svasdssvasds

ย้อนดูปฎิบัติการสตาร์ทอัพลวงโลก Theranos หลัง Elizabeth Holmes ถูกตัดสินคุก

ย้อนดูปฎิบัติการสตาร์ทอัพลวงโลก Theranos หลัง Elizabeth Holmes ถูกตัดสินคุก

ศาลชั้นต้นแคลิฟอร์เนีย ตัดสินลงโทษ ผู้ก่อตั้ง Theranos สตาร์ทอัพลวงโลก Elizabeth Holmes ที่อ้างว่ามีเทคโนโลยีตรวจหาโรคจากเลือดเพียงหยดเดียว จำคุกเป็นเวลา ราว 11 ปี 3 เดือน แล้วเรื่องนี้มันเป็นมาอย่างไร ?

ย้อนกลับไปปี 2557 ชื่อของ อลิซาเบธ โฮล์มส์ (Elizabeth Holmes) ผู้ก่อตั้ง Theranos เริ่มเป็นที่รู้จักตอนที่ นิตยสาร Forbes จัดอันดับให้เธอ ติดอันดับ 400 คนรวยที่สุดในสหรัฐ ด้วยวัยเพียง 30 ปี พร้อมกับการยกย่องจากนิตยสารชื่อดังอื่น ๆ มากมาย

Theranos อ้างว่า เป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีการตรวจเลือดแบบใหม่ ด้วยการตรวจหาโรคจากเลือดเพียงหยดเดียว ซึ่งถูกแฉออกมาว่า บริษัทยังคิดค้นไม่สำเร็จจนนำไปสู่หายนะ

ทุกเหตุการณ์ต้องมีจุดเริ่มต้น

ย้อนกลับไปถึงที่มาที่ไปของไอเดียนี้ คือ ชีวิตสมัยวัยเด็ก ของ Elizabeth Holmes ใช้ชีวิตอยู่กับคุณลุง ที่มักจะพาเธอไปเล่นครอสเวิร์ด ต่อ Puzzle และพาไปเที่ยวในที่ต่างๆ แต่อยู่มาวันหนึ่งลุงกลับถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ผิวหนังและกำลังลามอย่างรวดเร็วไปที่สมองและทั่วร่างกาย จนในที่สุด ก็เสียชีวิตลงโดยที่ไม่มีโอกาสได้ดูหลานของตัวเองเติบโต

จากเหตุการณ์นี้ อลิซาเบธ คิดว่า ถ้าเรารู้ว่าตัวเองกำลังจะป่วยก่อนที่อาการของโรคจะแสดงออกมา ลุงของเธอคงไม่จากไป เพราะกว่าจะได้ไปหาหมอ ก็สายเสียแล้ว

อลิซาเบธ จึงตัดสินใจดรอปจากการเรียนชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัย Stanford เพื่อมาตั้งบริษัท Theranos โดยใช้เงินทุนในการก่อตั้งบริษัทจากเงินที่พ่อกับแม่เก็บไว้ให้เป็นทุนการศึกษา

10 ปีต่อมา บริษัท Theranos ก็ได้เงินลงทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจาก Venture Capital ชื่อ "Draper Fisher Jurvetson" และ "Larry Ellison" ประธานบริษัท ออราเคิล เจ้าของผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลชื่อดัง เพื่อวิจัยและพัฒนาวิธีการตรวจเลือดของเธอ

ณ วันที่ 27 พ.ย. 2557 มีรายงานว่า บริษัท Theranos ที่ อลิซาเบธ เป็นผู้ก่อตั้ง มีมูลค่ากว่า 9,000 ล้านดอลลาร์ และด้วยสัดส่วนจำนวนหุ้นที่เธอมี 50% คิดเป็นมูลค่าก็กว่า 4,500 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

อลิซาเบธ โฮล์มส์ เริ่มเป็นที่รู้จัก

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุว่า อลิซาเบธ โฮล์มส์ เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการปรากฏตัวแสดงวิสัยทัศน์บนเวที TEDMED เมื่อปี 2557 ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อคนรุ่นใหม่และนักลงทุนถึงความมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงโลกด้วยนวัตกรรมการเจาะเลือดเพื่อนำไปวิเคราะห์ทางการแพทย์อย่างแม่นยำ เพียง 2-3 หยด ที่ปลายนิ้วเท่านั้น ใช้เวลาเพียง 30 นาทีในการแสดงผลเลือด ด้วยวิธีการดังกล่าวจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเจาะเลือดจากวิธีการเดิมมากถึงร้อยละ 90 และช่วยทำให้ประชากรที่อยู่ห่างไกลหรือยากจนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมากขึ้น

