svasdssvasds

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไกด์วิชาสร้างสุขก่อนสูงวัย ใช้เทคหารายได้หลังเกษียณ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไกด์วิชาสร้างสุขก่อนสูงวัย ใช้เทคหารายได้หลังเกษียณ

สรุปคำแนะนำจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กล่าวบนเวที "Health & Wealth Forum : สร้างสุขก่อนสูงวัย อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี" ในหัวข้อ “คนไทย” ทำอย่างไร ให้อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี ซึ่งจัดโดย สื่อเครือเนชั่น

อนาคตของ กทม. อาจไม่ต่างจาก 'เมืองคนชรา' ชวนอ่านมุมมองด้านการเตรียมแผนรองรับผู้สูงอายุของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากเวทีเสวนาในหัวข้อ “คนไทย” ทำอย่างไร ให้อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี ซึ่งจัดโดยสื่อในเครือเนชั่น

ชัชชาติกล่าวถึงบางเขตใน กทม. เช่น สัมพันธวงศ์, พระนคร, ป้อมปราบศัตรูพ่าย ว่าสัดส่วนประชากรเริ่มน่าเป็นห่วง โดยสิ่งที่น่ากังวลตามมา คือ ผู้สูงวัยเหล่านี้มีแนวโน้มถูกบุตรหลานทิ้งให้อยู่ลำพังเยอะขึ้น เนื่องจากลูกหลานมีแผนย้ายออกนอกเมือง หรือต้องการไปแสวงหาคุณภาพที่ดีในเมืองอื่นๆ กับไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้น

สิ่งที่จะเป็นปัญหาตามมา คือ จำนวนผู้สูงวัยเยอะขึ้น แต่สัดส่วนวัยกลางคน หรือ วัยแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เสียภาษีหลัก ลดน้อยถอยลง และปัญหานี้ไม่ใช่แค่ใน กทม. แต่กำลังเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกเมืองทั่วโลก

คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรถึงจะดึงคนเก่ง คนรุ่นใหม่ ให้อยากอยู่ในเมืองหลวงนี้ต่อไป จากทางเลือกที่มีมากขึ้นและคนรุ่นใหม่มีแผนไปอยู่ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนเหล่านี้เก่ง เป็นคนที่จะขับเคลื่อนสังคม เป็นฐานภาษีที่สำคัญสำหรับการนำมาใช้ดูแลผู้สูงอายุ 

ปัจจุบัน กทม. กลายเป็นสังคมของ 'ผู้สูงอายุ' อย่างเต็มรูปแบบแล้ว หลังจากสัดส่วนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1.2 ล้านคน หรือมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด 50 เขตพื้นที่ (5.5 ล้านคน)

แล้วจะทำอย่างไรให้สูงวัยแต่ยังมีสุขภาพดี การเงินดี ผู้ว่าฯ กทม.ให้ยึดที่คำว่า Wilpower ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อตัวเองและเพื่อลดอัตราการติดเตียง การออมเพื่อเตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ 

"Key Factor ที่จะเปลี่ยนสุขภาพได้คือ นิสัย ซึ่งต้องมี Willpower คือ พลังใจ มากพอที่จะทำให้เรารอผลรางวัลในระยะยาวได้ เช่น ออกไปวิ่ง เพื่อสุขภาพที่ดี อดออม เพื่อมีเงินใช้ในวัยเกษียณ"

....................................................................................

อ่านเพิ่มเติม

....................................................................................

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไกด์วิชาสร้างสุขก่อนสูงวัย ใช้เทคหารายได้หลังเกษียณ

ผู้ว่าฯ กทม. ยังเปรียบเทียบระบบสาธารณสุขใน กทม.เป็นระบบเส้นเลือดว่า โรงพยาบาลขนาดใหญ่ราว 11 แห่ง คือ เส้นเลือดใหญ่ โรงพยาบาลขนาดเล็ก ศูนย์สุขภาพชุมชน หน่วยบริการเคลื่อนที่ตามชุมชน คือ เส้นเลือดฝอย ซึ่งส่วนที่ 2 ยังไม่แข็งแรง และเปราะบาง ผู้ต้องการรับบริการจึงไปกระจุกอยู่ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ซึ่งมีไม่กี่แห่ง และไม่เพียงพอ จึงเกิดภาพคนสูงวัยมารอพบแพทย์ที่ รพ.จุฬาฯ และต้องไปรับคิวตั้งแต่ตี 4 ทั้งๆ ที่ เส้นเลือดฝอยอย่าง รพ.ชุมชน น่าจะมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้สูงอายุได้ดีและใกล้ชิดกว่า และยังอธิบายเพิ่มว่า

