svasdssvasds

ทำความรู้จักแนวคิด Neo-Conservative อนุรักษ์นิยมใหม่ คืออะไร ?

ทำความรู้จักแนวคิด Neo-Conservative อนุรักษ์นิยมใหม่ คืออะไร ?

Spring สัมภาษณ์ “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช เกี่ยวกับแนวคิด Neo-Conservative หรือ “อนุรักษ์นิยมใหม่” ซึ่งกำลังมีการพูดถึงเป็นอย่างมากว่า คือหนทางรอดของ “พรรคอนุรักษ์นิยม” แบบเดิมๆ

แนวคิด “Neo-Conservative” หรือ “อนุรักษ์นิยมใหม่” ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากความพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองที่ถูกจัดให้อยู่ในฟากฝั่งอนุรักษ์นิยม ในการเลือกตั้ง 2566 อีกทั้งยังส่งสัญญาณว่า หากพรรคอนุรักษ์นิยม ยังดำเนินแนวทางทางการเมืองแบบเดิมๆ ก็สุ่มเสี่ยงอาจสูญพันธ์ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ซึ่งวิธีที่กูรูทางการเมืองหลายคนเห็นตรงกันก็คือ “พรรคอนุรักษ์นิยม” หลายๆ พรรค ต้องอัปเกรด อัปเลเวลตัวเองให้เป็น “Neo-Conservative” หรือ “อนุรักษ์นิยมใหม่” เพื่อต่อสู้ทางการเมืองกับ “พรรคเสรีนิยม” (Liberal) ที่แน่นอนว่าจะมี “พรรคก้าวไกล” เป็นแกนนำ

แล้วแนวคิด "Neo-Conservative" (อนุรักษ์นิยมใหม่) นั้นเป็นอย่างไร ? แตกต่างจาก Conservative (อนุรักษ์นิยม) ขนาดไหน ? Spring ได้ทำการสัมภาษณ์ “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช โดยอาจารย์ได้ไขข้อสงสัยต่างๆ ให้กระจ่างชัด ดังต่อไปนี้

ทำความรู้จักแนวคิด Neo-Conservative อนุรักษ์นิยมใหม่ คืออะไร ?

บทความที่น่าสนใจ

Neo-Conservative แนวทางการปรับตัวของพรรคอนุรักษ์นิยม เพื่อความอยู่รอด

ปัจจุบันไม่เพียงแต่วงการต่างๆ ที่ถูก Disrup แม้แต่แวดวงการเมือง ก็กำลังถูก Disrup เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดย “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” ได้แสดงความคิดเห็นว่า การปรับตัวของพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคอนุรักษ์นิยม ไปเป็น "Neo-Conservative" เป็นเรื่องที่สำคัยยิ่ง ในยุคความผันผวนทางการเมือง 

เรื่อง "Neo-Conservative" หรือ Neocon (อนุรักษ์นิยมใหม่) ถูกพูดถึงสัก 30 – 40 ปีที่ผ่านมา เป็นความพยายามที่จะปรับตัวของแนวคิด “อนุรักษ์นิยม” (Conservative) ให้สอดรับกับความเป็นสมัยใหม่ แล้วก็ขยายตัวมาสู่แวดวงทางการเมือง ซึ่ง “พรรคอนุรักษ์นิยม” ในหลายๆ ประเทศ ก็มีการปรับตัว ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปโฉมที่มากขึ้นตามไปด้วย

เพราะปัจจุบันเป็นยุคที่เรียกว่า “ความผันผวนทางการเมือง” หรือ Disruptive Politic คือพรรคการเมืองจะถูก Disrup ทำให้ต้องปรับตัว เพราะถ้าพรรคการเมืองไม่สามารถปรับตัวให้ทัน ก็แน่นอนว่า จะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ซึ่งผมก็มักพูดอยู่เสมอว่า การเมืองของประเทศไทย ณ เวลานี้ อยู่ในสภาวะการเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง ก็จะเป็นภาพสะท้อนให้เราเห็นว่า ถ้าเราไม่ปรับตัวให้เท่าทัน ความสมดุลทางการเมืองมันก็ไม่เกิด ซึ่งในการเมืองระบบรัฐสภา “พรรคการเมือง” คือตัวแสดงที่สำคัญมาก ในการทำให้บรรลุเป้าหมายพัฒนาการทางการเมือง 

ทำความรู้จักแนวคิด Neo-Conservative อนุรักษ์นิยมใหม่ คืออะไร ?