ในช่วงแรก Theranos จ้างที่ปรึกษาที่มีอิทธิพลสูงทางสังคมและนักกฎหมายอันดับต้น ๆ ของประเทศ เพื่อปกป้องและคุ้มครองความลับทางการค้าของบริษัทจากบุคคลภายนอก หรือแม้กระทั่งจากนักลงทุนหรือบริษัทที่สนใจทำงานร่วมกันก็ตาม

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของบริษัท คือการทำสัญญาร่วมกับร้านขายยาชื่อดังอย่าง Walgreens ที่กำลังระส่ำระส่ายน่าเชื่อถือว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ หรือการอ้างความไม่พร้อมในการตรวจสอบครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ความกลัวที่ตัวเองจะพลาดในขบวนรถไฟแห่งนวัตกรรมเปลี่ยนโลก เลยยอมร่วมเดินทางไปกับรถไฟขบวนนี้ และกลายเป็นหายนะในที่สุด

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

จุดเริ่มต้นของการล่มสลายและแฉว่าลวงโลก

หนึ่งในผู้ประสบภัยจากหายนะคราวนั้นอย่าง Tyler Shutlz วิศวกรที่เคยทำงานอยู่ที่ Theranos ที่ไม่อาจทนเห็นการละเลยในธรรมาภิบาลของบริษัท จึงได้เริ่มต้นตรวจสอบข้อมูลภายในองค์กร และติดต่อนักข่าวเพื่อทำการสืบสวนสอบสวน

จนพบว่า Theranos พยายามโฆษณาชวนเชื่อและอวดอ้างเกินจริงในเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ตนเองยังทำไม่สำเร็จ นอกจากจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่ต้องอาศัยการทดลองและทดสอบอย่างเข้มงวดจากหลายหน่วยงาน จนมั่นใจว่านวัตกรรมเหล่านั้นสามารถทำได้ตรงตามความเป็นจริงอย่างที่กล่าวอ้าง ยังสร้างความกังวลใจต่อการลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพของบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากคำลวงของ CEO เอง

สตาร์ทอัพลวงโลกถูกลงโทษ

ล่าสุด ศาลชั้นต้นแคลิฟอร์เนีย ตัดสินลงโทษ Elizabeth Holmes ผู้ก่อตั้ง Theranos สตาร์ทอัพลวงโลก ที่อ้างว่ามีเทคโนโลยีตรวจหาโรคจากเลือดเพียงหยดเดียว จำคุกเป็นเวลา ราว 11 ปี 3 เดือน (135 เดือน)

โดยก่อนอ่านคำตัดสิน อลิซาเบธ ได้กล่าวกับศาลพร้อมน้ำตา ขอโทษนักลงทุนและคนไข้ที่เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ของเธอใช้ไม่ได้จริง และเธอรู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่เธอทำเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า เธอเป็นผู้ประกอบการที่ฉลาก หลักแหลม การทำธุรกิจล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา แต่การทำธุรกิจด้วยการหลอกลวงไม่ใช้เรื่องที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตามคาดว่าทนายของเธอจะยื่นอุทธรณ์ เพราะมองว่าโทษไม่ควรเกิน 18 เดือน

สำหรับการตัดสินครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเพราะวงการเทคโนโลยีที่กำลังคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และเปรียบเสมือนการขายฝันถึงโลกอนาคต จะทำให้นักลงทุนระมัดระวังและรอบคอบมากขึ้น

สำหรับใครที่อยากดูเรื่องราวนี้แบบแซ่บ ๆ สนุก ๆ และตื่นเต้น ผสมการแต่งเติมให้เนื้อเรื่องน่าสนใจ สามารถไปหา The Dropout ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคดีนี้โดยตรงมาดูกันได้

อ้างอิง : กรุงเทพธุรกิจ , NIA

related