svasdssvasds

นักวิจัย มอง ChatGPT น่ากลัวจริงไหม ? ชี้ถ้าปรับตัวก็ไม่อันตรายอย่างที่คิด

นักวิจัย มอง ChatGPT น่ากลัวจริงไหม ? ชี้ถ้าปรับตัวก็ไม่อันตรายอย่างที่คิด

นักวิจัย Nectec มอง ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์ทรงพลังจากบริษัทที่ Elon Musk ก่อตั้ง ดูเหมือนจะอันตราย แต่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดถ้าใช้เป็น

ดร. ปรัชญา บุญขวัญ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัย เทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติและความหมาย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ระบุว่า ChatGPT เป็นระบบ AI ที่เลียนแบบการตอบคำถามของมนุษย์

พัฒนาโดยบริษัท OpenAI ซึ่งใช้แบบจำลองภาษา (language model) ที่เรียนรู้วิธีการใช้ภาษาของมนุษย์จากคลังข้อมูลขนาดมหึมา ซึ่งแบบจำลองภาษานี้เรียกว่า GPT (Google Pretrained Transformer) นับเป็นมิติใหม่ของการนำ AI ไปใช้ประโยชน์ในด้านการประมวลผลภาษามนุษย์ (natural language processing)

หลักการทำงานของแบบจำลองภาษาแบบ GPT

ระบบ AI จะนำคำถามของมนุษย์มาสร้างคำตอบ โดยเริ่มจากพูดคำที่ 1 แล้วจึงนำคำที่ 1 มาเป็นบริบทเพื่อสร้างคำที่ 2 และนำคำที่สร้างไปแล้วมาเป็นบริบทสำหรับสร้างคำถัดไปแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนจบประโยคคำตอบที่สละสลวยและคล้ายคลึงกับภาษาเขียนของมนุษย์

นอกจากนี้เรายังสามารถสอนแบบจำลองภาษาให้สามารถเขียนโปรแกรมตามคำบอกเล่าได้ด้วยวิธีการเดียวกัน โดยระบบ AI จะสังเกต comment ที่มนุษย์เขียนไว้ในโค้ดโปรแกรม กับตัวโค้ดโปรแกรม แล้วเปรียบเทียบว่าคำบอกเล่าอย่างนี้ ควรเขียนเป็นโค้ดโปรแกรมออกมาอย่างไร

ดังนั้นการทำงานของ ChatGPT จึงเสมือนเป็นการอ่านหนังสือหลายแสนเล่มและท่องจำคำตอบเอาไว้ เมื่อได้รับคำถาม ระบบ ChatGPT ก็จะเทียบเคียงคำถามกับหนังสือที่มันจำได้ และสร้างคำตอบออกมานั่นเอง

การเกิดขึ้นของ ChatGPT จะส่งผลอะไรกับสังคมไหม

ดร.ปรัชญา มองว่า ช่วงนี้เราจะเห็นกระแสข่าวที่นำ ChatGPT ไปใช้ในงานเขียนเยอะมาก ตั้งแต่การเขียนอีเมล์ ร่างบทความวิชาการ เขียนข่าว แต่งนิยาย จนถึงเขียนโปรแกรมแทนมนุษย์ หรือแม้แต่เอามาทำการบ้านก็ได้ ปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างแน่นอน

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ผลกระทบระยะสั้นของ ChatGPT

ผลกระทบเชิงสังคมในระยะสั้น คือ มนุษย์จะเริ่มหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีมากกว่าความสามารถของตนเอง จากเดิมที่มนุษย์เรียนรู้และพัฒนาทักษะผ่านการทำการบ้านและการฝึกฝน มนุษย์ก็อาจจะใช้ระบบ AI อย่าง ChatGPT เป็นทางลัดไปหาผลลัพธ์โดยไม่ได้ฝึกฝนและพัฒนาของตนเอง

กระบวนการสำหรับ การเรียนการสอน จึงต้องปรับตัวให้รู้เท่าทันระบบ AI อย่าง ChatGPT ด้วย เพื่อให้มนุษย์ยังสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะของตนเอง โดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป เช่น เปลี่ยนจากการบ้านเขียนเรียงความธรรมดา ให้เป็นการเขียนเชิงวิพากษ์เปรียบเทียบและใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวนักเรียนเอง

นักวิจัย มอง ChatGPT น่ากลัวจริงไหม ? ชี้ถ้าปรับตัวก็ไม่อันตรายอย่างที่คิด

ผลกระทบระยะยาวของ ChatGPT

ผลกระทบเชิงสังคมในระยะยาว คือ การใช้ผลลัพธ์จาก ChatGPT อย่างไม่มีวิจารณญาน เมื่อระบบ AI อย่าง ChatGPT สามารถสร้างผลลัพธ์ที่สละสลวยและดูน่าเชื่อถือ มนุษย์จึงมีแนวโน้มที่จะนำผลลัพธ์ไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลสนับสนุนก่อนการใช้งาน

ปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคมได้ หากว่ามนุษย์จงใจถามระบบ ChatGPT ด้วยจุดประสงค์ร้าย เช่น เหยียดผิว ศาสนา ชาติพันธุ์ สร้างความเกลียดชังกับกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม หรือจงใจบิดเบือนข่าวสารหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ให้มันเรียนรู้ผิด ๆ ระบบ ChatGPT ก็จะสร้างผลลัพธ์ตามคำถามนั้นให้คล้ายคลึงกับบทความวิชาการที่น่าเชื่อถือออกมา เมื่อนำมาเผยแพร่ในวงกว้าง มนุษย์ที่ได้อ่านอย่างไม่มีวิจารณญานก็จะเชื่อในข้อเขียนนั้นไปเลย