ความแตกต่างระหว่าง Neo-Conservative (อนุรักษ์นิยมใหม่) กับ Conservative (อนุรักษ์นิยม) ?

ในมุมมมองของ “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” พรรคอนุรักษ์นิยมแบบเดิม ต้องปรับตัว อัปเกรดตัวเองไปเป็น Neo-Conservative เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นพรรคที่มีแนวคิดล้าหลัง ไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยได้อธิบายความแตกต่างระหว่าง 2 แนวคิดดังกล่าว ดังต่อไปนี้  

“Conservative” หรือ “อนุรักษ์นิยม” จะเน้นในเรื่องของการรักษาสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มชนชั้นเอาไว้ จึงไม่นิยมความเปลี่ยนแปลง แต่  "Neo Conservative" หรือ "อนุรักษ์นิยมใหม่" จะเปิดกว้างมากขึ้น ในการที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ส่วน

เช่นการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงในเรื่องการถืออำนาจทางการเมือง อำนาจทางเศรษฐกิจ การยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ก็ยังต้องมีส่วนผสมของฝั่งอนุรักษ์นิยม หรือชนชั้นนำเดิมอยู่   

การเมืองไทยในวันนี้กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งพรรคการเมืองก็ต้องตอบสนอง เพราะถ้าพรรคการเมืองไม่ตอบสนอง ก็จะกลายเป็นพรรคที่ล้าหลัง เช่น ยังยึดอยู่กับแกนนำเพียงไม่กี่คน คนที่เป็นเจ้าของพรรค กับสปอนเซอร์พรรค มันไม่ใช่การเมืองยุคใหม่ แล้วจะทำให้พรรคการเมืองนั้นเสื่อมความนิยมลงไป

วันนี้กระแสความถดถอยในเรื่องความนิยมของพรรคการเมือง มันเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย เพราะโลกทุกวันนี้ก็ไปสู่ "การเมืองในเชิงอัตลักษณ์" หรือ "Identity Politics" มากขึ้น

อย่าง การเมืองเรื่องเพศสภาพ LGBTQ เรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ เรื่องของชนกลุ่มน้อย ที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมแบบเดิม อาจไม่ตอบรับ อย่างการมี ส.ส. LGBTQ เราไม่ค่อยได้เห็นในอดีตนะครับ แต่วันนี้เราจะได้เห็น ส.ส. LGBTQ มากขึ้น

หรือ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ก็เป็นความพยายามจะเสนอกฎหมายที่ท้าทายต่อกลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจ หรืออย่าง “สุราก้าวหน้า” มันเกิดขึ้นทั่วโลกนะครับ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย นี่ก็เป็นประเด็นหลักที่ “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทัน ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นพรรคที่ล้าหลัง

ทำความรู้จักแนวคิด Neo-Conservative อนุรักษ์นิยมใหม่ คืออะไร ?

โอกาสที่พรรคการเมืองไทย สายอนุรักษ์นิยม จะปรับตัวไปสู่ Neo-Conservative มีความเป็นไปได้หรือไม่ ?