"ระบบสาธารณสุขแบ่ง 3 ชั้น ตติยภูมิ, ทุติยภูมิ และปฐมภูมิ (เส้นเลือดฝอย) ซึ่งสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการ คือ การบริการขั้นปฐมภูมิ จากหน่วยบริการชุมชน แต่การบริการดังกล่าว อยู่ในจุดอ่อนแอ ทำให้ไม่มีใครเชื่อใจ พอเปราะบางก็ไปกระจุกที่ รพ.ใหญ่ๆ ในเครือรัฐและมหาวิทยาลัย" 

อย่างไรก็ดี กทม. มีโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงวัยมาแต่เดิม เช่น รพ.บางขุนเทียน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท จากที่ดินบริจาคหลักร้อยไร่ แต่ประสบปัญหาด้านการเดินทาง เนื่องจากอยู่ชานเมือง ทาง กทม.จึงอยู่ระหว่างวางแผนพัฒนาระบบขนส่งในระยะต่อไป 

"นโยบาย กทม. คือ ทำเส้นเลือดฝอยให้แข็งแรง เรามีบทเรียน จากกรณีศูนย์สาธารณสุขคลองเตย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เพียง 48 คน ต้องดูแลคนนับแสนคน เมื่อโควิด-19 มา เส้นเลือดฝอยนี้แตก ด่านหน้าเอาไม่อยู่ ท้ายที่สุดพังทั้งระบบ"

ทั้งนี้ แนวคิดหลักในการขับเคลื่อนสังคมสำหรับผู้สูงวัยจะยังเกิดขึ้นในแง่ต่างๆ ตามนโยบาย 216 แผนปฏิบัติการ 28 กลุ่มแผน เช่น 

  • ชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ (Active Aging)
  • คลังปัญญาผู้สูงอายุ
  • พิจารณาเพิ่มศูนย์สร้างสุขทุกวัย เพิ่มกิจกรรมให้คนกรุงเทพฯ
  • ยกระดับศูนย์กีฬา ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ศูนย์เยาวชนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
  • เพิ่มเวลา เพิ่มสิ่งอํานวยความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงสวนและพื่นที่สาธารณะ
  • ส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดี ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ
  • หมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine
  • ท่าเรือเข้าสะดวก ออกสบาย เชื่อมต่อปลอดภัย
  • สร้างจุดเชื่อมต่อการเดินทาง (hub) เพื่อการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สะดวกสบาย
  • เพิ่มรถเมล์สายหลักและรอง ราคาถูก ราคาเดียว
  • สร้างลิฟต์รถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน ฝั่งถนนให้ครบทุกสถานี

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไกด์วิชาสร้างสุขก่อนสูงวัย ใช้เทคหารายได้หลังเกษียณ

"นโยบายเราคือ ทำให้ระบบเส้นเลือดฝอยให้ใหญ่และแข็งแรงขึ้น โรงพยาบาลใน กทม. มี 11 แห่ง ขณะที่มีศูนย์สาธารณะ 69 แห่ง นี่เป็นโจทย์เพื่อให้ กทม. เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุกว่า 20% ของเมือง"

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงการใช้เทคโนโลยี มีเทคอะไรที่น่าทำเพื่อผู้สูงวัยบ้าง ผู้ว่าฯ กทม.ตอบว่า 

"ถ้าเป็นวัยเกษียณที่มีความรู้ เช่น รู้เรื่องตัดเย็บ ทำขนม อาจใช้ แพลตฟอร์มแมชชิงเชื่อม Demand & Supply ทำให้เกิดการจ้างงาน แต่ต้องหาว่าในชุมชนนั้น มีความเชี่ยวชาญอะไร

"บางชุมชนมีคอนโดอยู่รอบๆ ที่ต้องการบริการเหล่านี้ ถ้ามีแพลตฟอร์มที่บอกได้ว่า ชุมชนนี้มีอะไร คอนโดนี้มีความต้องการอะไร แล้วผู้สูงวัยคือผู้ที่อยู่บริเวณนั้น  มีความปลอดภัยเพราะเขามีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง แต่ก็ต้องตรวจสอบและยืนยันด้วย"

หรือจะเป็น แพลตฟอร์มด้านการเคลื่อนที่เคลื่อนตัว (Mobility) เช่น การเรียกรถ, การขอความช่วยเหลือ แต่ก็ต้องเริ่มจากการไปดูชีวิตของผู้สูงวัยก่อนว่าต้องการอะไร โดยอาจจะแยกตามพื้นที่ (Area Base) แยกตามอาชีพ หรืออื่นๆ

related