คลิปข่าวที่เกี่ยวข้อง

นอกจาก Fact Check คน แล้วต้องเช็ก AI ด้วย

ดร.ปรัชญา มองว่า ในอนาคตภายหน้าเราจึงจำเป็นต้องสร้างระบบ AI ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact checking) กับข้อเขียนทุกประเภท เพื่อช่วยให้เราอ่านข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญานได้ ซึ่งนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศก็กำลังพัฒนาระบบ AI สำหรับตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้อยู่เช่นกัน

อนึ่ง ทีมวิจัยที่สร้าง ChatGPT ขึ้นมา ก็พัฒนาระบบ AI สำหรับตรวจจับผลลัพธ์จาก ChatGPT ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ระบบนี้มีชื่อว่า GPT Detector ซึ่งทำหน้าตรวจจับว่า ข้อเขียนนี้มีแนวโน้มว่าจะเป็นข้อเขียน “จริง” หรือเป็นข้อเขียน “หลอก” ที่สร้างขึ้นด้วย AI หากระบบนี้เตือนว่าข้อเขียนนี้อาจสร้างขึ้นด้วย AI มนุษย์ก็จะสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ทันที

ดร. ปรัชญา บุญขวัญ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัย เทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติและความหมาย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

เราควรตื่นตระหนก ตื่นกลัวกับความสามารถของมันไหม

ผู้คนทั่วไปอาจจะตื่นตระหนกกับความสามารถของระบบ AI อย่าง ChatGPT แต่ผมแนะนำว่า เราไม่ควรตระหนก แต่ควรตระหนักถึงข้อจำกัดของความสามารถของมันมากกว่า เพราะระบบ ChatGPT เป็นการท่องจำคำตอบจากสิ่งที่ระบบ AI ได้อ่านมา

"ถึงแม้ ChatGPT จะสามารถสร้างข้อเขียนที่สละสลวยใกล้เคียงกับภาษาเขียนของมนุษย์ก็จริง แต่ข้อเขียนที่ได้ก็อาจจะไม่ได้สอดคล้องกับความจริง ทฤษฎี หรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ก็ได้"

เมื่อนำ ChatGPT มาเขียนโปรแกรมตามคำบอกเล่า โค้ดโปรแกรมผลลัพธ์ก็อาจจะทำงานได้ไม่ตรงกับความต้องการ เพราะคำบอกเล่าอาจมีรายละเอียดไม่เพียงพอหรือกำกวมและตีความได้หลายแบบก็ได้

สำหรับผู้ส่งสารและผู้เรียน เราสามารถใช้ ChatGPT เป็นเครื่องมือสำหรับการค้นหาข้อมูลได้ แทนที่เราจะให้มันเขียนบทความแทนเรา เราอาจจะถามคำถามเฉพาะประเด็นที่เราสนใจ แล้วนำผลลัพธ์ไปค้นคว้าหาบทความที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ การทำแบบนี้จะช่วยย่นเวลาในการค้นหาข้อมูลและยังพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ได้ในเวลาเดียวกัน

สำหรับผู้รับสารและผู้สอน เราต้องปรับตัวให้อ่านอย่างมีวิจารณญานและใช้ ChatGPT เป็นเครื่องมือสำหรับการค้นหาข้อมูล โดยถามคำถามจากสิ่งที่อ่านในทั้งสองมุมมอง เช่น ถามว่า “ทำไมจึงเห็นด้วยกับประเด็นนี้” และ “ทำไมจึงไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้” เพื่อให้ ChatGPT แสดงเหตุผลของมุมมองทั้งสองมุมออกมา แล้วเราจึงหาข้อมูลเสริมตามคำตอบที่ได้ นอกจากนี้เรายังสามารถใช้ระบบ GPT Detector เป็นเครื่องมือขั้นต้นสำหรับการคัดกรองข้อเขียนที่สร้างจากระบบ AI ได้อีกด้วย

อนาคตเราจะตกงานเพราะ AI ไหม

ดร.ปรัชญา มองว่า เรื่องนี้เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน คือในด้านหนึ่ง มนุษย์ที่ไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีก็มีแนวโน้มที่จะต้องเปลี่ยนงานได้ในอนาคต เพราะเทคโนโลยีสามารถเข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่ที่ขาดหายไปในองคาพยพของสังคมได้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่อีกด้านหนึ่ง มนุษย์ที่ปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีได้ กลับได้รับค่าตอบแทนมากขึ้นจากงานที่ทำอยู่ เพราะสามารถสร้างผลผลิตได้มากขึ้น ในขณะที่ใช้เวลาและแรงงานน้อยลง

ด้วยเหตุนี้ บางอาชีพในอนาคตก็อาจจะต้องเปลี่ยนสภาพไปตามเทคโนโลยี เช่น เดิมเรามีอาชีพบรรณารักษ์ทำหน้าที่ดูแลหนังสือในห้องสมุด ปัจจุบันอาชีพบรรณารักษ์ก็ยังคงมีอยู่แต่กลายเป็นนักสารสนเทศศาสตร์ เพราะนักสารสนเทศศาสตร์รู้หลักการในการเข้าถึงข้อมูลผ่านคำสำคัญ (keywords) และสามารถจัดหมวดหมู่ข้อมูลสารสนเทศจำนวนมากได้ด้วยเทคโนโลยี search engine นั่นเอง

ระบบ AI ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีได้ เราก็สามารถใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้เช่นกัน

related