SHORT CUT
"Gen Z แห่ลาออกจากเส้นทางออฟฟิศ หันจับงานช่างด้วยความหวังเรื่องรายได้และอิสรภาพ แต่ข้อมูลล่าสุดชี้—อาชีพเหล่านี้เสี่ยงตกงาน-ไม่มั่นคงอย่างที่คิด"
เมื่อเอไอกำลังเขมือบงานออฟฟิศ เด็กรุ่นใหม่อย่าง Gen Z ก็เริ่มหันหลังให้กับปริญญาแพง ๆ และฝันโต ๆ ในตึกกระจก หันมาจับค้อน จับไขควง ฝึกช่างเชื่อม เดินสายไฟ ไปจนถึงตอกตะปู หวังคว้าอาชีพสายช่างที่ดูมั่นคงและจับต้องได้มากกว่า
ฟังดูเท่ และมีเหตุผลไม่น้อย ไม่ต้องเป็นหนี้กู้เรียนหลายแสน ได้ฝีมือจริง ใช้สองมือทำมาหากิน และบางคนก็หวังจะได้เป็นนายตัวเองเร็วกว่าออฟฟิศแมน แต่ข้อมูลล่าสุดกลับบอกว่า...พวกเขาอาจกำลังเดินสู่ทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
จากผลสำรวจของ Harris Poll ปี 2024 พบว่าคนอเมริกันกว่า 78% สังเกตว่าเด็กวัยรุ่นหันมาทำงานช่างมากขึ้นจริง ซึ่งไม่ผิด เพราะตัวเลขของการลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนสายอาชีพก็พุ่งทะยาน แซงมหาวิทยาลัยไปแล้วหลังโควิด
แต่เมื่อเจาะลึกลงไป ข้อมูลจาก WalletHub ปี 2025 กลับชี้ว่า อาชีพสายช่างหลายตำแหน่งติดอยู่ในอันดับ “แย่ที่สุด” สำหรับการเริ่มต้นทำงาน เช่น ช่างเชื่อม ช่างยนต์ ผู้ควบคุมเครื่องจักรกล และช่างเขียนแบบ ที่ได้คะแนนต่ำจากทั้งด้าน “โอกาสหางาน” “ความมั่นคง” และ “ความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม”
ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ งานช่างไฟ ช่างประปา และผู้ตรวจสอบอาคาร กลับเป็นกลุ่มอาชีพที่มี “อัตราการว่างงานสูงสุด” อยู่ที่ 7.2% มากกว่าสามเท่าของอาชีพสายการเงินหรือวิเคราะห์งบประมาณที่อยู่แค่ 2.0%
หลายคนอาจคิดว่า งานที่ต้องใช้แรงงานแบบนี้ปลอดภัยจากเอไอแน่นอน แต่ WalletHub บอกว่าไม่ใช่ เพราะเทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์โรงงาน หรือระบบก่อสร้างสำเร็จรูป (prefabrication) กำลังเข้ามาแทนที่แรงงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างช้า ๆ
นอกจากนี้ งานสายช่างยังผูกติดกับภาคการก่อสร้างและการผลิต ซึ่งล้วนแล้วแต่ “เปราะบาง” ต่อภาวะเศรษฐกิจ ถ้าเกิดเศรษฐกิจชะลอ โครงการก็หยุด คนงานก็ไม่มีงานทำ บางงานยังต้องพึ่งฤดูกาล เช่น ฤดูฝนหรือลมหนาว ก็ทำงานกลางแจ้งไม่ได้อีก
แม้เด็ก Gen Z หลายคนจะเลือกอาชีพสายช่างเพราะอยากหลุดจากชีวิตโต๊ะทำงาน 9-5 ไม่อยากนั่งเบื่อ ๆ ในห้องประชุม อยากใช้ชีวิตอิสระ แต่งานสายนี้ก็มีราคาที่ต้องจ่าย
งานช่างไฟฟ้า ถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในอาชีพที่ “ไม่มีความสุข” ที่สุด ด้วยสาเหตุจากความเหนื่อยล้า งานหนัก และชั่วโมงทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยที่ค่าตอบแทนก็ไม่ได้สูงลิ่วอย่างที่บางคนคิด
เช่นเดียวกับงานก่อสร้าง ผู้จัดการไซต์งาน หรือคนขับเครน ที่มีชั่วโมงงานไม่แน่นอน เครียดสูง ต้องแบกรับแรงกดดัน และไม่มีอาชีพช่างใดเลยที่ติดอันดับงานที่มีความสุขที่สุด
ถึงกระนั้น ยังมีหนึ่งสายงานช่างที่ดูจะ “มั่นคง” ท่ามกลางความปั่นป่วน นั่นคือวิศวกรด้านธรณี วิศวกรเหมือง และวิศวกรขุดเจาะ ซึ่งมีอัตราการอยู่กับนายจ้างยาวนานกว่าวิชาชีพอื่นถึง 2.1 เท่า
สรุปแล้ว งานช่างอาจเป็นทางเลือกที่ดูแข็งแรงจากภายนอก แต่หากจะก้าวเข้ามา ต้องพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยง และความเหนื่อยไม่แพ้งานออฟฟิศ แค่เปลี่ยนจากนั่งหน้าจอ...มาถือค้อนแทนก็เท่านั้นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง