svasdssvasds

นักวิชาการประสานเสียง แนะรัฐจ่ายเงินช่วยสร้างคอนเทนต์ไทยแลนด์

นักวิชาการประสานเสียง แนะรัฐจ่ายเงินช่วยสร้างคอนเทนต์ไทยแลนด์

นักวิชาการด้านกฎหมาย นิเทศศาสตร์ และ เศรษฐศาสตร์ มองในทิศทางเดียวกันว่า คอนเทนต์ของไทยมีคุณภาพ ควรได้รับการส่งเสริมให้เข้มแข็งมากขึ้นจากภาครัฐ หากจะสร้างไทยแลนด์แพลตฟอร์ม รัฐควรอุดหนุนเม็ดเงินและให้ขับเคลื่อนโดยเอกชน

เวทีสัมมนา เผย 4 มิติ ดิจิทัลวีดิโอ แพลตฟอร์ม ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย จัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สปริงนิวส์ และ พันธมิตร ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ให้บริการดิจิทัล คอนเทนต์ในประเทศไทยเติบโตขึ้นมา 10% ในความเป็นจริง สามารถเติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมทั่วโลก ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผู้ให้บริการคอนเทนต์สัญชาติไทยได้ประโยชน์น้อยกว่าผู้ให้บริการในต่างประเทศ 

นักวิชาการประสานเสียง แนะรัฐจ่ายเงินช่วยสร้างคอนเทนต์ไทยแลนด์

ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นยอดการดาวน์โหลดวีดิโอแอปพลิเคชัน เติบโตถึง 40% ระยะเวลาที่ใช้บนแอปฯ แชร์วีดิโอเติบโต 70-80% สะท้อนชัดเจนว่า คนปัจจุบันใช้ชีวิตบนแพลตฟอร์มค่อนข้างมาก สื่อทยอยหาช่องทางในการเข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น บางรายไปเช่าวีดิโอแพลตฟอร์ม เพื่อถ่ายทอดคอนเทนต์ผ่านช่องทางออนไลน์ หลายรายใช้แพลตฟอร์มวีดิโอสตรีมมิ่งของต่างประเทศ เปรียบเสมือนกำลังย้ายบ้านไปอยู่บ้านคนอื่น

“ชีวิตของพวกเรากำลังเปลี่ยนไปเหมือนกับโชห่วย ปัจจุบันหายไปเยอะ เหมือนกับคนที่ผลิตสินค้าเอาชีวิตไปฝากไว้กับซูเปอร์มาร์เก็ต จะเห็นว่า Eco System เปลี่ยนไป ปัจจุบันถามว่าผู้ผลิตสื่อของไทยกำลังเอาชีวิตไปฝากไว้กับแพลตฟอร์มคนอื่น โดยเฉพาะแพลตฟอร์มต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน และการที่เราไปฝากไว้กับคนอื่น เขาก็จะมีกฎ กติกา มารยาท ที่เขาสามารถควบคุมได้ เราเองคนไทย เมื่อไปอยู่บ้านคนอื่น ก็ต้องทำตามกฎของคนอื่น ภาครัฐเองจะเข้าไปดูแพลตฟอร์มก็บอกว่าแพลตฟอร์มไม่ได้อยู่ในประเทศไทย รัฐบาลไทยจะดูแลประชาชน ผู้ประกอบการที่ผลิตสื่อ ไม่สามารถดูแลได้อย่างเต็มที่”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

