svasdssvasds

“เกลียดวันจันทร์” อาจไม่ใช่ข้ออ้างของคนขี้เกียจ แต่มันมีอาการนี้จริงๆ

“เกลียดวันจันทร์” อาจไม่ใช่ข้ออ้างของคนขี้เกียจ แต่มันมีอาการนี้จริงๆ

อาการเกลียดวันจันทร์ เป็นอาการที่ส่วนใหญ่จะรู้สึกอ่อนเพลีย ท้อแท้ ไม่อยากตื่น ในวันแรกหลังจากได้หยุดมา หลายคนอาจนึกว่าเราแค่ขี้เกียจหรือเปล่า?? แต่จริงๆแล้วมีผลวิจัยจริงจัง แถมถ้ารู้สึกไปนานๆอาจกระทบสุขภาพกาย และสุขภาพจิตอีกด้วย

ศุกร์เย็นกับจันทร์เช้า แน่นอนว่าถ้าทุกคนเลือกได้ ก็คงจะขอมีความสุขกับช่วงเวลาของวันศุกร์บ่ายดีกว่า ทำไมกันนะ วันจันทร์เช้าถึงเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนไม่อยากจะนึกถึง ไม่อยากจะให้ช่วงเวลานั้นมาถึงเลย อาการเกลียดวันจันทร์มันมีจริงๆเหรอ แล้วมันเป็นกับทุกคนมั้ย แก้ยังไงดีในเมื่อไม่ว่าจะชอบหรือเกลียด เราก็ยังต้องไหทำงานในวันจันทร์เช้าอยู่ดี

อาการเกลียดวันจันทร์ เป็นอย่างไร?

อาการเกลียดวันจันทร์ (Monday Blues) เป็นอาการที่คนส่วนใหญ่จะรู้สึกอ่อนเพลีย ท้อแท้ ไม่อยากตื่น ในวันจันทร์ วันแรกของอาทิตย์ที่แสนสดใส แต่ตรงข้ามกับความรู้สึกในใจที่แสนจะเพลีย อาการนี้ชาวออฟฟิศจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี แถมมันยังลามไปถึงนักเรียนนักศึกษาบางคนด้วยนะ บางคนถึงขั้นรู้สึกอ่อนเพลีย เหมือนจะเป็นไข้ หรือมีอาการอะไรสักอย่าง ที่ทำให้เราอยากจะโทรไปหาบอสว่าขอลาป่วย

ซึ่งเอาจริงๆอาการนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นอาการทางจิตเล็กๆเลย แต่ไม่ถึงเข้าต้องเข้ารับการรักษาหรืออะไรนะ เราก็แค่ปรับวิธีคิด และวิธีการทำงานหรือการใช้ชีวิตบางอย่าง อาการนี้ก็จะค่อยๆดีขึ้นแล้วล่ะ

อาการเกลียดวันจันทร์ จะรู้สึกอ่อนเพลีย ท้อแท้ ไม่อยากตื่น ในวันแรกหลังจากได้หยุดมา

อาการเกลียดวันจันทร์ กับเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลัง

ถึงแม้ว่าอาการเกลียดวันจันทร์จะดูเป็นสิ่งขำที่เอาไว้ล้อเป็นมีมเฉยๆ แต่จริงๆแล้วมันก็มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยามารองรับอยู่จริงจัง

ผลการวิจัยพบว่า เหล่าพนักงานที่ต้องมาทำงานในเช้าวันจันทร์นั้นมีอัตราความดันโลหิตสูงขึ้น ในขณะที่คนว่างงานหรือคนที่ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตในเช้าวันจันทร์

บทความของ CNBC ได้กล่าวไว้ว่า พนักงานจะรู้สึกไม่มีความสุขมากที่สุดในเวลา 11:17 น. ของเช้าวันจันทร์ กลับกันพวกเขาจะรู้สึกแฮปปี้ที่สุดในเวลา 15:47 น.ของวันศุกร์

อาการเกลียดวันจันทร์ กับเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลัง

ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์รู้สึกเกลียดวันจันทร์จากนิสัยโดยธรรมชาติที่ผูกพันกับสังคมและการเปลี่ยนแปลงทันทีในชีวิตประจำวัน ความเคร่งเครียดในวันจันทร์ทำให้เกิด Emotional Shift และผลกระทบทางสุขภาพ เช่น น้ำหนักเพิ่ม ความดันสูง และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและเส้นเลือดในสมอง

มนุษย์รักการเป็นอิสระและวันจันทร์ทำให้รู้สึกสูญเสียอิสระที่ได้รับในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เต็มไปด้วยความสุขตามใจตัวเอง ดังนั้นอาการเกลียดวันจันทร์จึงสามารถอธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ได้

อาการเกลียดวันจันทร์ ถ้ารู้สึกไปนานๆอาจกระทบสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หนีจากอาการเกลียดวันจันทร์ ยังไงดี ?

