svasdssvasds

แบรนด์เก่าแก่ของไทย “ห่านคู่” และ “นันยาง” กับแคมเปญการตลาดที่ไม่ธรรมดา

แบรนด์เก่าแก่ของไทย  “ห่านคู่” และ “นันยาง” กับแคมเปญการตลาดที่ไม่ธรรมดา

การตลาดของห่านคู่ที่ใช้คำนิยามแบรนด์ตัวเองว่า “ความธรรมดา มันก็ไม่ได้แย่” มาเล่าเรื่องราวความเป็นตัวตนของแบรนด์ และเมื่อแบรนด์เก่าแก่คลาสสิคอย่างนันยางมารับมุขกับห่านคู่ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้โดนใจผู้บริโภคและทำให้ข้อความเหล่านี้กลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน

แบรนด์ห่านคู่ที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานกว่า 70 ปี ได้โพสต์ข้อความที่ฮีลใจผู้คนนับล้านในโซเชียลมีเดีย และมีความรู้สึกร่วมไปกับแบรนด์ห่านคู่ และมีการคอมเมนต์และแชร์เกี่ยวกับความประทับใจในแบรนด์ห่านคู่มากมาย ผ่านแฮชแทค #ห่านคู่ธรรมดาที่ทำมาดี ซึ่งได้แสดงตัวตนของแบรนด์และ DNA ที่แท้จริงของแบรนด์ห่านคู่ผ่านข้อความสั้นๆ

Cr.Double Goose

ซึ่งกระแสครั้งนี้ได้มาพอดิบพอดีกับยุคสมัยนี้ทุกคนมีทั้งแรงกดดัน ความเครียดจากการทำงานมากมาย ข้อความให้กำลังใจของห่านคู่จึงเป็นแรงบันดาลใจไม่น้อยให้ใครหลายๆคน 

การทำการตลาดครั้งนี้ยังอยู่ในกลยุทธ์ของห่านคู่ที่ต้องการจะ Rebranding เตรียมพร้อมที่จะสร้าง Brand Image ให้เป็นคนรุ่นใหม่ และทำให้คนเข้าใจความเป็นห่านคู่มากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำให้คนกลับมาสนใจแบรนด์ห่านคู่
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

แบรนด์รองเท้านักเรียนเก่าแก่อย่าง “นันยาง” ที่มักเล่นกับอะไรที่เป็นไวรัลเสมอ ก็ได้มาออกมาตอบกลับห่านคู่ในข้อความสั้นๆ ที่กินใจผู้คนในมุมเดียวกันว่า “ธรรมดา ไม่เห็นเป็นไรเลย” “เพราะเราก็เป็นรองเท้าธรรมดา ไม่หวือหวา ไม่ทันสมัย ไม่พิเศษ” และขอบคุณห่านคู่ที่ให้กำลังใจคนธรรมดา  ซึ่งทั้งสองแบรนด์ได้มีจุดยืนที่คล้ายคลึงกันในความธรรมดาที่คนรู้จักและเข้าใจ จึงได้ใจคนไปเต็มจากการตอบกลับไปมาครั้งนี้ 

Cr.Nanyang

เมื่อปีก่อน “นันยาง” เคยได้มีแคมเปญที่ทำออกมาแล้วโดนใจผู้บริโภคอย่าง ‘#บูลลี่ในโรงเรียน หยุดได้ด้วยนักเรียน’ ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นการบูลลี่ที่เกิดเป็นกระแสในช่วงนั้น โดยได้ออกสินค้า ‘นันยาง รุ่นใหญ่ Anti-Bully Edition’ เป็นการนำรองเท้าไซส์ใหญ่ เบอร์ 40-49 ที่นักเรียนนิยมใส่กัน มาสกรีนข้อความที่เตือนใจรุ่นพี่ลงบนแผ่นรองรองเท้าด้านใน และได้มีการโพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับการบูลลี่ จนเกิดเป็นกระแส

Cr.Nanyang
 

ซึ่งมีหลากหลายกรณีศึกษาที่ทางนันยางนำเรื่อง Storytelling เข้ามาเชื่อมโยงกับการขายสินค้าที่เป็นตำนานของเขา เช่น ความเก๋า ที่ใช้คำว่า นันยาง เก๋ามาตั้งแต่รุ่นพ่อ ซึ่งนันยางไม่ใช่รองเท้าแฟชั่น แต่หยิบจับเรื่องราวต่างๆมาเล่นกับแบรนด์ได้อย่างสนุกสนาน อย่างโปรเจกต์ KHYA ที่นำขยะมาทำรองเท้าช้างดาว หรือสถานการณ์โควิดต่างๆที่ใช้ช่องทางการขายแบบใหม่บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ทำให้นันยางได้โลดแล่นไปในการตลาดหลากหลายรูปแบบ

ไวรัลครั้งนี้ยังได้มีเรื่อง Nostalgia Marketing หรือที่เรียกว่า การตลาดแบบย้อนยุคมาร่วมด้วย ซึ่งมักใช้ได้กับแบรนด์เก่าแก่ที่มีมายาวนานอย่างทั้งสองแบรนด์นี้ 

ห่านคู่และนันยางได้สร้างจุดเชื่อมโยงของลูกค้าที่ได้เคยใส่ห่านคู่ หรือเคยใส่รองเท้านันยางในสมัยเด็กๆ เล่าผ่านเรื่องราวต่างๆในข้อความ ทำให้ผู้คนคิดถึงเรื่องราวความทรงจำเก่าๆ ที่เคยมีร่วมกับแบรนด์ ซึ่งข้อได้เปรียบทั้งสองแบรนด์นี้คือมีฐานแฟนคลับของแบรนด์หลายช่วงอายุตั้งแต่เด็กๆถึงจนถึงรุ่นใหญ่อายุ 80 ปี ไวรัลครั้งนี้จึงทำให้ทุกคนรู้สึกอยากแชร์

เคสการทำการตลาดแบบนี้นับเป็นตัวอย่างการแสดง DNA หรือตัวตนของแบรนด์ผ่านศิลปะการเล่าเรื่องหรือ Storytelling ได้เป็นอย่างดี และทั้งสองแบรนด์ยังได้เชื่อมโยงเข้าหากันอย่างลงตัว 

ซึ่งมีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นอย่าง KFC และ Swensens ที่ได้มีเมนูไอศกรีมไก่ทอด และได้ตอบกลับกันไปมาในรูปแบบสนุกสนานและตลก แต่ครั้งนี้ห่านคู่และนันยางได้แสดงความเป็นตัวตนผ่านข้อความที่กินใจและให้กำลังใจคน ซึ่งเชื่อว่าไวรัลครั้งนี้ทำให้คนรู้สึกเข้าใจความเป็นตัวแบรนด์ทั้งสองมากยิ่งขึ้น และทำให้ใครหลายคนอยากกลับมาใส่เสื้อยืดห่านคู่และรองเท้านันยางอีกครั้ง 
 

related