นักวิชาการประสานเสียง แนะรัฐจ่ายเงินช่วยสร้างคอนเทนต์ไทยแลนด์

ดร.ชัยชนะ ระบุว่า ETDA เล็งเห็นความสำคัญของการกำกับดูแลเหล่านี้ ก็ ที่ผ่านมาจึงเสนอกฎหมายระดับ พ.ร.ฎ.ในการเข้าไปดูแลวีดิโอแพลตฟอร์ม ผ่านความเห็นชอบของครม.ไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยที่แพลตฟอร์มว่าจะอยู่ในหรือต่างประเทศ แต่มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการกับคนไทย จำเป็นต้องมาแจ้งให้ ETDA ทราบว่ามีบริการเหล่านี้อยู่ และต้องแสดงเงื่อนไขในการให้บริการอย่างโปร่งใส และมีกลไกดูแล รับเรื่องร้องเรียนได้อย่างเหมาะสม ในเวทีนี้ดำเนินรายการโดย นายระวี ตะวันธรงค์ บรรณาธิการบริหาร Springnews และ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและตั้งคำถามกับนักวิชาการจากหลายสถาบันการศึกษา ถึงก้าวต่อไปของการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสื่อและ Digital Platform ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงการปรับตัวของผู้กำกับดูแลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ควรจะเป็นไปในทิศทางใด 

รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ตลาด OTT หรือการแพร่ภาพผ่านอินเทอร์เน็ต โดยหยิบยก โมเดลของแต่ละประเทศที่มีการขับเคลื่อนอย่างเห็นได้ชัด เช่น โมเดลของประเทศสิงคโปร์ ใช้นโยบายเปิดเสรี และ วางจุดยืนเป็น HUB ของภูมิภาค ให้บริษัทแพลตฟอร์มรายใหญ่มาตั้งสำนักงาน ใช้นโยบาย ปลดล็อกกฎหมายและกฎเกณฑ์ในการให้ไลเซนส์ เป็น One Stop Service Licensing 

ส่วนเกาหลีใต้ บรอดแคสเตอร์ในประเทศ รวมตัวกันเป็นแพลตฟอร์มแห่งชาติ รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนเงิน โดยที่ผู้ประกอบการนำคอนเทนต์มารวมกันเพื่อนำเสนอในลักษณะ On Demand  จุดเด่น คือ K-Pop และ Synergy Business ผลักดันให้คนเข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มมากที่สุด  

ประเทศอังกฤษ มีแพลตฟอร์มโลคัลอยู่แล้ว และ เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มใหญ่อย่าง เน็ตฟลิกซ์ และ ดิสนีย์พลัส จุดเด่น คือ ผลิตคอนเทนต์คุณภาพ มีแพลตฟอร์มกลางแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงออกคอนเทนต์ที่เป็น Hi-End Production ปริมาณคนที่ดูทีวีดิจิทัลของตัวเองสูงมาก 

ประเทศญี่ปุ่น มีคล้ายๆ ยูทูปของตัวเอง สร้างเป็นนิชมาร์เก็ต หรือ ตลาดเฉพาะกลุ่ม ที่น่าสนใจ คือ สร้างแพลตฟอร์ม OTT ของตัวเอง เป็นการรวมตัวของ บรอดคาสเตอร์ ข้อดีของการที่มีแพลตฟอร์มกลาง จะช่วยให้เห็นข้อมูลหลังบ้านและจะเห็นระบบการดูสดแบบเรตติ้ง เพื่อนำไปสู่การหารายได้ของบรอดแคสเตอร์ หรือ คนทำทีวี

สำหรับประเทศไทย ที่จะมีแพลตฟอร์มของตัวเอง รศ.พิจิตรา มองว่า ถ้าเรามีแพลตฟอร์มของตัวเองเราจะหวงแหนแพลตฟอร์มของตัวเองจนกระทั่งเราไล่แพลตฟอร์มต่างชาติไปหรือไม่ ดังนั้นสิ่งแรกที่จะต้องตระหนัก คือ ความสมดุลของการลงทุน และต้องดูว่า มีแรงจูงใจเพียงพอไหมที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ จะมาลงใน “ไทยแลนด์ แพลตฟอร์ม” ทั้งการบริหารจัดการและความโปร่งใส อีกประเด็น คือ การส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานในอุตสาหกรรมสื่อ ด้วยเครื่องมือที่คล่องตัว ยกตัวอย่าง สิงคโปร์สร้างสตอรี่แล็บ ใช้เครื่องมือทางภาษีลดหย่อนภาษีให้คนที่อยากทำแพลตฟอร์ม