ส่วนการที่พรรคอนุรักษ์นิยมไทย จะอัปเลเวลไปเป็น "Neo-Conservative" “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” ได้แสดงความคิดเห็นว่า มันเป็นเรื่องที่ค่อยข้างยาก เพราะมีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย

การที่พรรคการเมืองไทยสายอนุรักษ์นิยม จะปรับตัวไปสู่ "Neo-Conservative" ผมว่าไม่ง่ายนะครับ เพราะข้อจำกัดของการเป็นอนุรักษ์นิยมไทย มันจะมีวัฒนธรรม ประเพณี เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ที่เรียกกันว่า “ความเป็นไทย” ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็จะขยับเขยื้อนตัวไม่ค่อยได้มากหรอกครับ

แล้วก็ยังมีเรื่องของโครงสร้างอำนาจทุน เพราะ “การเมือง” มันไม่ใช่เรื่องลอยๆ มันมีความสัมพันธ์กับอำนาจทุนด้วย ทั้งในธุรกิจต่างๆ มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ “ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทย” จะปรับตัวได้ แต่ว่าวันนี้สภาพแวดล้อมทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ถ้าไม่ปรับปรุง ก็คือเดินต่อไปได้ยาก แต่ว่าจะปรับตัวได้แค่ไหน อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่เราต้องติดตามดูกันต่อไป

ซึ่งพรรคการเมืองเดิมๆ ที่พยายามจะปรับเปลี่ยนตัวเองเป็น "Neo-Conservative" เท่าที่ผมเห็นก็คือ “พรรคเพื่อไทย” (ปัจจุบันยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเสรีนิยม หรือ Liberal) ซึ่งก็ถูก Disrup ทางการเมือง ในการเลือกตั้งปี 2566 เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่า “พรรคเพื่อไทย” จะพยายามปรับเปลี่ยนตัวไปสู่ "Neo-Conservative" มากขึ้น

นอกนั้นผมไม่เห็นพรรคไหนที่พยายามจะปรับตัวเลยนะครับ อย่างพรรคเก่าแก่เช่น “ประชาธิปัตย์” ยิ่งแล้วใหญ่ คือไม่ปรับตัว จนจะไปต่อไม่ได้แล้ว

ทำความรู้จักแนวคิด Neo-Conservative อนุรักษ์นิยมใหม่ คืออะไร ?

ปัจจุบันมีนักการเมืองไทยคนใดบ้าง ที่มีลักษณะแบบ “มนุษย์ Neocon”

สุดท้ายนี้ Spring ขอให้ “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” ยกตัวอย่างนักการเมืองที่มีลักษณะแบบ Neocon หรือ Neo-Conservative อาจารย์ก็แสดงความคิดเห็นดังนี้

สำหรับนักการเมืองไทย ที่มีลักษณะแบบ “มนุษย์ Neocon” วันนี้ผมยังไม่เห็นเลยครับ ว่าใครจะเป็น Neo-Conservative ได้ หรืออย่างนักการเมืองใน “พรรคก้าวไกล” เขาก็ไปในสาย liberal (เสรีนิยม) แต่ว่าเป็น liberal ที่ยังมีเรื่องของทุนอยู่ด้วย ดังนั้นวันนี้นักการเมืองไทยที่มีความเป็น Neocon (Neo-Conservative) ผมยังไม่เห็นครับ  

ซึ่งผมเข้าใจว่า ที่เวลานี้มีการพูดถึงเรื่อง "Neo-Conservative" (อนุรักษ์นิยมใหม่) กันมากขึ้น คงมาจากการนักเมืองรูปแบบเดิมๆ ไม่ได้รับความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

แต่จุดใหญ่ก่อนที่เราจะเข้าเรื่อง “อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม” (Conservative) หรือ “อุดมการณ์เสรีนิยม” (liberal) ผมว่ามีพรรคการเมืองน้อยพรรคมากนะครับ ที่ตั้งอยู่บนฐานของอุดมการณ์จริงๆ ที่สามารถแบ่งได้ว่า นี่คือ “อนุรักษ์นิยม” นี่คือ “เสรีนิยม” มันคงต้องย้อนไปที่การสำรวจ “พรรคการเมือง” ในประเทศไทย ว่ามีอุดมการณ์ถึงขนาดนั้นจริงๆ แล้วหรือยัง  

related