ อุกฤษฎ์ มาลัย

ฝากทิ้งท้ายถึงโมเมนต์ดีๆ และความสนุกที่ได้ทำ NFT

อุกฤษฎ์ : คือการสร้างคอมมูนิตีนี่แหละครับ เพราะถ้าเราสร้างคอมมูนิตีของคนชอบเรื่องเดียวกันมาอยู่ด้วยกันเยอะๆ มันเป็นบรรยากาศมวลรวมจากคาแรกเตอร์ของศิลปินเอง แล้วเราก็จะสร้างงานออกมาได้เรื่อยๆ คนที่ซื้อไปแล้วก็จะบอกต่อ ชวนเพื่อนเข้ามาในคอมมูนิตีนี้ คอมมูนิตีใหญ่ขึ้นก็จะมองเห็นหนทางแห่งการแบ่งปันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

related