นักวิชาการประสานเสียง แนะรัฐจ่ายเงินช่วยสร้างคอนเทนต์ไทยแลนด์

“เรามีการแข่งขันที่รายล้อมรอบประเทศอยู่ เราต้องวางจุดยืนของเราให้ถูกต้อง จะใช้งบให้หลุดจากระบบราชการทำได้ไหม งดเว้นภาษี สร้างให้เกิดฮับ หรือ ทรัพยากรบุคคล ยกตัวอย่างภาพยนตร์ “ร่างทรง” ที่ไปได้ไกลแล้ว ให้พยายามเปิดตลาดและเปิดใจเรื่องคอนเทนต์ เป็นไปได้”

ผศ.ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอนุกรรมการกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มองว่าเครื่องมือเดิมๆ หรือ กฎหมายที่เคยมี ต้องดิ้นตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง กฎหมายไทยเป็นโลคัล แต่กฎหมายโลกที่มาบังคับไม่ให้คนตัวใหญ่รังแกคนตัวเล็ก 

ผศ.ดร.ปิยะบุตร มองประเด็นเรื่องการแข่งขัน ที่หลายประเทศกำหนดบทบาทและการกำกับดูแลให้เหมาะสมกับการแข่งขันระดับโลก ขณะที่ไทยยังไม่มีจุดไหนที่จะไปโกลบอลได้ หากเรามีแพลตฟอร์มของตัวเอง มองว่า การส่งเสริมด้านงบประมาณต้องมา

“กฎหมายไม่ได้มีหน้าที่ไปเหยียบคันเร่ง ไปดูว่าจะดูโมเดลอย่างไร เรารู้สึกเดือดร้อนร่วมกัน มีเจตจำนงร่วมกันว่า ให้รวมตัวกันแล้วสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา แล้วรัฐสนับสนุนคล้ายไทยพีบีเอส ต้องมีจุดที่ยืนได้ในตลาดใหญ่ ในมุมกฎหมาย ดิจิทัล กฎหมายพร้อมหมดแล้วเช่น พ.ร.ฎ.เศรษฐกิจดิจิทัล โดยภาพรวมกฎหมายไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวาง ถ้าทุกอย่างเริ่มเดินหน้า อยากให้เหยียบคันเร่งเลย”

ผศ.ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินว่า ผู้ประกอบการไทยน่าจะเหนื่อยพอสมควร ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน การแข่งขันในโลกออนไลน์เข้มข้นมาก ในต่างประเทศ เก็บค่า ทีวีไลเซนส์ บังคับให้ครัวเรือนจ่ายค่าดูโทรทัศน์ด้วย เช่น BBC จ่ายประมาณ 7,242 บาทต่อปี NHK ของญี่ปุ่น ประมาณ 3,000-7,000 บาทต่อปี ABC ของออสเตรเลีย รัฐใช้เงินภาษีประชาชนจ่าย 7-8 เซนต์ต่อคนต่อวัน ในสหรัฐ เก็บค่าดูช่องข่าว CNN,MSNBC,FOX News จาก cable subscription 

ดังนั้นสิ่งที่รัฐสามารถช่วยผู้ประกอบการไทยได้ คือ สนับสนุนให้แข่งขันในตลาดโลกได้ และสนับสนุนคอนเทนต์ที่มาจากไทยมากขึ้น 

“ดิจิทัล แพลตฟอร์ม สิ่งที่ธุรกิจกังวลมากที่สุด คือ คอนเทนต์ ต้องสู้ได้ก่อน ถ้าสู้ได้จะมีคนมาขอคอนเทนต์ไปอยู่บนแพลตฟอร์มของเขา หากเราสามารถสนับสนุนให้เกิดการผลิตคอนเทนต์ที่ดีขึ้น สามารถช่วยกระตุ้นไปได้ การเริ่มต้นอาจจะบอกว่า ฝ่ายผู้ชมพร้อมชมคอนเทนต์ เวิลด์คลาส แต่ผู้ผลิตต้องเอาใจช่วย คอนเทนต์ดีๆ ของประเทศไทยออกมาจำนวนมาก แต่ตลาดโลกไปเร็ว”

related