  • ทำตัวให้สดชื่นในเช้าวันจันทร์

แทนที่จะเป็นเสียงนาฬิกาปลุกที่แสบแก้วหู เชื่อว่าหลายๆคนคงจะตั้งเสียงดังๆที่รบกวนไว้เพื่อให้ตัวเองตื่น นั่นจะทำให้หงุดหงิดกระตุ้นอารมณ์และอาการเกลียดวันจันทร์ ตั้งแต่ลืมตาตื่นแล้ว

ลองเปลี่ยนมาเป็นเสียงที่ทำให้รู้สึกว่าสบายหู แล้วตื่นแบบไม่รบกวนสมองมากเกินไปดู แต่ถ้าใครรู้สึกว่าทำแบบนั้นแล้วจะไม่ตื่นแน่ๆ ก็ลองเปลี่ยนมาเป็นตื่นมาแล้วดื่มน้ำ ฟังเพลงที่ชอบ อาบน้ำให้ตัวหอมๆ แต่งหน้าแต่งตัวให้ดูดีมั่นใจ อาจจะทำให้การใช้ชีวิตในวันจันทร์ของคุณรู้สึกดีขึ้นมาได้

  • วางแผนงานให้ดี

การมาทำงานในเช้าวันจันทร์ เปิดสัปดาห์มาพร้อมงานที่เต็มโต๊ะล้นมือไปหมด เป็นเรื่องที่น่าหดหู่มาก จะดีมากถ้าเราสามารถเคลียร์งานให้เสร็จได้ตั้งแต่วันศุกร์ ถึงจะทำให้เสร็จไม่ได้ ก็ควรทำให้งานค้างเหลือน้อยมากที่สุด จะทำให้เช้าวันจันทร์ของคุณไม่รู้สึกหนักมากจนเกินไป

  • จัดตารางเวลาให้สบาย

ถ้าเราสามารถจัดตารางงานของเราเองได้ เช้าวันจันทร์ ควรเป็นเวลาที่ได้ทำงานสบายๆ ไม่หนักมากเกินไป ไม่ควรมีการประชุม หรือการคุยงานที่เคร่งเครียด จะได้เป็นการเริ่มต้นสัปดาห์ที่สบายๆ ไม่มีอะไรหนักหัว

  • ยอมรับความจริงให้ได้

อาจจะฟังดูตลก แต่การยอมรับความจริงให้ได้ ว่า "วันนี้คือวันจันทร์" เป็นแค่วันทำงานธรรมดาวันหนึ่งเหมือนทุกๆวัน เดี๋ยวก็หมดวันไป วันจันทร์มันจะมีอะไรที่น่ากลัวไปกว่าวันอื่นๆกันเชียว

วิธีรับมือ อาการเกลียดวันจันทร์ (Monday Blues)

ถ้าพนักงานมีอาการเกลียดวันจันทร์ จัดการอย่างไร

คนในบริษัทไม่ว่าจะเป็น HR เองที่เป็นฝ่ายจัดการบุคคล หรือแม้แต่ผู้บริหารระดับสูงเองก็คงจะมีคนที่เกลียดวันจันทร์กันบ้างแหละ แต่ทางฝ่ายจัดการบุคคลก็คงต้องมีการรับมือกับพนักงานที่รู้สึกแย่ในวันจันทร์ให้ดี ไม่งั้นก็คงจะพาลให้งานเสียไปด้วย

อาจจะมีการเสนอให้มีวันใดวันหนึ่งในสัปดาห์ที่สามารถ work from home ได้ เมื่อมาทำงานในวันจันทร์จะได้ไม่รู้สึกหดหู่ที่ต้องทำงานยาวๆไปอีกตั้ง5วัน หรือไม่ก็อาจจะเสนอให้ในวันจันทร์ สามารถเข้างานเลทได้จากปกติ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้เตรียมตัวเข้างานอย่างสดใส

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทเองด้วยว่าจะมีวิธีจัดการกับปัญหาพนักงานเกลียดวันจันทร์อย่างไรดี ถึงมันจะดูเป็นปัญหาเล็กๆ แต่เมื่อสะสมไปนานๆ ก็อาจลุกลามไปเป็นอาการเบื่องานเลยก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานรู้สึกแย่กับการทำงาน อะไรที่แก้ไขให้ดีได้ก็ควรแก้ไข เพระเมื่อพนักงานมีแรงใจที่จะทำงาน งานที่ออกมาก็จะมีประสิทธิภาพตามมาด้วย เมื่อถึงจุดนั้น อาการเกลียดวันจันทร์ของพนักงานในบริษัทก็จะค่อยๆดีขึ้น

อ้างอิง

บทความอื่นที่น่าสนใจ

related